'อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ' ปัดฝุ่นแผนเข้าตลาดฯ ระดมทุน ขยายอีเวนต์ รุกดิจิทัล
'อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ' กำเงิน 410 ซื้อหุ้นคืนจาก เวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ พร้อมเดินหน้าปรับแผนธุรกิจทั้งเคลื่อนทัพรุกดิจิทัล เปิดกว้างพันธมิตรถือหุ้น ร่วมทุน แต่งตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯอีกรอบ เตรียมพร้อมระดม นำเงินขยายอีเวนต์ สร้าง Attraction แห่งใหม่ให้ประเทศ
กว่า 30 ปี คือเส้นทางการเติบโตของบิ๊กเนมการตลาดเชิงสร้างสรรค์ หรือผู้เล่นในสมรภูมิ “อีเวนท์” อย่าง “อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเวจ” ตลอดเวลาทีผ่านมา บริษัทเผชิญการเปลี่ยนแปลงมากมาย หนึ่งในนั้นโครงสร้าง “ผู้ถือหุ้น”
ย้อนไปปี 17 ก่อน จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เคยเข้ามาถือหุ้น 50% ร่วมขับเคลื่อนธุรกิจอีเวนท์ กระทั่งปี 2548 “เวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์” เข้ามาถือหุ้นแทน แกรมมี่ฯ ทว่า ล่าสุด แม่ทัพอินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ กำเงิน 410 ล้านบาท ซื้อหุ้นคืนจากเวฟ ฯ และทำให้กลุ่ม “กาญจนะโภคิน” ถือหุ้นใหญ่ 93.6% และ “มาลีนนท์” ถือหุ้นอยู่ 6.38%
นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านการตลาดเชิงสร้างสรรค์อย่างครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน เปิดเผยว่า การซื้อหุ้นคืนจากเวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ อยู่ในแผนธุรกิจของบริษัท ซึ่งจากนี้ไปวางแนวทางสร้างการเติบโต ไม่ได้มาจากการจัดอีเวนท์ ออนกราวด์เท่านั้น แต่ต้องการ ทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่ Real & Design Xperience มองหาพันธมิตรมาช่วยเสริมศักยภาพด้านดิจิทัลมากขึ้น
ทั้งนี้ สเต็ปแรกในการรุกสู่โลกดิจิทัล คือการผนึกกับ ดี.โอเอซิส(D.OASIS) ในการร่วมทุนเกับพันธมิตร เช่น อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต อีเว้นท์พาส ประกิต โฮลดิ้งส์ และอินเด็กซ์ฯ ซึ่งถือหุ้น 10% เพื่อขยายธุรกิจสู่โลกเสมือนจริงหรือเมตาเวิร์ส ประเดิม D.OASIS The ‘Sandbox Metaverse’ พัฒนาอีโคซิสเทม เมตาเวิร์ส เพื่อเชื่อมต่อโลกธุรกิจ ความบันเทิง ครีเอทีฟ กรศึกษา และไลฟ์สไตล์ต่างๆ รองรับความต้องการของลูกค้าในอนาคต ซึ่งขณะนี้มีราว 45 องค์กร สนใจมาร่วมสร้างปรากฏการณ์ให้เกิดขึ้นในโลกเสมือนจริง
D.OASIS The ‘Sandbox Metaverse’
สำหรับภารกิจเสริมแกร่งด้านดิจิทัล บริษัทยังเปิดกว้างรับพันธมิตรเข้ามาลงทุนถือหุ้นในอินเด็กซ์ฯ รวมถึงการร่วมทุน สร้างบริษัทใหม่เพื่อขยายตลาดด้วย โดยคุณสมบัติของพาร์ทเนอร์ที่ต้องการคือมีเทคโนโลยี องค์ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อสร้างมิติใหม่ให้ธุรกิจอีเวนท์ ผลักดันการรเติบโตได้เร็วขึ้น
“ตอนนี้เราเดินหน้าสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้พร้อม เมื่อโลกเมตาเวิร์สเกิด บริษัทจะได้ไม่ต้องนับ 1 ซึ่งการรุกธุรกิจสู่โลกเสมือนจริง เป้าหมายคือการสร้างเมตาเวิร์สไทยที่แข็งแกร่งสุด”
นอกจากนี้ บริษัทยังปัดฝุ่นแผนการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้ง จากเดิมจะเห็นในปีนี้ แต่วิกฤติโควิด-19 ฉุดธุรกิจอีเวนท์ให้พังพินาศ รวมถึงรายได้บริษัทหดตัวลง การปรับโครงสร้างการถือหุ้น และทรานส์ฟอร์มธุรกิจครั้งนี้ จะช่วยทำให้บริษัทกลับมาเติบโตและเข้าจดทะเบียนในตลาดฯได้ปี 2568
เกรียงไกร กาญจนะโภคิน
สำหรับเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุน จะนำไปขยายธุรกิจอีเวนท์ โดยเฉพาะการสร้างโปรเจคของตัวเอง(Own-Project) เช่น สถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว(Attraction) หนึ่งในโปรเจคใหญ่คือการสร้างพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับหมูป่า 13 ชีวิต ที่จังหวัดเชียงราย มูลค่าการลงทุนราว 700 ล้านบาท เป็นต้น โดยแนวทางการทำธุรกิจจะเน้นเกาะตลาดท่องเที่ยวต่อเนื่อง
ด้านภาพรวมธุรกิจอีเวนท์ครึ่งปีแรก บริษัททำผลประกอบการได้ 479 ล้านบาท เติบโต 72% แรงส่งมาจากการฟื้นตัวของตลาด แม้ว่าอีเวนท์บันเทิง การจัดคอนเสิร์ต ยังไม่ร้อนแรง แต่ช่วงไตรมาส 3-4 จะเห็นกิจกรรมเหล่านี้มากขึ้น หนุนให้การเติบโตกลับมาได้ 40% หรือคิดเป็น 5,600 ล้านบาท จากปี 2562 ที่มูลค่าตลาดราว 14,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ แผนธุรกิจช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทกลับมาคิกออฟลุยทุกอีเวนท์ทั้งในและต่างประเทศ เช่น งาน Japan Immersive Experience ชวนผู้บริโภคไปสัมผผัสประสบการณ์ศิลปะดิจิทัล แบบ 360 องศา เริ่มวันที่ 8 กรกฎาคม – 15 สิงหาคม ณ House of illumination ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เตรียมจัดคอนเสิร์ต NFT ครั้งแรกของเมืองไทย สร้างประสบการณ์ใหม่หรือ เป็น Immersive Concert and Art Experiences ผ่านศิลปิน แสตมป์ อภิวัชร์ ในวันที่ 18 – 21 สิงหาคม 2565 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
คิดถึงญี่ปุ่น แวะเวียนไปงาน Japan Illumination ได้ ที่เซ็นทรัลเวิลด์
นอกจากนี้ บริษัทเดินหน้ารุกตลาดต่างประเทศ ลุยจัดงานเทรดแฟร์ เช่น Cambodia Architect & Décor จัดร่วมกับงาน Cambodia Health and Beauty Expo และ Cambodia Food Plus Expo และงาน Virtual Exhibition Architect & Décor ,Virtual Exhibition FoodBev Retail, Health & Beauty ที่ประเทศกัมพูชา และงาน Bangkok Beauty Show 2022 ระหว่างวันที่ 15-17 ธันวาคม ณ ศูนย์ประชุม ไบเทค บางนา
แผนดังกล่าวจะทำให้บริษัทมีรายได้รวม 965 ล้านบาท เติบโต 54% มีสัดส่วนจากกลุ่มธุรกิจ ครีเอทีฟ บิซซิเนส ดีเวลลอปเม้นท์ 28% 2.กลุ่มมาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิส 52% และ3.กลุ่ม Own-Project 20%
“การรุกดิจิทัลจะช่วยเสริมแกร่งกลุ่มธุรกิจ Own-Project มากขึ้น ซึ่งอนาคตเราต้องการมีสัดส่วนรายได้ 50%”