กกร.ปรับจีดีพีไทยโตไม่ถึง 4 % เหตุเงินเฟ้อฉุดกำลังซื้อ
เงินเฟ้อ กำลังซื้อลด เศรษฐกิจโลกชะลอตัว กดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ทำกกร.ปรับประมาณการณ์จีดีไทยปี 65 เหลือ2.75- 3.5% ขณะที่เงินเฟ้อปรับสูง 5.0% - 7.0% ส่วนส่งออกจะขยายตัวอยู่ที่ 5.0% -7.0%
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยภายหลังการประชุมกกร.ว่า กกร. ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ในกรอบ 2.75- 3.5% จากเดิมเมื่อเดือน มิ.ยที่ 2.5% - 4.0% ขณะที่ปรับเพิ่มประมาณการมูลค่าการส่งออกเป็นขยายตัวในกรอบ 5.0% -7.0% และปรับเพิ่มประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเป็น 5.0% - 7.0% เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงต่อไป และค่าเงินบาทที่มีการอ่อนค่าลงมากกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้เดิม
ทั้งนี้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ท่ามกลางความเสี่ยงที่รุมเร้าอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป มีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง โดยอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนและความสามารถในการบริหารต้นทุนของภาคการผลิต ขณะที่ต้นทุนทางการเงินกำลังเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ดังนั้น เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) ในช่วงครึ่งหลังของปีหากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนและผลกระทบต่อราคาพลังงานยังไม่มีคลี่คลาย นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนชะลอตัวอย่างมากจากนโยบาย zero covid policy และอาจฟื้นตัวได้ช้าแม้รัฐบาลจีนมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทั้งหมดนี้ทำให้ภาคการส่งออกของไทยเผชิญความท้าทายมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
นายพยง กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในระดับสูงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย แม้ว่าการท่องเที่ยวของคนไทยภายในประเทศจะฟื้นตัวได้ดีถึงระดับกว่า 80% ของภาวะปกติในช่วงครึ่งปีแรก และในช่วงครึ่งปีหลังจะมีแรงส่งเพิ่มเติมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าตัวจากช่วงครึ่งปีแรก แต่อัตราเงินเฟ้อที่สูงระดับ 6-8% ในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยทำให้กำลังซื้อของภาคครัวเรือนลดลง และต้นทุนของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการเงินในประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตามที่ประชุม กกร. ประเมินเศรษฐกิจไทยยังโตได้ แต่ต้องบริหารจัดการปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะปัจจัยด้านเงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนและธุรกิจในวงกว้าง และยังรวมไปถึงการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะมีผลต่อต้นทุนทางการเงิน