กระเบื้องตราเพชรเร่งกำลังผลิตหลังคารับดีมานด์บ้านพุ่ง
กระเบื้องตราเพชรเร่งเพิ่มกำลังผลิตหลังคาคอนกรีต1 แสนตันต่อปีรับดีมานด์บ้านพุ่ง คาดครึ่งปีหลังวัสดุก่อสร้างขยายตัวสวนกระแสต้นทุนพุ่งหลังภาพรวมเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและผู้บริโภคดีขึ้น
นายสาธิต สุดบรรทัด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ผลิตภัณฑ์ตราเพชร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คณะกรรมการบริษัทฯ เห็นชอบอนุมัติแผนการลงทุน477 ล้านบาทเพิ่มสายการผลิตกระเบื้องหลังคาคอนกรีตเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต 100,000 ตันต่อปีรองรับความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวราบ ที่มีแผนพัฒนาโครงการใหม่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในไตรมาส 3 และแล้วเสร็จสามารถเดินเครื่องจักรเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงต้นปี 2567
การลงทุนดังกล่าว จะส่งเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจในกลุ่มผลิตภัณฑ์กระเบื้องหลังคา ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าหลักให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้นพร้อมรองรับกับการเติบโตในอนาคต จากปัจจุบันใช้กำลังการผลิตของเครื่องจักรผลิตกระเบื้องหลังคา 95% ของกำลังการผลิตรวม
“การขยายกำลังการผลิตครั้งนี้จะใช้แหล่งเงินทุนจากกระแสเงินสดในการดำเนินงานและกู้ยืมจากสถาบันการเงินบางส่วน เนื่องจากบริษัทมีสถานะทางการเงินที่เข้มแข็ง มีสภาพคล่องที่ดีและมีอัตราหนี้สินต่อทุนต่ำเพียง 0.49 เท่า ทำให้เรามีความสามารถลงทุนเพิ่มเติม โดยไม่ส่งผลกระทบการจ่ายเงินปันผล” นายสาธิต กล่าว
นางสาวพิชญานันท์ ล้อวรลักษณ์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการขายและการตลาด กล่าวว่า ทิศทางตลาดวัสดุก่อสร้างในครึ่งปีหลังคาดว่ายังขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คึกคักขึ้นหลังภาครัฐเตรียมประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น และการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น แม้ปัจจุบันยังมีความเสี่ยงจากต้นทุนพลังงานเพิ่มขึ้นที่ยังเป็นปัจจัยที่เป็นแรง"กดดัน" ต่อเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน
" เราเชื่อมั่นจะสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงดังกล่าวได้ จากการมุ่งรักษาอัตราการเดินเครื่องจักรเฉลี่ย 80-90% พร้อมตอกย้ำจุดเด่นด้านความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบสนองสนองความต้องการลูกค้า ผ่านช่องทางจำหน่ายห้างค้าปลีกวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ ซึ่งพบว่า คู่ค้าแต่ละรายต่างเร่งลงทุนเปิดสาขาใหม่หลายแห่งในช่วงครึ่งปีหลัง และช่องทางตลาดต่างประเทศที่มีแนวโน้มฟื้นตัว หลังสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเพื่อนบ้านคลี่คลายไปในทางที่ดี และบริษัท เริ่มกลับเข้าไปทำกิจกรรมการตลาดอีกครั้งเพื่อกระตุ้นยอดขายให้เพิ่มขึ้น "
นายกำชับ วัฒนธรรม ผู้จัดการฝ่ายขาย อาวุโส กล่าวว่า ส่วนกลุ่มลูกค้าผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นอีกช่องทางที่มีทิศทางเติบโตที่ดีมาก โดยผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าหลักของบริษัทหลายราย วางแผนเร่งพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทำให้มีความต้องการใช้สินค้าและบริการมากขึ้น เช่นเดียวกับช่องทางจำหน่ายร้านค้าปลีกวัสดุก่อสร้างรายย่อยที่มีคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น หลังจากประเมินแล้วว่าราคาน้ำมันนังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับลดลงในเร็ว จึงเพิ่มปริมาณสต็อกสินค้าเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ช่องทางดังกล่าวมีอัตราการขยายตัวที่ดี