25 ปีวิกฤติต้มยำกุ้ง วิพากษ์เศรษฐกิจไทย เข้มแข็งขึ้น หรืออ่อนแอลง
ผ่านมา 25 ปี เศรษฐกิจไทยภาพรวมมีเสถียรภาพ สถาบันการเงินเข้มแข็ง เสถียรภาพด้านต่างประเทศก็อยู่ในเกณฑ์ดี เรียกได้ว่าเศรษฐกิจไทยวันนี้ไม่อยู่ในภาวะวิกฤติร้ายแรง มาวันนี้ไม่ได้เป็นคนป่วยหนัก แต่ปัญหาคือเราไม่แข็งแรง ถึงเวลาที่ไทยต้องทำอย่างไรให้แข็งแรงแล้ว
2 ก.ค. 2565 เป็นวันครบรอบ 25 ปีวิกฤติต้มยำกุ้ง หรือวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540
วิกฤติที่ถือว่าใหญ่และรุนแรงสุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย การประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่ 2 ก.ค. 2540 ส่งผลให้ธุรกิจและสถาบันการเงินหลายแห่งล้มละลาย ผู้คนตกงาน หลายชีวิตเปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีวันกลับ
ในวาระครบ 25 ปี อยากชวนทุกท่านมาดูว่าเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนไปอย่างไร อะไรดีขึ้น อะไรแย่ลง เราจะซ้ำรอยวิกฤติเดิมหรือไม่
ในภาพรวม เทียบกับปี 2540 เศรษฐกิจไทยขยายตัวกว่าเดิมมาก GDP ไทยในปี 2540 จากที่มีขนาดเพียง 4.7 ล้านล้านบาท ในปี 2564 GDP ไทยเติบโตมาอยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทยจากคนละ 78,000 บาทในปี 2540 เพิ่มขึ้นเป็น 232,176 บาทในปัจจุบัน
ในแง่เสถียรภาพหรือความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ ในปี 2540 เศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหาจากความไร้เสถียรภาพ 2 เรื่องหลักคือ เสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน และเสถียรภาพด้านต่างประเทศ การเกิดปัญหาในเสถียรภาพของสองเรื่องนี้ส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก
ในประเด็นเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน เนื่องด้วยสถาบันการเงินคือหัวใจของระบบเศรษฐกิจ ทำหน้าที่สนับสนุนเงินทุน ให้สินเชื่อแก่ธุรกิจต่างๆ เมื่อสถาบันการเงินหรือธนาคารมีหนี้เสียมาก จึงดำเนินนโยบายลดการปล่อยกู้ ส่งผลให้ธุรกิจจำนวนมากขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อ บางธุรกิจจากที่ไม่ประสบปัญหา พอธนาคารไม่ปล่อยกู้ก็กลายเป็นปัญหาขึ้นมา ยังไม่นับผลกระทบต่อผู้ฝากเงินที่มีจำนวนมาก
ความอ่อนแอของระบบสถาบันการเงินในประเทศไทยช่วงปี 2540 ดูได้จากปริมาณสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือหนี้เสีย (NPL) ของระบบสถาบันการเงิน สัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมของสถาบันการเงิน (NPL ratio) ในปี 2540 สูงถึง 45% หรือกล่าวได้ว่าหนี้เสียในขณะนั้นมีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของสินเชื่อรวมในระบบเศรษฐกิจ จึงไม่น่าแปลกใจที่สถาบันการเงินหลายแห่งขาดสภาพคล่อง ส่งผลให้ธุรกิจจำนวนมากได้รับผลกระทบ
มาวันนี้ยอดหนี้เสียของสถาบันการเงินลดลงมาก ณ ไตรมาส 1 ปี 2565 สัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ระดับ 2.93% เท่านั้น เรียกว่าธนาคารหรือสถาบันการเงิน เข้มแข็งกว่าเดิมเยอะ
ในมิติเสถียรภาพระหว่างประเทศ ก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง ไทยใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบตะกร้าเงิน คือผูกค่าเงินบาทกับเงินตราต่างประเทศหลายสกุล น้ำหนักส่วนใหญ่เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2539 ที่เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ทำให้เงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นด้วย ประกอบกับภาคอุตสาหกรรมไทยทยอยสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันในหลายสินค้า ซึ่งเป็นผลจากจีนเริ่มเปิดประเทศ ภาวะดังกล่าวส่งผลให้หลายปีก่อนเกิดวิกฤต ไทยส่งออกน้อย นำเข้ามาก ดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบต่อเนื่อง นอกจากนี้ขณะนั้นไทยยังมีหนี้ต่างประเทศมาก หนี้ส่วนใหญ่เกิดจากภาคธุรกิจไทยกู้เงินต่างประเทศมาลงทุน ขยายกิจการช่วงเศรษฐกิจดี หนี้ส่วนมากไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เมื่อต่างชาติเรียกคืนเงินกู้และลดการลงทุนในไทย เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า ตลาดเงินจึงมีการเก็งกำไรในค่าเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศเพื่อปกป้องอัตราแลกเปลี่ยนจนสูญทุนสำรองจำนวนมาก และในที่สุดต้องลอยตัวค่าเงิน ส่งผลให้ธุรกิจและธนาคารที่มีหนี้ต่างประเทศมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นทันที
ตัวชี้วัดความไร้เสถียรภาพในมิติระหว่างประเทศเมื่อปี 2540 ดูได้จากปริมาณหนี้ต่างประเทศระยะสั้นเทียบกับทุนสำรองที่ไทยมี
หนี้ต่างประเทศระยะสั้นหมายถึง หนี้ต่างประเทศที่มีกำหนดใช้คืนในระยะ 1 ปีข้างหน้า ดังนั้นประเทศควรมีสัดส่วนทุนสำรองต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นมากกว่า 1 เท่า หมายความว่า แม้ประเทศจะไม่มีรายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศเลย เรายังมีเงินตราต่างประเทศเพียงพอจ่ายคืนหนี้เหล่านี้ใน 1 ปีข้างหน้าโดยไม่ต้องผิดนัดชำระ
ปี 2540 ทุนสำรองต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นของไทยอยู่ที่ 0.7 เท่า เรียกว่ามีเงินไม่พอจ่ายหนี้ระยะสั้นด้วยซ้ำ ความน่าเชื่อถือของเศรษฐกิจไทยในสายตาต่างชาติจึงน่ากังวล ทั้งนี้ปัจจุบันสัดส่วนทุนสำรองต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นของไทย ณ ไตรมาส 4 ปี 2564 อยู่ที่ 3.4 เท่า เรียกว่าเทียบกับตอนนั้นแล้ว ไทยแข็งแกร่งขึ้นมาก
ขณะที่ในภาพรวม ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยก็เพิ่มขึ้นสูง จากปี 2540 ซึ่งอยู่ที่ 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจุบันไทยมีทุนสำรองสูงถึง 2.15 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ดังนั้นเมื่อเทียบตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในมิติเหล่านี้ระหว่างปี 2540 กับปัจจุบัน สรุปว่าเศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็ง สถาบันการเงินในฐานะหัวใจของระบบเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ ธนาคารมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่ในมิติระหว่างประเทศ เศรษฐกิจไทยก็มีเสถียรภาพ เรามีฐานะทุนสำรองแข็งแกร่ง มีความพร้อมในการรับมือความผันผวนของเศรษฐกิจภายนอก
อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของผู้เขียน 25 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยในวันนี้มีข้อน่ากังวล เสียโอกาส รวมถึงเผชิญความท้าทายที่ต่างไปจากวิกฤตปี 2540 ในอย่างน้อย 5 ข้อ
1.เศรษฐกิจไทยโตต่ำต่อเนื่อง หากเทียบกับก่อนเกิดวิกฤตปี 2540 เศรษฐกิจไทยในช่วงนั้นขยายตัว 9-10% ต่อปี ขณะที่ในช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้งจนถึงวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาปี 2008 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยปีละ 4-5 % และหลังปี 2008 เป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยปีละ 2-3% เท่านั้น การขยายตัวช้าของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้การพาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางเป็นไปได้ยาก และเมื่อคำนึงถึงสถานการณ์การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แบบแก่ก่อนรวย การขยายตัวช้าของเศรษฐกิจยิ่งสร้างความลำบากต่อเศรษฐกิจไทยและคนไทยในอนาคตมากขึ้น
2.เศรษฐกิจไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน นอกจากเศรษฐกิจโตต่ำกว่าอดีต ยังโตต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น หากเทียบรายได้ต่อหัว ปัจจุบันรายได้ต่อหัวของไทยโตขึ้นประมาณ 3 เท่าเทียบกับปี 2540 (จาก 2,468 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2540 เป็น 7,189 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2563) ขณะที่รายได้ต่อหัวของเวียดนามโตขึ้น 8 เท่า (จาก 348 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2540 เป็น 2,785 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2563) จีนโตขึ้น 13 เท่า (จาก 781 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2540 เป็น 10,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2563) การที่รายได้ต่อหัวของไทยโตช้ากว่าประเทศอื่น สะท้อนคุณภาพชีวิตคนไทยที่เพิ่มขึ้นช้าเมื่อเทียบกับคนอื่นเช่นกัน
3.การลงทุนทั้งการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง และการลงทุนจากต่างประเทศที่ถดถอยลงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม ในสายตานักลงทุนต่างชาติ ไทยมีเสน่ห์น้อยลงในการเป็นจุดหมายการลงทุน การลงทุนสำคัญต่อการจ้างงาน การยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตคนไทย โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศที่ช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันให้สินค้าไทย ผ่านการทลายข้อจำกัดทั้งเทคโนโลยีและเงินทุน การลงทุนจากต่างประเทศที่ลดลง ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันลงเรื่อยๆ
4.ภาคอุตสาหกรรมของไทยไม่พร้อมเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ในโลกการค้าปัจจุบันที่ผู้ชนะขึ้นกับใครมีเทคโนโลยีดีกว่า ภาคอุตสาหกรรมของไทยภายใต้การส่งเสริมการลงทุนที่ผ่านมาของรัฐ ทั้งที่มีการใช้ทรัพยากรและมาตรการสนับสนุนจำนวนมาก พบว่าไม่พร้อมแข่งขันในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ จากรายงานการถ่ายทอดองค์ความรู้การประเมินอุตสาหกรรมตามแนวทางอุตสาหกรรม 4.0 พบว่า ความพร้อมของอุตสาหกรรมยานยนต์ ในการเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 อยู่ที่ระดับ 2.08 จาก 4.0 เรียกว่า คาบเส้นหรือเกือบสอบตก ขณะที่หากดูเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและย่อม ผลประเมินความพร้อมอยู่ที่ระดับ 1.89 เท่านั้น หรือเรียกว่าสอบตกไปเลย ทั้งที่อุตสาหกรรมรถยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแถวหน้าของไทย แต่ก็ไม่พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจสมัยใหม่
5.ไทยมีกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ มากเกินไป ก่อต้นทุนให้ภาคธุรกิจและระบบเศรษฐกิจสูง โดย 20 กว่าปีที่ผ่านมา ไทยเสียโอกาสในการปรับปรุง แก้ไข ยกเลิกระเบียบและกฎหมายที่เป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจ หากเทียบกับเกาหลีใต้ซึ่งประสบวิกฤตเศรษฐกิจพร้อมไทย ปัจจุบันเกาหลีใต้ฟื้นฟูเศรษฐกิจประสบความสำเร็จ กลายเป็นประเทศรายได้สูง ปัจจัยแห่งความสำเร็จประการหนึ่ง คือรัฐบาลเกาหลีใต้ปรับลดกฎหมายที่ล้าสมัยเป็นจำนวนมาก โดยเกาหลีใต้ทบทวนกฎหมาย กฎระเบียบไปมากกว่า 10,000 ฉบับ แล้วยกเลิกไปประมาณครึ่งหนึ่ง รวมถึงปรับปรุงให้สะดวกขึ้นอีกประมาณ 20%
กล่าวโดยสรุป ผ่านมา 25 ปี เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีเสถียรภาพ สถาบันการเงินเข้มแข็ง เสถียรภาพด้านต่างประเทศก็อยู่ในเกณฑ์ดี เป็นที่เชื่อถือของประชาคมโลก เรียกได้ว่าเศรษฐกิจไทยวันนี้ไม่อยู่ในภาวะวิกฤตร้ายแรงให้ต้องกังวล
แต่ในอีกมุมหนึ่ง หากเทียบกับปี 2540 ตอนนั้นเศรษฐกิจไทยเปรียบได้กับคนป่วยหนัก เจียนตาย ..มาวันนี้ ผ่านมา 25 ปี เราไม่ได้เป็นคนป่วยหนัก แต่ปัญหาคือเราไม่แข็งแรง ดูอมโรค กระเสาะกระแสะ อุ้ยอ้าย วิ่งไม่ไหว แข่งกับใครก็ลำบาก ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องขบคิดจริงจัง ทำอย่างไรให้แข็งแรง กลับไปแข่งกับคนอื่นเค้าได้
ทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจไทยต้องตอบคำถามครับ