กรมวิชาการเกษตร ชู “แมงลักป่า” วัชพืชฆ่าวัชพืช
กรมวิชาการเกษตร พบสารสำคัญในแมงลักป่าฆ่าวัชพืชได้ เล็งต่อยอดใช้มันหอมระเหย สังเคราะห์ต่อหาสารชนิดใหม่ใช้กำจัดวัชพืชในอนาคต
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้ให้ความสำคัญต่อนโยบายลด ละ เลิก การใช้สารเคมีทางการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ เป็นไปตามมาตรฐาน มีความปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งมีงานวิจัยสนับสนุนว่ามีพืชหลายชนิดที่มีอัลลีโลพาธี (Allelopathy) คือกระบวนการที่พืชปล่อยสารออกมาแล้วไปมีผลส่งเสริมหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของพืช หรือจุลินทรีย์อีกชนิดหนึ่งที่อยู่ข้างเคียง ซึ่งความรุนแรงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดและความเข้มข้นของสารที่ปล่อยออกมา
ดังนั้นกลุ่มวิจัยวัชพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร จึงได้ศึกษาวิจัยค้นหาพืชที่มีศักยภาพสูงเพื่อนำมาใช้กำจัดวัชพืชและได้เล็งเห็นถึงศักยภาพในการกำจัดวัชพืชของ“แมงลักป่า” ซึ่งเป็นวัชพืชฤดูเดียว สามารถเจริญเติบโตได้ตลอดทั้งปี มีกลิ่นฉุนรุนแรง พบได้ทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการกำจัดวัชพืชได้
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ร่วมกับ กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ได้พัฒนานำส่วนของใบแมงลักป่าในระยะออกดอก มาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย ซึ่งในน้ำมันหอมระเหยจากแมงลักป่ามีกลุ่มสารสำคัญ คือสารกลุ่มเทอร์พีนอยด์ โดยสารที่พบปริมาณมากและเป็นองค์ประกอบหลักในน้ำมันหอมระเหยจากแมงลักป่า ได้แก่ ซาบีนีน เบต้า-ไพนีน 1,8-ซินีโอล ทรานส์ คาริโอฟิลลีน และ
คาริโอฟิลลีน ออกไซด์ และได้นำน้ำมันหอมระเหยมาวิจัยเป็นสูตรผลิตภัณฑ์ได้เป็นสูตรสารละลายน้ำมันเข้มข้น ซึ่งได้สูตรที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ 2 สูตร คือ ผลิตภัณฑ์สูตร A 60% EC และ ผลิตภัณฑ์สูตร B 60% EC ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืช ได้แก่ ไมยราบยักษ์ และหญ้าข้าวนก ในห้องปฏิบัติการ และมีประสิทธิภาพในการกำจัดผักโขมหนามได้ถึง 93-96 เปอร์เซ็นต์ ในสภาพเรือนทดลอง ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 สูตร มีลักษณะการเข้าทำลายแบบสัมผัสตาย คือเมื่อละอองสารสัมผัสกับวัชพืชทำให้เกิดอาการฉ่ำน้ำ ใบเหี่ยว และแห้งตาย
จากนั้นได้ดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืชและทดสอบความเป็นพิษต่อพืชปลูกในสภาพไร่ ในแปลงปลูกมะเขือเปราะ โดยใช้พ่นระหว่างแถวปลูกมะเขือเปราะ อายุ 1 เดือนหลังย้ายกล้า และวัชพืชมีจำนวนใบ 3-5 ใบ หรือมีความสูงไม่เกิน 10 เซนติเมตร ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 สูตร มีความเป็นพิษต่อมะเขือเปราะเล็กน้อย ทำให้เกิดจุดสีน้ำตาลที่ใบแต่ไม่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต และมีประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืชประเภทใบกว้าง ได้แก่ ผักเบี้ยหิน วัชพืชประเภทใบแคบ ได้แก่ หญ้านกสีชมพู และวัชพืชประเภทกก ได้แก่ กกทราย ได้ดี ทำให้วัชพืชมีอาการตาย 90 - 100 เปอร์เซ็นต์
“ถึงแม้ผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหยจากแมงลักป่ามีประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืชได้ดี แต่ต้องใช้วัตถุดิบตั้งต้นปริมาณมากในการสกัด อีกทั้งปริมาณสารผลิตภัณฑ์ที่ใช้พ่นต้องมีปริมาณมากที่อาจจะไม่คุ้มทุนในการผลิตและนำไปใช้ของเกษตรกร แต่อย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตรมีแนวทางในการวิจัยเพื่อพัฒนาต่อยอดสารสกัดจากแมงลักป่า โดยนำน้ำมันหอมระเหยจากแมงลักป่าไปวิเคราะห์จำแนกชนิดของสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของสารออกฤทธิ์แต่ละชนิด และดูแนวโน้มการนำสารออกฤทธิ์ดังกล่าวไปสังเคราะห์ต่อ เพื่อเป็นแนวทางในการหาสารชนิดใหม่ในการนำไปใช้กำจัดวัชพืชในอนาคตต่อไป “
ผลงานวิจัยการเกษตร เหล่านี้จะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ให้เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร และผู้ประกอบการภาคการเกษตรและอาหาร ซึ่งกรมวิชาการเกษตรจะเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ดำเนินการเสร็จสิ้นสู่สาธารณชน ต่อไป