ไตรมาส3ชี้ชะตาสถานการณ์เศรษฐกิจ ยกฐานราคาอาหาร-รายได้เพิ่ม
ราคาสินค้าและพลังงานที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปจนถึงภาคธุรกิจ ต่อเนื่องไปถึงเศรษฐกิจประเทศ ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากวิกฤติต่างๆที่เกิดขึ้นในหลายมุมโลก กลายเป็นปัญหา สภาวะเงินเฟ้อและความมั่นคงทางด้านอาหาร ที่ทั่วโลกต้องตั้งรับ
จิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ผ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในหัวข้อ“บริบทเศรษฐกิจไทย สภาวะเงินเฟ้อ และทางออก” ว่า จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทยอยเข้ามาหลังการเปิดประเทศ การส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ท่ามกลางแรงส่งทางการคลังที่ชะลอลง ทำให้
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับคาดการณ์จีดีพีปีนี้ เพิ่มมาอยู่ที่3.3% จาก 3.2%
กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องจากครึ่งปีก่อน ตั้งแต่เปิดเมือง ภาคการส่งออกปรับตัวดีขึ้นมาก เมื่อมีการเปิดเมือง กิจกรรมเศรษฐกิจต่างๆเริ่มเปิดขึ้น ดัชนีการบริโภคก็เริ่มดีขึ้น ซึ่งทิศทางโดยรวมชี้ไปที่การฟื้นตัวและใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด
อย่างไรก็ตาม ด้านอัตราเงินเฟ้อ มองว่าแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อจะพีคในช่วงไตรมาส 3ปีนี้ และปรับตัวลดลง จึงทำให้กนง.มองว่าเงินเฟ้อจะยังอยู่ในกรอบที่ประมาณการไว้ เนื่องจากในรายละเอียดการปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อ ที่ทำให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นนั้น มาจากราคาพลังงาน และวัตถุดิบที่ต้องนำเข้า รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ที่สูงขึ้นทำให้การขยายตัวราคาอาหารสด พลังงานขยายตัวในอัตราเร่ง
แม้ว่า สถานการณ์เงินเฟ้อจากฝากฝั่งของอุปทานทั้งจากการลงทุนและการบริโภคจะมีอยู่บ้างแต่ไม่มากพอที่จะดันเงินเฟ้อได้ เมื่อเทียบกับ แรงผลักจากพลังงานซึ่งคาดว่าราคาน้ำมันเองก็จะสูงสุดในไตรมาส 3 ปีนี้ จากนั้นจะค่อยๆชะลอตัว โดย ประมาณการว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบ ปี 2565 และ2566 เฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพราะราคาน้ำมันปัจจัยพื้นฐานที่กระทบต่อราคาไม่ได้มาจากกำลังการผลิตที่เปลี่ยนไป แต่มาจากคาดการณ์จาดฝั่งอุปสงค์ที่ประเมินว่า เศรษฐกิจในมุมมองต่างๆมากกว่า
“แบงค์ชาติ คาดการณ์เงินเฟ้อ ผ่านการทำสำรวจพบว่าอัตราเงินเฟิอจะสูงในระยะสั้น แต่เป็นไปในอัตราเร่งตัวให้สูงขึ้น แต่ในระยะยาวจะไม่หลุดกรอบ1-3% ที่กนง.และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ประเมินไว้ เพราะมองว่าการฟื้นตัวทางศก. ฟื้นแล้วแต่ยังเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ ดังนั้นการดำเนินนโยบายด้านการเงิน จะทำเท่าที่จำเป็นและจะพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยในช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อไป”
ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะทำให้รายจ่ายต่างๆเพิ่มขึ้น หากพิจารณาด้านรายได้รายภาคการผลิตแล้ว จะพบว่า ภาคการเกษตรมีทิศทางรายได้สูงขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรที่สูงตามดีมานด์ว่าด้วยความมั่นคงด้านอาหาร หรือเฉลี่ยเกษตรกรมีรายได้สูงขึ้นประมาณ 9.3% แต่นี่คือรายได้ที่ยังไม่หักค่าใช้จ่าย ดังนั้น หากพิจารณาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เช่นราคาปุ๋ยที่สูงขึ้นถึง 127.6% จะพบว่ารายได้เกษตรกรไทยไม่ได้ดีขึ้นเลย
นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) กล่าว ในหัวข้อ“สภาวะเงินเฟ้อ ความมั่นคงทางอาหาร และทางออก” ว่าภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น ถือว่าซ้ำรอยประวัติศาสตร์ในทศวรรษ ปี 2510 โดยมีสาเหตุหลักคือ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวในปี 2564 แต่กำลังการผลิตน้ำมันมีจำกัด และปัญหา supply chain dissipation ราคาสินค้าอาหารปรับตัวสูงขึ้น 40% กระทบกับคนจนกลุ่มเปราะบางปรับตัวรับไม่ทัน และเป็นผลกระทบด้านจิตวิทยาอย่างรุนแรง เกิดภาวะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 7% ประกอบกับสงครามยังไม่มีทีท่าว่าจะจบ ดังนั้นราคาอาหารแพงจะลากยาว
ในส่วนของไทยที่ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก ความเสี่ยงในเรื่องของความมั่นคงทางด้านอาหารมีน้อย ยกเว้นกลุ่มคนจน หรือกลุ่มเปราะบาง อาจเกิดปัญหาภาวะทุพโภชนาการ เพราะเข้าถึงอาหารที่มีราคาแพงได้ยากขึ้น
ภาครัฐต้อง “เลิกควบคุมราคาอาหาร” โดยยึดหลักราคาแพงดีกว่าขาดตลาด เพราะเมื่อสินค้ามีราคาแพงขึ้นจะเกิดแรงจูงใจ ทำให้ภาคเกษตรเร่งผลิตสินค้าออกมามากขึ้น และใช้เวลาไม่นานราคาก็จะลดลงได้ โดยภาครัฐไม่จำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซง แต่ปล่อยให้กลไกตลาดได้ทำงานให้มากที่สุด ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างกัน ราคาจะลดลงเองตามธรรมชาติ
นอกจากนี้ รัฐบาลควรเปิดการค้าเสรี ไม่ควรจำกัดส่งออก จำกัดการนำเข้า และแทรกแซงลาด เพราะการค้าเป็นหนทางสำคัญที่สุดจะช่วยแก้ปัญหาราคาอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งควรเร่งสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีการเกษตร เทคโนโลยีดิจิทัลในการใช้ปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มผลผลิต เร่งจัดทำนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มรายได้คนไทย โดยอาศัยกระบวนกรีมีส่วนร่วม ไม่ใช่ให้ข้าราชการ นักธุรกิจรายใหญ่เป็นเสนอแนะ จัดทำแต่ฝ่ายเดียว