ปตท. เดินหน้าธุรกิจใหม่ หวังเป็นส่วนหนึ่งช่วยฟื้นเศรษฐกิจประเทศ
ปตท. ย้ำดำเนินธุรกิจรับเทรนด์เศรษฐกิจดิจิทัลมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ดึง "พันธมิตร-เทคโนโลยี" สร้างการแข่งขันเวทีโลกกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ หนุนธุรกิจใหม่เติบโตอย่างยั่งยืน ตั้งเป้า EBITDA ธุรกิจใหม่ 30% ในอีก 10 ปี ข้างหน้า
นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา "ส่องหุ้นไทย 2022 : ขับเคลื่อนธุรกิจรับอนาคต” ในหัวข้อ “พลิกเกมสู่ Tech Company รับโลกยุคใหม่” จัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ปตท.กำลังขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ใหม่ “powering life with future energy and beyond” ในธุรกิจใหม่ๆ และเมื่อพูดถึงธุรกิจใหม่ จะเป็นการขยายการเติบโตให้กับธุรกิจเดิมด้วย
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจจะไม่ชอบให้มีการปรับเปลี่ยนไปสู่ธุรกิจใหม่ และมองว่าจะเป็นความเสี่ยง และอาจเป็นไปไม่ได้ ในขณะที่กลุ่มคนที่สนับสนุน มองว่า กลุ่ม ปตท. จะต้องหาน่านน้ำ หรือน่านฟ้าใหม่ รวมถึงคนอีกกลุ่มมองว่าทำในสิ่งไม่ชำนาญก็อาจจะสู่บริษัทที่ทำมาก่อนไม่ได้
ทั้งนี้ ความเสี่ยง และความเป็นไปได้มีทั้งหมด จะเห็นได้จากราคาน้ำมันที่มีราคาสูงในปัจจุบันระดับ 110-120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากเทียบกับช่วงเกิดโควิด-19 ราคาน้ำมันตลาดโลกเหลือระดับ 20 กว่าดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนอัตราดอกเบี้ยก็เช่นเดียวกันที่มีทั้งสูง และต่ำตามราคาอัตราตลาด รวมถึง GDP เป็นต้น ดังนั้น ธุรกิจเดิม หรือธุรกิจใหม่ความเสี่ยงมีหมด แต่ ปตท.จะต้องแลกกับการเติบโตองค์กร
อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มประเทศอาเซียนพบว่าขีดการแข่งขันก็ลดลง โดยรวมอาเซียนอยู่ในอุตสาหกรรม 2.0-3.0 ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วอันดับต้นๆ จะเป็นประเทศเล็กๆ ที่เป็นเทค หรือยูนิค อย่างประเทศเดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ หรือสิงคโปร์ เป็นต้น ที่มีความสามารถในด้านการค้า ดังนั้น จะเห็นได้ฮ่องกง หรือไต้หวัน ยังคงมีการล็อกดาวน์ประเทศแต่ต้องมูฟตัวเองออกมาเป็นเทค
นอกจากนี้ ประเทศไทยต้องการผันตัวเองออกจากเกษตรกรรม หรือแม้แต่การเป็นผู้ผลิตเพื่อการส่งออก ไปสู่อุตสาหกรรมชาติ ที่ได้กำหนด 12 อุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve) โดยจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่กลุ่ม ปตท. จะทำ อาทิ ธุรกิจ Life Science, ธุรกิจ Mobility & Lifestyle, ธุรกิจ High Value Business, ธุรกิจ Logistics & Infrastructure, ธุรกิจ AI, Robotics & Digitalization และธุรกิจ Ready to explore
ทั้งนี้ กลุ่มปตท.จะเดินหน้าในธุรกิจใหม่ผ่านบริษัทลูก โดยแบ่งหน้าที่กันดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างอีวีอีโคซิสเต็มตั้งเป้าหมายอีก 10 ปีข้างหน้า จะเพิ่มสัดส่วน EBITDA ธุรกิจใหม่ให้ได้ 30% จากธุรกิจทั้งหมดของ ปตท.
“ธุรกิจใหม่ที่กลุ่มปตท. ดำเนินการ ถือเป็นความหวังของประเทศ เพราะกลุ่มปตท. ถือเป็นบริษัทพลังงานชาติภายใต้การกำกับดูแลโดยรัฐบาล และเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะช่วยขับเคลื่อน GDP ให้กับประเทศ สร้างการเติบโตเศรษฐกิจให้ประเทศไทย”
นายบุรณิน กล่าวว่า สำหรับนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน และก้าวสู่เป้าหมาย Net Zero ที่ทั้งประเทศไทย และทั่วโลก ต่างประกาศเป้าหมาย และเป็นแรงกดดันภาคอุตสาหกรรมพลังงาน ดังนั้น ปตท.จะต้องหาแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และก้าวเข้าไปสู่พลังงานสะอาด ถือเป็นความท้าทาย ที่ตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050 และเน็ตซีโร่ ปี 2060 ปตท.จึงได้เปลี่ยนวิสัยทัศน์ใหม่
นอกจากนี้ จากการที่กลุ่มปตท. จะไม่ได้ดำเนินธุรกิจอยู่แค่พลังงาน แต่จะทำก้าวสู้ธุรกิจอื่นที่ไม่ได้อยู่แค่ New S-curve เพราะเกี่ยวพันไปถึงธุรกิจยา ถือเป็นปัจจัย 4 ผ่าน บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ที่ตั้งขึ้นมามุ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับยา อาหารเพื่อสุขภาพ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ปตท.ได้ตั้งบริษัท อรุณ พลัส และจับมือกับ ฟ็อกซ์คอนน์ ตั้งบริษัทร่วมทุน horizon plus เดินหน้าสร้างโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร พร้อมดันไทยสู่ศูนย์กลางอีวีอาเซียนต่อไป โดยจะตั้งโรงงานในพื้นที่อีอีซีช่วงไตรมาส 3/2565 นี้
“วันนี้เราได้โฟกัสการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน หลายธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยดาต้า เซ็นเตอร์ จะไม่ได้ต้องการพลังงานทดแทน ไม่ได้แค่ 20-30% แต่พูดถึง RE100 ทั้งหมด อนาคตพลังงานที่มาจากฟอสซิลจะต้องหมดไป การผลิตไฟได้ดีมีประสิทธิภาพจะต้องเก็บพลังงานด้วย และอีกสิ่งที่จะตามมาในอนาคตคือไฮโดรเจน ซึ่งประเทศยุโรปพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ได้เริ่มมาจากการนำแอมโมเนียมาแปลงเป็นไฮโดรเจนมากขึ้น สนับสนุนกระแสเน็ตซีโร่”
นอกจากนี้ การดำเนินธุรกิจใหม่สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ เงินลงทุน ซึ่งกลุ่มปตท.มีความเข้มแข็งทางการเงิน พร้อมกับความแข็งแกร่งด้านความร่วมมือกับพันธมิตรต่างประเทศ รวมถึงกลุ่มธุรกิจยา ปัจจุบันได้มีการเข้าซื้อหุ้นบริษัทยาต่างประเทศไปบ้างแล้ว โดย ปตท. ได้ศึกษา และมองว่าเทรนด์ธุรกิจไหนจะมาแรง และใช้วิธีการร่วมกับพันธมิตรที่มีความเข้มแข็งทั้งด้านความรู้ ความสามารถ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ได้อย่างเติบโต
สำหรับกุญแจแห่งความสำเร็จ ปตท. มองเป็น 5 ส่วน คือ
1. เทรนด์การเติบโตของธุรกิจ
2. เทคโนโลยีที่ทันสมัย
3. การเปลี่ยนแปลงบริษัท
4. กฎหมาย และกฎระเบียบ และ
5. การบริหารจัดการงบประมาณ
สำหรับการขับเคลื่อนสู่พลังงานแห่งอนาคต ปตท.มองว่าธุรกิจใหม่เมื่อสร้างเนื้อสร้างตัวได้ และเติบโตก็จะกลับมาหล่อเลี้ยงองค์กร จากการสร้างอีโคซิสเต็ม ทั้งการทรานฟอร์มธุรกิจเดิมไปสู่ต่างประเทศ ดึงเด็กรุ่นใหม่ ผนวกกับความชำนาญของคนในอุตสาหกรรม และดึงคนเก่ากลับมา ยกตัวอย่างธุรกิจสื่อที่เป็นคอนเทนต์เดียวกันแต่หลายช่องทาง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์