ปตท. ลุยลงทุนธุรกิจใหม่เสริมแกร่งองค์กร-ความมั่นคงประเทศ

ปตท. ลุยลงทุนธุรกิจใหม่เสริมแกร่งองค์กร-ความมั่นคงประเทศ

ปตท. ย้ำดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานประเทศ ดึง"พาร์ทเนอร์-เทคโนโลยี" สร้างความมั่นคงธุรกิจอนาคต พร้อมผนึก “ฟ็อกซ์คอนน์” ต่อยอดการลงทุนอิเล็กทรอนิกส์ แนะรัฐพิจารณาสิทธิประโยชน์ดึงลงทุนในไทย

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัดอ (มหาชน) หรือ PTT กล่าวบรรยายในงาน FTI Expo 2022 จัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับพันธมิตรองค์กรชั้นนำว่า กลุ่มปตท.ได้แสดงบูธสินค้า โดยจะมุ่งไปสู่เรื่องของพลังงานแห่งอนาคต Future Energy ที่เป็นการสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการสนับสนุนเป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ และสู่ Net Zero ประเทศ รวมถึงการสร้างระบบนิเวศน์และสังคมที่ดีขึ้น

นายอรรถพล กล่าวว่า ปตท.จะขับเคลื่อนการเติบโตตามวิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต” ซึ่งต้องเปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่การใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งจะต้องพัฒนาธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนด้วยกำลังการผลิตจากพลังงานทดแทนที่ 12,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 จากปัจจุบัน มีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ 

ปตท. ลุยลงทุนธุรกิจใหม่เสริมแกร่งองค์กร-ความมั่นคงประเทศ ทั้งนี้ กลุ่มปตท.จะเป็นอีกกลุ่มบริษัทที่สนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นอุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve) โดยจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่กลุ่ม ปตท. จะทำ อาทิ ธุรกิจ Life Science ธุรกิจ Mobility & Lifestyle  ธุรกิจ High Value Business ธุรกิจ Logistics & Infrastructure ธุรกิจ AI, Robotics & Digitalization และธุรกิจ Ready to explore ทั้งนี้ กลุ่มปตท.จะเดินหน้าในธุรกิจใหม่ผ่านบริษัทลูก โดยแบ่งหน้าที่กันดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างอีโคซิสเต็ม

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับธุรกิจใหม่ของกลุ่มปตท. จะเน้นในเรื่องของการลงทุนด้านพลังงานทดแทน การลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ธุรกิจแบตเตอรี่ จะเป็นการสร้างโอกาสการเติบโตในธุรกิจสีเขียว เช่น ปตท.มีการลงทุนเรื่องของแบตเตอรี่ ทั้งที่ผลิตเองอยู่แล้วกับการจับมือกับพันธมิตร ก็ได้หารือกับผู้ประกอบการรถบัส หรือรถจักรยานยนต์อีวี เพื่อสนับสนุนให้เปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปไปสู่รถอีวี ซึ่งขณะนี้ได้มีการหารือกับผู้ประกอบการในประเทศไทยบ้างแล้ว

สำหรับสถานีชาร์จไฟฟ้า กลุ่มปตท.มีทั้งทาง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) ดำเนินการและทาง บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ (OR) จะเริ่มเก็บค่าบริการชาร์จในเดือน ส.ค. 2565 ภายหลังจากได้เปิดให้ประชาชนทดลองชาร์จฟรีมาครบกำหนดแล้ว และแม้ว่าจะเก็บค่าชาร์จไฟฟ้า แต่ก็ยังเป็นอัตราที่ถูกกว่าราคาน้ำมันมาก ขณะเดียวกัน OR ก็จะเดินหน้าขยายปั๊มชาร์จไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ จากปัจจุบันมีอยู่ที่ 190 แห่ง และสิ้นปี 2565 จะเพิ่มเป็น 450 แห่ง ส่วนการเช่ารถอีวีของผ่านแอปพลิเคชั่น EVme ภายใต้อรุณ พลัส ปัจจุบันมีอยู่ 200 คัน จะเพิ่มอีก 500 คันในปีนี้ ถือเป็นการสร้างอีโคซิสเต็มรถอีวีครบวงจร ปัจจุบันมียอดจองรถกว่า 90%

นอกจากนี้ ธุรกิจที่ดำเนินการในปัจจุบัน อย่างโรงกลั่นน้ำมัน ก็จะเป็นการลงทุนเพิ่มในเรื่องของการปรับปรุงเพื่อประสิทธิภาพในการผลิต ให้ได้ตามมาตรฐานยูโร 5 ถือเป็นการยกระดับเรื่องของการลดปล่อยมลพิษเพื่อดูแลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้านธุรกิจปิโตรเคมี ก็จะต้องยกระดับการใช้วัตถุดิบ (feedstock) จากผลิตภัณฑ์การเกษตร เพื่อให้เกิดการย่อยสลายได้ เป็นต้น 

 

นายอรรถพล กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าในการร่วมมือระหว่าง อรุณ พลัส กับ ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ในการตั้ง บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด (HORIZON PLUS) เพื่อเดินหน้าธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร (EV Value Chain) โดยจะขยายตลาดและสร้างฐานการผลิต EV ในไทยนั้น ล่าสุด มีความชัดเจนแล้วว่าจะจัดตั้งโรงงานในประเทศไทย ในแถบภาคตะวันออกในช่วงไตรมาส 3/2565 และจะเริ่มการผลิตรถอีวีในช่วงต้นปี 2567กำลังผลิตเฟสแรก 50,000 คัน ภายใต้งบลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนเฟส 2 จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 150,000 คันต่อปีในปี 2573 ส่วนลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการแพลตฟอร์มผลิตรถอีวีนั้น เบื้องต้นมีผู้สนใจแล้ว 2-3 ราย

“เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางคณะผู้บริหารฟ็อกซ์คอนน์ ได้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อร่วมหารือแผนการดำเนินงานในรายละเอียดหารือถึงโอกาสในการต่อยอดความร่วมมือทางธุรกิจอื่น ๆ ที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในอุตสาหกรรม Smart Electronics และ Semiconductor รวมถึงการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำในการผลิต EV”

ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท. พร้อมสนับสนุนความร่วมมือในการต่อยอดการลงทุนด้านอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ในวงกว้าง แต่การจะดึงดูดให้ ฟ็อกซ์คอนน์ เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มเติมอีกนั้น ยังต้องอาศัยการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ เช่น เรื่องของการให้สิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุนต่างๆ เป็นต้น 

ทั้งนี้ ตามแผนลงทุน 5 ปี (2565-2569) ได้ตั้งงบประมาณอยู่ที่ราว 146,000 ล้านบาท และกลุ่ม ปตท. จะใช้งบประมาณอยู่ที่ราว 980,000 ล้านบาท เพื่อสร้างการเติบโตจากธุรกิจพลังงาน แห่งอนาคต (Future Energy and Beyond) โดยตั้งเป้าใน 10 ปีข้างหน้า ให้มีสัดส่วนการลงทุน 30% และในปี 2573 

นายอรรถพล กล่าวว่า จากการที่ปตท.เป็นบริษัทพลังงานข้ามชาติ บทบาทหน้าที่ 40 ปี คือต้องออกไปสร้างความเข้มแข็งดึงความน่าเชื่อถือ ในการเข้าถึงแหล่งซัพพลายทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้แล้ว โดยเฉพาะความสามารถในการซื้อ-ขายน้ำมันทั่วโลก และเมื่อทั่วโลกต่างพบปัญหาพื้นที่บางพื้นที่ ปตท.ก็สามารถเจรจาและนำเข้าน้ำมันได้ ส่วนราคาต้องเป็นไปตามตลาดโลก ซึ่ง 40 ปีที่แล้วตอนตั้งปตท. ประเทศไทยใช้น้ำมันน้อยมาก แต่ขาดแคลน ต่างจากตอนนี้เรารักษาความมั่นคงได้

“สิ่งสำคัญของการนำองค์กรสู่คามสำเร็จคือการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ และการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมทั้งศึกษาเทรนด์การเติบโตธุรกิจโลก ซึ่งปตท.ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับองค์กรและประเทศชาติ