KBANK -JMT ตั้งเป้า 3 ปี บริษัทร่วมทุน JK พอร์ตบริหารหนี้แตะ ‘แสนล้าน’
ธนาคารกสิกรไทย” ตั้งเป้าขายหนี้เสียปีนี้ 5 หมื่นล้านบาท ให้ "เจเค” ด้าน “เจเอ็มที” ตั้งเป้า 3 ปี บริษัทร่วมทุนพอร์ตแตะ “แสนล้าน” ขึ้นแท่นอันดับหนึ่งในธุรกิจเอเอ็มซี
นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือหนี้เสียที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง บวกกับธนาคารไม่มีความเชี่ยวชาญในการแก้หนี้ของบุคคล และสินเชื่อบ้าน ทำให้โอกาสได้เงินคืนมีต่ำ เช่น หากปล่อยกู้ 100 บาท มีโอกาสได้คืนเพียง 40-57% เท่านั้น อีกทั้งต้องใช้เวลานานในการติดตามหนี้ ราว 7-20 ปี
ดังนั้นจึงมองว่าการร่วมลงทุนกับ กลุ่ม บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ในการตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด (JK ) จึงเป็นทางเลือกในการจัดการหนี้เสียของธนาคารได้ ทำให้ธนาคาร มีสภาพคล่องเข้ามาทันที เพื่อนำไปต่อยอดการปล่อยสินเชื่อได้ อีกทั้งยังมีโอกาสได้ผลตอบแทนจากเงินปันผล ในอนาคตหากธุรกิจเติบโตด้วย
ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าขายหนี้เสียให้ JK ปีนี้อยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท โดยขายไปแล้ว 3 หมื่นล้านบาท และจะทยอยขายอีก 2 หมื่นล้านบาทในปีนี้
"หากหนี้เสียเข้ามาเยอะ เราก็ต้องรีบขายให้เร็วขึ้น ซึ่งปีนี้ปีหน้าเรามองว่าหนี้เสียเข้ามาเพิ่มขึ้นแน่นอน ดังนั้นหากเข้ามาเยอะ เราก็ระบายออกให้ JK เยอะ แต่กสิกรคนเดียวคงไม่ได้ขายถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป้าที่ 1 แสนล้านบาท มาจากรายอื่นๆ”
นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด กล่าวว่า ภายใต้บริษัทร่วมทุน JK เบื้องต้นมีทุนจดทะเบียน 1 หมื่นล้านบาท
โดยปัจจุบัน ได้เริ่มมีการทยอยรับโอนพอร์ตหนี้เสียจากธนาคารกสิกรไทยก้อนแรกเข้ามาแล้ว 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะโอนเสร็จสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ ดังนั้นคาดว่า จะเริ่มบริหารหนี้เสียในพอร์ตของ JK ได้ในไตรมาส 3 ปีนี้ และเริ่มรับรู้รายได้ทันที ตั้งแต่ไตรมาส 4 เป็นต้นไป
สำหรับเป้าหมาย บริษัทตั้งเป้า ภายใน 3 ปี หรือ 2568 จะมีพอร์ตภายใต้บริหารถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะหนุนให้ JK ก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 ของธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระยะข้างหน้าได้
นายปิยะ พงษ์อัชฌา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เจ มาร์ท และกรรมการ บมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส กล่าวว่า การตั้งบริษัทร่วมทุนครั้งนี้ ถือเป็น long term partnership หรือการร่วมทุนระยะยาว ตามเกณฑ์ของ ธปท.ที่กำหนด โดยสามารถเปิดกิจการได้ 15 ปี ดังนั้นเชื่อว่า จะมีประโยชน์กับทั้ง 3 ฝ่าย ทั้งธนาคารกสิกรไทย JK และต่อลูกค้า
โดยบริษัทมองว่า ด้วยประสบการณ์ของ JMT ในการบริหารหนี้เสีย อีก 2-3 ปี จะเพิ่มเป็น 1 แสนล้านบาท ด้วยประสิทธิภาพ ด้วยอีโคซิสเต็มที่มีจะส่งผลไปที่ตัวกำไรของ JMT ให้แบบ J Curve ได้
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์