"หุ้นแบงก์" ได้หรือเสีย? หลังธปท.ปรับมาตรการทางการเงิน
เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณฟื้นตัว หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มถอนคันเร่งนโยบายการเงินกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
โดยผ่อนปรนการช่วยเหลือแบบวงกว้าง หันมาโฟกัสมาตรการเฉพาะจุด เน้นกลุ่มลูกค้ารายย่อยและกลุ่มเปราะบางที่อาการยังน่าเป็นห่วง ล่าสุดได้ผ่อนคลายชุดมาตรการที่ดำเนินการกับสถานบันการเงิน หลังพบว่าระบบสถาบันการเงินมีความมั่นคงขึ้น
สะท้อนได้จากเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น จึงประกาศยกเลิกการจำกัดอัตราการจ่ายเงินปันผล จากเดิมในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ได้จำกัดไว้ไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิประจำปี
หลังผลทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความแข็งแกร่ง มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงและเงินสำรองต่อหนี้เสียในระดับสูง เพียงพอที่จะรับความเสี่ยงในระยะข้างหน้าได้
รวมทั้ง ให้ปรับอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) กลับมาอยู่ที่ 0.46% ต่อปี จากที่เคยลดลงไปเหลือ 0.23% ต่อปี โดยเริ่มตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นไป
ขณะเดียวกันออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยกลุ่มเปราะบาง โดยขยายเวลาลดอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำที่ 5% ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2566 และ 8% ในปี 2567 ก่อนกลับสู่เกณฑ์ปกติที่ 10% ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป
พร้อมขยายระยะเวลาชำระหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล 1 ปี ไปจนถึงสิ้นปี 2566 จากเกณฑ์ปกติที่กำหนดไว้ 6 เดือน นอกจากนี้ เตรียมจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ในไตรมาส 3 นี้ เพื่อเป็นช่องทางเสริมให้ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางสามารถขอรับความช่วยเหลือได้
การปรับมาตรการทางการเงินในครั้งนี้จะส่งผลบวก หรือ ลบ ต่อธนาคารพาณิชย์อย่างไรนั้น ในมุมมองของ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุว่า การยกเลิกจำกัดอัตราการจ่ายปันผลเป็นผลดีต่อคนที่ลงทุนหุ้นธนาคารพาณิชย์ เพราะจะมีโอกาสได้รับเงินปันผลมากขึ้น
ส่วนการกลับไปให้นำส่งเงินเข้า FIDF ในอัตราปกติที่ 0.46% ของเงินฝาก แม้จะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น แต่ฝ่ายวิจัยได้ใส่อัตรานี้ไว้แล้วในประมาณการกำไร จึงไม่กระทบต่อราคาเป้าหมายของหุ้น โดยฝ่ายวิจัยคาดกำไรสุทธิกลุ่มธนาคารปี 2565 เติบโต 14% และปี 2566 โต 2%
ส่วนการปรับปรุงหลักเกณฑ์กำกับดูแลและใช้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง เป็นผลดีโดยทำให้หนี้เสีย (NPL) ไม่ปรับขึ้นมาก และช่วยให้ภาคธุรกิจและลูกหนี้รายย่อยสามารถฝ่าวิกฤตโควิด-19 และผลกระทบจากสงครามรัสเซียยูเครนไปได้
โดยยังคงให้น้ำหนักลงทุนกลุ่มธนาคาร “มากกว่าตลาด” หรือ “Overweight” โดยให้ KBANK, KKP และ TISCO เป็นหุ้น Top Picks ทั้งนี้หุ้นธนาคารของไทยมี Valuation ที่จูงใจ โดยส่วนใหญ่มี P/BV ต่ำกว่า 1 เท่า ยกเว้น KKP และ TISCO ที่สูงกว่า 1 เท่า เพราะ ROE สูงมาก
ด้านบล.กรุงศรี ระบุว่า การทยอยถอนมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของธปท. เป็นไปตามที่ฝ่ายวิจัยคาดไว้ เพราะเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น และเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวกลับมา รวมทั้งมีแนวโน้มชัดเจนว่า ธปท. ใกล้ปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก
ทำให้ฝ่ายวิจัยเชื่อว่า ธปท. ไม่น่าจะขยายเวลาลดค่าธรรมเนียม FIDF โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเสถียรภาพของระบบการเงินแข็งแกร่งมากขึ้นแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องคุมเพดานอัตราการจ่ายเงินปันผลของธนาคารอีกต่อไปด้วย
และการตัดสินใจครั้งนี้ของธปท. ยังเป็นการยืนยันแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเป็นปัจจัยที่ตื่นเต้นอะไร ทำให้คงมุมมองและน้ำหนักการลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคาร “เท่ากับตลาด” หรือ “Neutral”
ด้านบล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ฝ่ายวิจัยมีมุมมองบวกในเรื่องของเงินกองทุน แต่มองเป็นกลางต่อการยกเลิกข้อจำกัดการจ่ายเงินปันผล เนื่องจากอัตราการจ่ายเงินปันผลเฉลี่ยของกลุ่มปี 2564ไม่มีธนคารใดเกิน 50% ยกเว้นบริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO ที่เป็นโฮลดิ้งส์ จึงสามารถจ่ายได้ 84% ของกำไรสุทธิ