ธนจิรา กรุ๊ป เปิดเกมรุก "F&B" ต่อจิ๊กซอว์ไลฟ์สไตล์เทรนด์ พร้อมบุกต่างประเทศ
ผ่าบิ๊กสเต็ป "ธนจิรา กรุ๊ป" วางหมากรุกขยายอาณาจักรในและนอกบ้าน ปั้นพอร์ต "Food & Beverage" เสริมแกร่งแบรนด์ในเครือต่อจิ๊กซอว์ไลฟ์สไตล์เทรนด์สมบูรณ์แบบ ดัน "มารีเมกโกะ ป๊อป อัพ คาเฟ่" ต้นแบบแบรนด์คาเฟ่ หลังปักหมุด เซ็นทรัล เอ็มบาสซี เปิดบริการครั้งแรกของโลก
โจทย์ธุรกิจวันนี้ คือ ทำเรื่องยาก...ให้เป็นเรื่องง่ายในอนาคต เพื่อนำสู่การขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ ต้องเลิกคิดว่าจะได้ (ขุมทรัพย์) นักท่องเที่ยวมาช่วย! ซึ่งการที่ “จีน” จะกลับมาฟูลสเกล หรือได้เห็นตัวเลขทัวริสต์ 40 ล้านคนในเร็ววัน อาจไม่เป็นเช่นนั้น!!
ธนพงษ์ จิราพาณิชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทธนจิรา กรุ๊ป ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ แฟชั่นแบรนด์ และผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลผิวพรรณ สปาแบบองค์รวม มีแบรนด์เรือธงเป็นที่รู้จักกันดีในพอร์ต อย่าง แพนดอร่า (Pandora) มารีเมกโกะ (Marimekko) แคท คิดสตัน (Cath Kidston) และ หาญ (HARNN) ฉายมุมมองที่นำสู่การวางยุทธศาสตร์เคลื่อนทัพหลังยุคโควิด-19 ซึ่งได้บทเรียนจากห้วงวิกฤติในการสร้าง “โอกาสใหม่ๆ” พร้อมให้ความสำคัญกับ “ความยั่งยืน” มากขึ้นกว่าเดิม
เริ่มจากการต่อยอดแบรนด์สัญชาติฟินแลนด์ที่แข็งแกร่งในตลาดไทยอย่าง "มารีเมกโกะ" จากไลฟ์สไตล์รีเทลขยายสู่ มารีเมกโกะ ป๊อบ อัพ คาเฟ่ (Marimekko Pop-Up Café) นับว่าเป็นครั้งแรกในโลก!
นอกจากเป็นการครีเอทจากความซัคเซสและการตอบรับที่ดีของลูกค้าชาวไทยแล้ว คอนเซปต์ “แบรนด์คาเฟ่” กำลังถูกปูเส้นทางเป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจหลักแห่งอนาคตของธนจิรา กรุ๊ป ซึ่งพุ่งเป้าบุกธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) เพื่่อเข้ามาเติมเต็มและต่อจิ๊กซอว์ไลฟ์สไตล์เทรนด์ให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
เริ่มจากการต่อยอดแบรนด์สัญชาติฟินแลนด์ที่แข็งแกร่งในตลาดไทยอย่าง "มารีเมกโกะ" จากไลฟ์สไตล์รีเทลขยายสู่ มารีเมกโกะ ป๊อบ อัพ คาเฟ่ (Marimekko Pop-Up Café) นับว่าเป็นครั้งแรกในโลก!
นอกจากจะเป็นการครีเอทจากความซัคเซสและการตอบรับที่ดีของลูกค้าชาวไทยแล้ว คอนเซปต์ “แบรนด์คาเฟ่” กำลังถูกปูเส้นทางเป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจหลักแห่งอนาคตของ ธนจิรา กรุ๊ป ซึ่งพุ่งเป้าบุกธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) เพื่่อเข้ามาเติมเต็มและต่อจิ๊กซอว์ไลฟ์สไตล์เทรนด์ให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
"ช่วงวิกฤติโควิดเรามี Live streaming เป็นเครื่องมือเข้าถึงแฟนคลับที่ไม่ได้ออกจากบ้าน ขณะที่สินค้าโฮม คอลเลคชั่น ของมารีเมกโกะมีอยู่แล้ว และเริ่มรับรู้และถามเข้ามามากขึ้น พร้อมๆ กับไอเดียจะนำเสนอสินค้าให้ลูกค้าได้สัมผัสได้อย่างไรเป็นที่มาของแนวคิดสร้างประสบการณ์ผ่านโต๊ะอาหาร"
กระบวนการทำงาน มารีเมกโกะ ป๊อบ อัพ คาเฟ่ ตั้งต้นจาก “ศูนย์” ใช้เวลาเป็นปีกว่าจะตกผลึกไอเดีย รังสรรค์เมนู ขออนุญาตบริษัทแม่ เจรจากับเจ้าของพื้นที่เซ็นทรัล เอ็มบาสซี หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย พร้อมเปิดให้บริการทำหน้าที่หนึ่งในแม่เหล็กรายเดียวให้กับศูนย์การค้าแห่งนี้นาน 1 ปี! ภายใต้แนวคิด “The best place to bring joy to everyday life”
ทั้งนี้ การมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนตั้งแต่เมื่อก่อตั้งแบรนด์ในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่งานต้นน้ำในการคัดเลือกสินค้าให้ตรงกับเทสของลูกค้าคนไทยในปริมาณที่เหมาะสม การวางกลยุทธ์สินค้าให้เข้ากับกลุ่มลูกค้า YWN (youth-women-netizens) ที่ไม่จำกัดที่ราคาแต่เน้นการใช้งานได้จริง อย่างกระเป๋าผ้ายอดนิยมซึ่งเป็นเหมือนการสร้างฐานลูกค้าให้กว้างขึ้นในช่วง 2-3 ปีแรก สู่การต่อยอดด้วยการสร้างกลยุทธ์การสื่อสารที่ครบ 360 องศา จากลายพิมพ์อันเป็นเอกลักษณ์ที่บ่งบอกเรื่องราวที่เป็นมากกว่าจุดขาย และการเข้าสู่ Omni marketing ที่เชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกัน โดยมี Live streaming เป็นแกนกลางสำคัญในการสร้างการรับรู้ และส่งประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าใหม่ไปพร้อมๆกับการสร้างยอดขายแบบไม่ต้องลดแลกแจกแถมแม้ในห้วงวิกฤติโควิด
สะท้อนผ่านการเติบโตของยอดขายมารีเมกโกะสวนทางตลาด! ยิ่งได้ "มารีเมกโกะ ป๊อบ อัพ คาเฟ่" ตั้งอยู่โลเกชั่นหน้าร้านมารีเมกโกะ เซ็นทรัล เอ็มบาสซี เมื่อแฟนคลับนัดเพื่อนมาชอปปิง หรือลูกค้าที่ไม่รู้จักแบรนด์มานั่งที่คาเฟ่แล้วมีโอกาสให้สัมผัสสินค้า จูงใจให้เดินเข้าร้าน...โดยพบว่าปริมาณลูกค้าเข้าร้านเพิ่มขึ้นถึง 50% นำสู่ยอดใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน
เป็นการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์กลุ่มคนรุ่นใหม่ สายกิน ดื่ม เที่ยว ทั้งแฟนพันธุ์แท้มารีเมกโกะ และลูกค้าใหม่ในวงกว้าง ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ของแบรนด์ที่มุ่งสร้างแรงบันดาลใจและมอบประสบการณ์ที่ดีให้ทุกคนที่มาใช้บริการ ผ่านบรรยากาศและการออกแบบตกแต่งร้านที่ถ่ายทอดแนวคิด “The art of print making, Simplicity, และ Nordic Charming”
โดยออกแบบพื้นที่สไตล์นอร์ดิกดีไซน์ที่สวยงามและเสริมความประทับใจผ่านการตกแต่งร้านด้วยผลิตภัณฑ์ Home Collection จาก Marimekko อาทิ ผ้าพิมพ์ลายแจกัน, ปลอกหมอน และของตกแต่งอื่นๆ ให้สัมผัสกลิ่นอายแบบฉบับสแกนดิเนเวีย แหล่งกำเนิดของมารีเมกโกะ
"มารีเมกโกะ ป๊อบ อัพ คาเฟ่" ลงทุนกว่า 5 ล้านบาท บนพื้นที่ 50 ตร.ม. 21 ที่นั่ง มีไฮไลต์ คือ เมนูอาหารและเครื่องดื่มพิเศษ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากฤดูกาลทั้ง 4 ของประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ซึ่งแต่ละฤดูกาลมีความสวยงามอันเป็นเอกลักษณ์
เชฟจึงนำวัตถุดิบที่โดดเด่นของแต่ละฤดูกาลมาใช้เป็นวัตถุดิบหลัก เพื่อรังสรรค์เมนูอาหารแบบสแกนดิเนเวีย แต่ยังได้รสชาติติดปลายลิ้นแบบที่คนไทยชอบ อาทิ Rigatoni pink sauce with prawns & caviar หรือ Green pea & strawberry salad ที่น้ำสลัดมีส่วนผสมของ น้ำผลไม้ Bilberry จากBiokiaซึ่งเป็นเบอร์รี่ป่าออร์แกนิก 100% จากตอนเหนือของประเทศฟินแลนด์ทื่ถือว่าเป็น Superfoods นอกจากอร่อยแล้ว ยังอุดมด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ฯลฯ อันเป็นหัวใจของการสร้างสรรค์เมนูสไตล์Hearty & Healthy Cuisine
เมนูอาหารจะมีการสลับสับเปลี่ยนทุก 3 เดือนไม่ต่างจากแฟชั่นที่เป็นซีซันนอล ภายใต้สนนราคาที่เรียกว่า สมเหตุสมผล เป็นกลยุทธ์ดึงดูดลูกค้าให้กลับมารับประทานซ้ำ!
มารีเมกโกะ ทำตลาดในไทยกว่า 7 ปี ปัจจุบันมีสาขารวม10 แห่ง 1 เอาท์เล็ต และมีช่องทางการขายบนโลกออนไลน์อีก 4 ช่องทาง
ขณะที่ มารีเมกโกะ ป๊อบ อัพ คาเฟ่ มีแผนจะเปิดบริการเพิ่มอีก 2 แห่ง
ธนพงษ์ เล่าถึงจิ๊กซอว์ตัวต่อไป นั่นคือ การสร้างสเกลให้ "Food & Beverage“ ที่หมายตาแบรนด์ศักยภาพ ”แคท คิดสตัน" ที่จะนำมาสร้างประสบการณ์ใหม่ผ่านคอนเซปต์ “คาเฟ่” ดึงดูดลูกค้ามาใช้บริการด้วยกลิ่นอายความเป็นอังกฤษและน่ารักแบบคาวาอี้ เจาะกลุ่มยังเกอร์ ประเดิมสาขาแรก 50 ตร.ม. ในเดือน ธ.ค.นี้
“แคท คิดสตัน เป็นแบรนด์พรีเมียมแมส มีเครือข่ายสาขากว่า 40 แห่งในไทยมากที่สุดในโลก สะท้อนถึงการตอบรับที่ดีจากลูกค้า เชื่อว่าไม่ยาก ในการต่อยอดเพื่อสร้างให้แบรนด์แข็งแรง ยั่งยืน หลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา”
ธนจิรา กรุ๊ป มี Marketing และ Operation เป็นจุดแข็ง รวมถึงการเข้าใจพฤติกรรมเชิงลึกของลูกค้าคนไทยนิยมออกนอกบ้าน ใช้โซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ในการเข้าถึงเทรนด์ และ “แชร์” หรือสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ซึ่งธุรกิจสามารถนำมาต่อยอดเชื่อมโยงทางการตลาด ทั้งเป็นการบริหารจัดการ “ต้นทุน” ในการเข้าถึงลูกค้า สร้างยอดขายได้อย่างเปี่ยมประสิทธิภาพของธุรกิจ
แพลตฟอร์ม “ออนไลน์” มีความสำคัญอย่างมากฉายชัดจากวิกฤติโควิด-19 ที่เป็นช่องทางหลักพยุงธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ยอดขายผ่านออนไลน์ก่อนโควิดที่มีเพียง 1% พุ่งพรวดเป็น 12% สิ้นปี 2565 ตั้งเป้าหมายอยากได้สัดส่วนยอดขายจากออนไลน์อย่างน้อย 15% และโตเท่าตัวเป็น 30% ภายใน 3 ปีจากนี้
แน่นอนว่าภารกิจจากนี้ยิ่งต้อง “เร่งคิด...เร่งทำ” เพราะ ธนจิรา กรุ๊ป ไม่หยุดรั้งตัวเองไว้เพียงเมืองไทย! โตเมืองนอกเป็นอีกยุทธศาสตร์
บิ๊กสเต็ป "นอกบ้าน" ที่เวลานี้ปักหมุดไว้แล้วทั้ง “จีน” “เวียดนาม” และ “ญี่ปุ่น” 3 ตลาดแห่งศักยภาพและโอกาสติดปีกสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะ “จีน” ตลาดอันดับหนึ่่งหากไปได้ดี...ธุรกิจวิ่งฉิวเลยทีเดียว
ปัจจุบัน แคท คิดสตัน มี 5 สาขาในเวียดนาม กำลังเปิดสาขาที่ 6 เดือน ก.ค.นี้ อยู่ในฮานอย 2 สาขา และโฮจิมินต์ 4 สาขา ในปี 2566
เตรียมเปิดแบรนด์มารีเมกโกะ ในฮานอย ที่ห้างสรรพสินค้าล็อตเต้ ในรูปแบบช็อปอินช็อป พื้นที่ 50 ตร.ม.
ขณะเดียวกัน แบรนด์ “หาญ” ได้มีการจัดตั้งบริษัทในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2563 เพื่อขยายกิจการโดยมีนักลงทุนชาวญี่ปุ่นซึ่งเชี่ยวชาญตลาดร่วมถือหุ้น 10% เปิดบริการแล้ว 3 สาขาในโอซาก้า โตเกียว และโยโกฮามา ซึ่งเดือน ส.ค.เตรียมเปิดที่โกเบ หาญ ในญี่ปุ่น ชูจุดแข็งโปรดักท์ “บอดี้แคร์” และในเร็วๆ นี้จะมีโปรเจ็กต์ใหญ่พัฒนาสกินแคร์เมดอินเจแปนและนำกลับมาจำหน่ายในประเทศไทยด้วย
ซีอีโอ ธนจิรา กรุ๊ป ยอมรับว่าวิกฤติโควิดทำธุรกิจทั้งกลุ่ม Suffer โดยปี 2564 อยู่ในจุดต่ำสุด! ยอดขายหายไปครึ่งหนึ่งทีเดียว แม้วูบหายไป 50 แต่มั่นใจว่าปี 2565 จะกลับมา 50 ทำยอดขายเท่าเดิมที่ 1,150 ล้านบาท และขยับเป็น 1,400 ล้านบาทในปี 2566
สำหรับปี 2565 บริษัทจัดสรรงบกว่า 100 ล้านบาทลงทุนเชิงรุกทั้งเปิดสาขาใหม่ ปรับปรุงร้าน ทำการตลาด
“โควิดเป็นบททดสอบที่ดีสำหรับรีเทลที่แทบจำหมดหนทางจากล็อกดาวน์ ในความเป็นลีดเดอร์จะนำพาองค์กรธุรกิจก้าวข้ามไปอย่างไร? ซึ่งทุุกองค์กรต้องปรับมายเซ็ต ต้องไว ไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต รวมทั้งนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวจีนที่เป็นฐานลูกค้าหลักซึ่งเวลานี้ยังไม่กลับมา มองว่า 4-5 ปีกว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาได้เหมือนเดิม"
เมื่อฐานอำนาจซื้อหลักชาวจีนไม่กลับมา ดังนั้น เราต้องพาตัวเองไปหาลูกค้า “ธนจิรา กรุ๊ป” จึงรุกสู่แพลตฟอร์มของทีมอลล์ ไชน่า และเจดีดอทคอม เรียกว่าไปเจาะตรงขายเองตั้งแต่ปี 2563 ที่โควิดมาเคาะประตูบ้าน!
"ผมสู้อยู่แล้ว แต่หากเลือกหยุดไปเลยกว่าจะมาจุดติด ก็ยาก! เรากัดฟันทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ รัดเข็มขัด ดูเม็ดเงินที่เหลืออยู่ซัพพอร์ตไหวไหม ขอความเข้าใจพนักงานว่าเราลำบาก ให้ Leave without pay ซึ่งเวลานี้เราดีขึ้นเรื่อยๆ Recover ด้วยกลยุทธ์ช่องทางจำหน่ายใหม่ออนไลน์ และการต่อยอดของแบรนด์ โดยที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเลย!”
การขยายการลงทุนของธนจิรา กรุ๊ป ยังมุ่ง “ซื้อกิจการ” หรือ M&A เป็นสูตรลัดเติมแบรนด์ในพอร์ตที่วางเป้าหมายชัดเจนต่อการซื้อแบรนด์นั้นๆ สามารถขยายตลาดต่างประเทศได้ และเป็นการซื้อเพื่อเป็นผู้เล่นในแคธิกอรี่นั้นๆ
ในฐานะธุรกิจที่กำลังอยู่ในห้วงแห่งการฟื้นฟูไปพร้อมกับเศรษฐกิจประเทศไทย ธนพงษ์ ย้ำว่า อยากได้ความเชื่อมั่นและนโยบายที่ชัดเจนจากผู้นำประเทศในปัจจัยที่มีผลต่อการขับเคลื่อนธุรกิจทั้งราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อม “ทีมเศรษฐกิจ” ที่ต้องเข้าใจวิธีการบริหารจัดการเศรษฐกิจจริงๆ เพื่อสร้างสปริงบอร์ดให้ไทยก้าวไกลในมิติต่างๆ หนุนการขับเคลื่อนธุรกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
โดย ธนจิรา กรุ๊ป ยังมีอีกบิ๊กสเต็ปสำคัญนั่นคือการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในปี 2566 เพื่อระดมทุนต่อยอดการรุกธุรกิจในต่างประเทศ