MINT เล็งขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ก.ย. 65 เพื่อทดแทนชุดเดิมที่ครบกำหนดไถ่ถอน
MINT เตรียมขายหุ้นกู้ชั่วด้อยสิทธิ ก.ย. แก่ประชาชนทั่วไป เพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมที่จะไถ่ถอนก่อนกำหนด มั่นใจในศักยภาพของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และไลฟ์สไตล์ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว
นายชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)หรือ MINT เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเสนอขายหุ้นกู้ชุดใหม่ ซึ่งเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท (หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์) แก่ประชาชนทั่วไปในเดือนก.ย.นี้ เพื่อทดแทนหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดเดิม (MINT18PA) ที่บริษัทฯ มีแผนจะใช้สิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนด เพื่อยังคงโครงสร้างทางการเงินให้มีความแข็งแกร่ง และเตรียมความพร้อมรับโอกาสการขยายธุรกิจในอนาคต
โดยการเสนอขายครั้งนี้ได้แต่งตั้ง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ ส่วนการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและรายละเอียดการจองซื้อจะแจ้งให้ทราบภายหลัง
สำหรับหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ดังกล่าว ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ "BBB+" แนวโน้ม "Stable" ขณะที่บริษัทฯ ได้รับการยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือที่ "A" แนวโน้ม Stable จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2565 ตอกย้ำถึงศักยภาพของบริษัทฯ ที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารและไลฟ์สไตล์ชั้นนำระดับโลก ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ตลอดจนภาพรวมธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวภายในประเทศและต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัว หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกเริ่มคลี่คลายและหลายประเทศผ่อนคลายข้อกำหนดการเปิดรับนักท่องเที่ยว
"ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุนในการเสนอขายหุ้นกู้ จึงมั่นใจว่าการเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่ในครั้งนี้จะได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง จากผู้ที่ต้องการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายในบริษัทที่มีความมั่นคง และได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมท่ามกลางภาวะตลาดในปัจจุบันที่มีความผันผวนสูง ทั้งนี้ บริษัทฯ มีประวัติการชำระดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอ แม้ในสภาวะที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ยังคงรักษาความสามารถในการดำเนินงานไว้ได้อย่างแข็งแกร่ง รวมทั้งโครงสร้างทางการเงินที่มั่นคง"
นายชัยพัฒน์ กล่าวต่อว่า ภาพรวมธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารและไลฟ์สไตล์ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปีนี้ หลังจากรัฐบาลทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวภายในประเทศที่กลับมาคึกคักและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น
โดยคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 7 – 10 ล้านคน ส่วนภาพรวมธุรกิจโรงแรมในต่างประเทศปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกเริ่มคลี่คลาย จึงทำให้หลายประเทศทยอยผ่อนคลายมาตรการข้อจำกัดการเดินทางเข้าประเทศ ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัว ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลบวกต่อธุรกิจของบริษัทฯ
ขณะที่ภาพรวมผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2565 ของบริษัทฯ มีรายได้รวม 20,701 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 66% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เติบโตมากกว่า 5 เท่า จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 2,737 ล้านบาท เนื่องจากความสามารถทำกำไรที่เพิ่มขึ้น จากธุรกิจโรงแรมฟื้นตัวดี
โดยโรงแรมที่บริษัทฯ ลงทุนเองในทวีปยุโรปและลาตินอเมริกามีรายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนเติบโตเกือบ 4 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และราคาห้องพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 92 ยูโรต่อคืน ใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ส่วนการดำเนินงานของธุรกิจร้านอาหารและไลฟ์สไตล์มี EBITDA เป็นบวกอย่างต่อเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัทฯ
ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 1/2565 ธุรกิจร้านอาหาร มีสาขารวมทั้งสิ้น 2,410 แห่ง อาทิ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, สเวนเซ่นส์, ซิซซ์เลอร์, บอนชอน ฯลฯ โดยยอดขายรวมทุกสาขามีอัตราเติบโต 11.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ธุรกิจโรงแรมที่บริษัทฯ ลงทุนเองจำนวน 369 แห่ง และรับจ้างบริหารอีก 158 แห่ง ใน 56 ประเทศ รวมทั้งสิ้น 75,805 ห้องพัก อาทิ แบรนด์อนันตรา, อวานี, เอ็นเอช, โอ๊คส์ ฯลฯ และธุรกิจไลฟ์สไตล์ มีร้านค้าและจุดจำหน่ายสินค้ารวมทั้งสิ้น 339 แห่ง อาทิ อเนลโล่, บอสซินี่, ชาร์ล แอนด์ คีธ ฯลฯ
ผู้ลงทุนที่สนใจจองซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่นี้ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากร่างหนังสือชี้ชวน หรือสอบถามจากสถาบันการเงินทั้ง 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (ยกเว้นสาขาไมโคร) โทร. 1333 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 02-111-1111 ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 02-888-8888 กด 819 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โทร. 02-777-6784 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) โทร. 1572 ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 02-626-7000 และ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) โทร.02-165-5555 (ซึ่งรวมถึงธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ในฐานะหน่วยงานขายของบริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)