จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ ปั้น “ไทดอลมิวสิค” ต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจเพลง เจาะสาวกไทบ้าน
ธุรกิจเพลงเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีมูลค่ามหาศาล ทว่าปัจจุบันค่ายเพลงที่ยังคงสร้างสรรค์ผลงานสู่ตลาดเหลือนับบริษัทได้ ขณะที่ศิลปินอิสระ การเปิดว้างทางดนตรี ทำเพลงของคนมากความสามารถมีเพิ่มขึ้น
“จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” ยังคงเป็นค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่ปั้นศิลปิน ทำผลงานเพลงออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งแนวป๊อป ร็อค ลูกทุ่ง ฯ ที่มีฐานคนฟังเหนียวแน่น ทว่า ปัจจุบันตลาดเพลงมาแรง กลุ่มวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ “อิสาน” หรือสมญานาม “ไทบ้าน” มีอิทธิพลต่อคนฟังไม่น้อย แกรมมี่ฯ จึงไม่พลาดคว้าโอกาสต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจ
นรมน ชูชีพชัย ผู้อำนวยการอาวุโส-หน่วยงานมิวสิค มาร์เก็ตติ้ง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เล่ากระแสเพลงลูกทุ่งแนว “ไทบ้าน” ถือเป็นเทรนด์เพลงลูกทุ่งอิสานเกิดใหม่ ที่เกิดจากนักแสดงคนธรรมดา บ้านๆ ไร้สังกัดหรืออิสระ สร้างสรรค์ผลงานออกมาจนฮอตฮิตติดลมบน และช่วยเปิดตลาดให้กับผู้ฟังในช่วงปี 2559
ขณะที่ฐานผู้ฟังเพลงลูกทุ่ง ปกติมีขนาดใหญ่มากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเพลงจากทางภาคอิสานหรือภาคอื่นๆ และมีผู้ใหญ่ชื่นชอบ แต่แนวโน้มเพลงลูกทุ่งเติบโตมากขึ้น เมื่อมีเพลงแนว “ไทบ้าน” มาเสริมทัพ และคนฟังโดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นจากภาคอิสานขยายตัวยิ่งขึ้น
แนวโน้มดังกล่าว ทำให้แกรมมี่ฯ ไม่พลาดคว้า “โอกาส” ทางการตลาด เดินหน้าต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจเพลงแนวอินดี้อิสานไทบ้าน ด้วยการปั้นสังกัดหรือค่ายเพลงน้องใหม่ “ไทดอลมิวสิค” มาราว 1 ปี พร้อมเปิดตัวสู่สนามธุรกิจเพลงอย่างเป็นทางการในปีนี้
ศิลปินเบอร์แรกที่ที่จะกรุยเพลงแนวไทบ้าน ได้แก่ ลำเพลิน วงศกร เจ้าของเพลงฮิต “ห่อหมกฮวกไปฝากป้า” ปัจจุบัน(ณ 29 มิ.ย.65)โกยยอดการรับชมทะลุ 216 ล้านวิว(View) เสริมด้วย “เบลล์ นิภาดา” ผู้ร้องเพลง “ให้เคอรี่มาส่งได้บ่” ยอดการรับชมกว่า 223 ล้านวิว ยิ่งกว่านั้นทั้งคู่มี “ฐานแฟนคลับ” นับล้านบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น เบลล์ ผู้ติดตามบน TikTok กว่า 4.7 ล้านราย ทั้งคู่มีผู้ติดตามบน Youtube หลัก “ล้าน” เป็นต้น
การซุ่มปั้นค่ายเพลง “ไทดอลมิวสิค” ไม่ได้มีศิลปินแค่ 2 ราย แต่มีนับสิบชีวิต ถูกแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มศิลปิน 100 ล้านวิว ราว 10 คน เช่น ลำเพลิน, เบลล์, ออยเลอร์ และเบนซ์ เมืองเลย อยู่ภายใต้การดูแลของ โจ เหมือนเพชร อำมะระ ผู้สร้างสรรค์เพลง “ทิ้งไว้กลางทาง” วงโปเตโต้ กลุ่ม Boyband “ผู้บ่าวซูเปอร์ซ่า” กลุ่ม Girl Group “4 สาวซูเปอร์แซ่บ” และกลุ่ม Thaidol New Gen ซึ่งมีอ.เหน่ง จิระวัฒน์ ปานพุ่ม อ.จินนี่ ภูไท และอ.แดส กฤษฎากร ทำหน้าที่่ดูแลแต่ละกลุ่ม
เดือนกรกฎาคม บริษัทจะเปิดสถาบันจีเอ็มเอ็ม อคาเดมี เพื่อพัฒนาศิลปินภายใต้หลักสูตร “ไทดอล” สอนร้องเต้นแสดงเพิ่มทักษะ ศักยภาพมากขึ้นยกระดับสู่การเป็น “ซุป’ตาร์” ของเมืองไทยเทียบรุ่นพี่ระดับตำนานทุกแนวเพลงป็อป ร็อก ลูกทุ่ง ซึ่งตามแผนสถาบันฯต้องการเดบิวต์ศิลปินหน้าใหม่ 50-100 คนต่อปี โดย 40-50 คนอยากให้น้ำหนักเป็น “ไทดอล”
“ไทดอล มาจากคำว่า ไทบ้านบวกกับไอดอล ศิลปินอิสานป๊อปรุ่นใหม่ที่ร้องเต้น แสดง ซึ่งบริษัทเชื่อในศักยภาพคนเหล่านี้ก้าวเป็นไอดอลได้ไม่ต่างจากศิลปินเพลงกระแสหลักหรือ Mainstream”
ส่วนแนวทางการหารายได้ เมื่อศิลปินดังงานพรีเซ็นเตอร์ งานแสดงคอนเสิร์ตตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงคอนเสิร์ต โชว์บิส ถือเป็นช่องทางสำคัญ ขณะเดียวกันผลงานเพลงยังเพิ่มโอกาสทำเงินผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น
ขณะที่ผ่านมา “ลำเพลิน” และ “เบลล์” นอกจากมีงานโชว์ตัวแน่นขนัดหลัก “ร้อยงาน” ต่อปี ยังเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับนมเปรี้ยวพร้อมดื่มแบรนด์ดัง ธุรกิจบริการสินเชื่อ ฯ ซึ่งถือเป็นอาวุธในการผลักดันแบรนด์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายวงกว้าง(Mass) และเป็นคนท้องถิ่นอิสาน(Local)ได้อย่างดี เพราะแฟนคลับพร้อมเปย์
การปั้น “ไทดอลมิวสิค” จะเป็นหนึ่งกลยุทธ์ผลักดันธุรกิจเพลงของแกรมมี่ฯ ให้เติบโต ซึ่งปัจจุบันเป็นกลุ่มที่ทำรายได้หลักให้องค์กร
“การเติบโตทั้งแฟนคลับที่ติดตามศิลปินไทดอลมิวสิคคาดการณ์ 100% เนื่องจากฐานยังเล็ก อย่างไรก็ตาม เพลงแนวไทบ้านมาแรง แต่การทำค่ายเพลงช่วงแรกเจอความยากลำบากด้านตัวตนกับตัวเลข ตัวตนศิลปินบางรายออกมาชัด แฟนคลับจำได้ แต่ตัวเลข เพลงมียอดวิวไม่มาก บางคนยอดวิวมหาศาล แต่เดินผ่านคนจำหน้าไม่ได้ จึงต้องหาแนวทางพัฒนาให้ตัวตนและตัวเลขเติบโตพร้อมกัน”