"พลังงาน" เร่ง "โรงกลั่น" สรุปแผนร่วมพยุงราคาน้ำมัน
ความพยายามพยุงราคาน้ำมันไม่ให้สูงตามราคาตลาดโลกกำลังทวีความซับซ้อน ยุ่งเหยิงและยากเย็นมากขึ้น ล่าสุดมีการแบ่งคณะทำงานเจรจาเรื่องการขอความร่วมมือโรงกลั่นเพื่อนำกำไรส่วนเกินเข้ามาช่วยอุดหนุนราคาพลังงาน เป็นหลายกลุ่ม
เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2565 มีการหารือกันในช่วงเย็น เนื่องจากคณะทำงานฯ บางส่วนต้องมีการประชุมชี้แจงงบประมาณกระทรวงพลังงานต่อคณะกรรมาธิการด้านพลังงาน ที่รัฐสภา จึงเริ่มประชุมเจรจากันตั้งแต่ช่วงเวลา 18.00 น. จนถึง 23.00 น. แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป และทำให้ต้องมีการเจรจากันต่อเนื่องตลอดทั้งสัปดาห์นี้
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการขอความร่วมมือโรงกลั่นเพื่อนำกำไรส่วนเกินเข้ามาช่วยอุดหนุนราคาพลังงาน น่าจะมีความชัดเจนภายในสัปดาห์นี้ โดยยังไม่มีการเสนอตัวเงินช่วยเหลือเข้ามา ต้องรอผลการเจรจาของคณะทำงานกับโรงกลั่นว่าจะเป็นรูปแบบใด และยังไม่ทราบว่าจำเป็นต้องออกกฎระเบียบรองรับหรือไม่ อาจไม่จำเป็นต้องเป็นการนำเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) แต่จะเป็นความสมัครใจของโรงกลั่น ภายในกรอบเวลาช่วยเหลือ 3 เดือน
อย่างไรก็ตาม ในความช่วยเหลือจากโรงกลั่นจะเป็นการบริจาค เพื่อช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางหรือไม่ ยังไม่ทราบ ขณะนี้มีหลายแนวทาง อย่าเพิ่งไปบังคับผู้ประกอบการ ให้มีเวลาคิด อะไรก็แล้วแต่ให้คิดเอา อย่างน้อยได้ส่งสัญญาณขอให้คิดให้ดีว่า เมื่อยามที่เราพ้นน้ำแล้ว แต่ประชาชนบางส่วนยังได้รับความเดือดร้อน แม้จะเป็นราคาตามกลไกตลาดเสรีก็ตาม ซึ่งราคาพลังงานยังเพิ่มขึ้นติดต่อกันมาก ส่วนตัวเชื่อว่าผู้ประกอบการทุกรายมีธรรมาภิบาลที่ดี ไม่เพียงดูแลกำไรสูงสุด แต่เข้าใจถึงปัญหาของประชาชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
“เรื่องนี้โรงกลั่นจะทำในรูปแบบใด อย่าไปกำหนดหรืออย่าบังคับวิธีการทำ รวมถึงจะเป็นบางรายหรือทั้งหมด และหากผู้ประกอบการโรงกลั่นต่างชาติในไทยจะสมัครใจให้ความช่วยเหลือราคาพลังงานในช่วงวิกฤติ ประเทศไทยน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี”
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมีข้อกังวลต่อสถานะการเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะติดลบถึง 2 แสนล้านบาทภายในสิ้นปี 2565 นั้น เป็นเรื่องการบริหารสภาพคล่องของกองทุนและรัฐบาล โดยรัฐยังยืนยันอุดหนุนราคาดีเซลในสัดส่วนครึ่งหนึ่งของราคาจริงตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ในระยะต่อไปกองทุนน้ำมันจะทยอยปรับขึ้นราคาหรือไม่ กองทุนน้ำมันจะพิจารณา โดยมีการหารือกับคณะอนุกรรมการของกระทรวงการคลัง รวมถึงการกู้เงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องของกองทุน คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในสิ้นเดือนก.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกที่ลดลง ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถนำไปลดราคาขายปลีกดีเซลในประเทศได้ทันที แต่ช่วยลดภาระการอุดหนุนของกองทุนได้ระดับหนึ่งที่ยังอุดหนุนอยู่ 50% ยังไม่ลดการอุดหนุนเหลือ 25% แต่กองทุนจะมีการปรับเพดานราคาขึ้นเป็นลิตรละ 36 บาท ในวันที่ 1 ก.ค. 2565 เลยหรือไม่ ต้องดูราคาสัปดาห์นี้ว่าผลการเจรจาผู้ประกอบการโรงกลั่นมีการตอบรับออกมาอย่างไรด้วย ถ้าโรงกลั่นไม่ตอบรับ แล้วสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันยังมีคงราคาต่อได้
สำหรับการช่วยเหลือราคาพลังงานเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น พ่อค้าหาบเร่ แผงลอย วินมอเตอร์ไซค์แล้วเป็นเวลา 3 เดือน จากการสำรองงบกลางนั้นจะได้นำบทเรียนหรือวิธีช่วยเหลือผ่านโครงการคนละครึ่ง เราชนะที่มีการกำหนดเงื่อนไขในกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ มาเป็นบทเรียนและเบื้องต้นจะร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมดูเรื่องประเภทรถยนต์ที่จะให้ความช่วยเหลือ
ชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คณะทำงานเจรจาขอความร่วมมือนำส่งกำไรส่วนเกินจากค่าการกลั่นเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน อยู่ระหว่างประสานการหารือรายละเอียดแนวทางดังกล่าวหลายประเด็น ซึ่งล่าสุดมีรูปแบบความร่วมมือให้เลือก 2-3 แนวทาง ที่จะสามารถปฏิบัติได้ แต่น่าจะมีความชัดเจนขึ้นเร็วๆ นี้
โดยเรื่องนี้เข้าใจและเห็นใจ ต้องดูแลทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหลายภาคส่วน เพราะราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นจริง จึงมีการพิจารณารายละเอียดหลายประเด็น ขณะเดียวกันโรงกลั่นที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ซึ่งมีผู้ถือหุ้นที่บริษัทก็ต้องดูแล เพราะฉะนั้นทางออกต้องยอมรับกันได้ ต้องใช้เวลาพิจารณาหารือกันสักระยะหนึ่งระหว่างภาครัฐและโรงกลั่น สุดท้ายข้อสรุปจะเป็นอย่างไร ต้องแจ้งผู้ถือหุ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับทางเลือกนั้นเป็นข้อยุติ
“จากนี้ไปอีก 6 เดือน ผลประกอบการของบริษัทจะเป็นอย่างไรไม่มีใคร ซึ่งยอมรับว่าขณะนี้เป็นภาวะยากลำบากที่รอไม่ได้ แต่ข้อกังขาที่หลายฝ่ายระบุว่าโรงกลั่นมีกำไรเยอะแยะ ก็มีคำถามว่าจริงหรือไม่ และมีกำไรทุกโรงหรือไม่ เพราะโรงกลั่นแต่ละแห่งมีลักษณะโครงสร้างทางธุรกิจและการบริหารจัดการไม่เหมือนกัน ดังนั้นการใช้กฎข้อเดียวกับทุกโรงกลั่น ก็จะมีผลกระทบไม่เท่ากัน เรื่องนี้มีรายละเอียดมาก สิ่งที่อยากได้มากที่สุดคือแนวทางปฏิบัติออกมาเป็นข้อตกลงเดียวกันและใช้ได้กับทุกโรงกลั่น ซึ่งก็คงจะลำบาก”
แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน กล่าวว่า ขณะนี้ทั้ง 6 โรงกลั่นยังอยู่ระหว่างการพูดคุยกับหน่วยงานภาครัฐ ถึงแนวทางดำเนินการเพื่อหาทางออกที่ดีร่วมกัน โดยเบื้องต้น มองว่า ภาครัฐควรจะต้องออกระเบียบ กติกา หรือ ข้อกฎหมายขึ้นมารองรับการดำเนินให้เกิดความชัดเจน และตอบข้อสงสัยของทุกฝ่ายได้ เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหา หรือปัญหาฟ้องร้องตามหลัง
ขณะเดียวกัน การเก็บส่วนต่างจากกำไรค่าการกลั่น อาจใช้กฎหมาย พ.ร.บ.กองทุนน้ำมัน เข้ามาดำเนินการได้ แต่ก็ต้องรอให้คณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาข้อฎหมายต่างๆให้ถี่ถ้วน และน่าจะต้องมีการออกกฎหมายลูกขึ้นมารองรับด้วย ซึ่งก็น่าจะใช้เวลาดำเนินการสักระยะ ดังนั้น ตามแผนเดิมที่ภาครัฐต้องการให้ทั้ง 6 โรงกลั่น เริ่มดำเนินการจัดส่งส่วนต่างค่าการกลั่นเข้าสู่กองทุนน้ำมัน 3 เดือน เรื่องตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย. 2565 อาจต้องขยับระยะเวลาดำเนินการออกไปจนกว่าการพิจารณาข้อฎหมายต่างๆ เพื่อมารองรับการดำเนินการจะแล้วเสร็จ
อรรถพล ฤกษ์พิบูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า ปตท.ได้สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะทรงตัวในระดับสูงที่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลบวกลบ หรือมีราคาเฉลี่ยทั้งปีนี้อยู่ที่ระดับ 103-104 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งนับว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ต้นทุนราคาขายปลีกพลังงานโดยรวมของประเทศไทย ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ NGV และ LPG ยังอยู่ในระดับสูง
สำหรับคาดการณ์ราคาน้ำมันปี 2566 คาดว่าราคาน้ำมันดิบจะอ่อนตัวลงต่ำกว่าระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ หากไม่มีสถานการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เช่น ปัญหาการสู้รบระหว่างประเทศมหาอำนาจอย่างรัสเซีย-ยูเครน และการคว่ำบาตรที่ไม่รุนแรงขึ้น ซึ่งปัจจัยที่ราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลงในปีหน้า