ผู้ใช้ “เบนซิน” รับกรรม ถูกรีดเงินเข้า "กองทุนน้ำมัน" อุ้มดีเซล
ผู้ใช้น้ำมัน "เบนซิน" รับกรรมแม้ราคาตลาดโลกจะลดลงเข้า "กองทุนน้ำมัน" เพื่อนำมาอุดหนุนพยุงราคาน้ำมัน "ดีเซล" ที่มีปริมาณการใช้งานมากกว่า 66% ของยอดใช้น้ำมันทั้งประเทศ ถือเป็นต้นทุนภาคขนส่ง หวั่นค่าครองชีพพุ่ง
จากกรณีที่น้ำมันกลุ่มเบนซินปรับราคาขายหน้าสถานีบริการน้ำมันลงลิตรละ 3 บาท วันที่ 8 ก.ค. 2565 เป็นผลจากราคาน้ำมันตลาดโลกปรับลดลงเมื่อช่วงต้นเดือนก.ค. 2565 ที่ผ่านมา ล่าสุดกระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการเก็บเงินจากกลุ่มผู้ใช้เบนซินเพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องให้กับสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ซึ่งจะส่งผลให้ราคาขายหน้าปั๊มน้ำมันจะไม่ลดลงตามกลไกตลาด
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับลดลง และแนวโน้มหากราคาน้ำมันโลกมีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง กระทรวงพลังงานมีแนวทางที่จะพิจารณาเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเข้าบัญชีกองทุนน้ำมันเพิ่มอีก เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมัน จากปัจจุบันกองทุนน้ำมันติดลบกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ราคาลดลงอีกไม่มากนัก
ทั้งนี้ มองว่ากลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซินมีปริมาณที่น้อยมากหากเทียบกับกลุ่มที่ใช้น้ำมันดีเซล รัฐบาลจึงมุ่งเป้าหามาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้น้ำมันดีเซลมากเป็นพิเศษที่ปัจจุบันมียอดการใช้งานวันละประมาณ 66 ล้านลิตร ส่วนกลุ่มเบนซินที่มียอดใช้อยู่ที่วันละ 34 ล้านลิตร อีกทั้ง กลุ่มผู้ใช้น้ำมันดีเซล ยังเป็นกลุ่มผู้ประกอบการขนส่ง รถบรรทุก ฯลฯ ที่จะได้รับผลกระทบตามมาในเรื่องของค่าขนส่งและราคาสินค้าที่อาจจะต้องปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศล่าสุด ที่ลดลงลิตรละ 3 บาท เป็นไปตามกลไกตลาดโลก เพราะนักลงทุนมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวกระทบดีมานด์น้ำมัน ประกอบกับประเทศจีนล็อกดาวน์ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายเมือง ทำให้ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ลดต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลยังไม่ปรับลดราคา เนื่องจากกองทุนน้ำมัน ยังอุดหนุนลิตรละ 5.56 บาท คิดเป็นวันละ 373 ล้านบาท อุดหนุนแอลพีจีวันละ 45 ล้านบาท ส่วนความคืบหน้าเรื่องการกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง และการเจรจาโรงกลั่นเพื่อหาเงินเข้ามาเสริมสภาพคล่องของกองทุนนั้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนก.ค. 2565
นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ยอมรับว่าในช่วงนี้เงินบาทอ่อนค่าค่อนข้างมากกว่า 36 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งการอ่อนค่าของเงินบาททุก 1 บาท ส่งผลให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น 20 สตางค์ แต่การปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในประเทศลงลิตรละ 3 บาท มีผลวันที่ 3 ก.ค.2565 เวลา 05.00 น. เป็นผลจากทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลกปรับลดลงต่อเนื่อง จากความกังวลภาวะเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยทั่วโลก เห็นได้จากราคาน้ำมันเบนซินตลาดสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2565 อยู่ที่ 129 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลงจากเทียบกับวันที่ 30 มิ.ย.2565 อยู่ที่ 149.53 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
สำหรับโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทย แบ่งการจัดเก็บน้ำมันดีเซลและเบนซินแต่ละลิตร ประกอบด้วย
น้ำมันดีเซล B7 แบ่งเป็นราคาโรงกลั่นอยู่ที่ 32.82 บาท, ภาษีสรรพสามิต 1.3 บาท, ภาษีเทศบาล 0.13 บาท กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง -5.56 บาท, กองทุนอนุรักษ์พลังงาน 0.005 บาท, ราคาขายส่ง 28.74 บาท, ค่าการตลาด 3.90 บาท รวมราคาขายอยู่ที่ลิตรละ 34.94 บาท
น้ำมันเบนซิน 91 ราคาโรงกลั่นอยู่ที่ 27.12 บาท, ภาษีสรรพสามิต 5.85 บาท, ภาษีเทศบาล 0.58 บาท กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 0.09 บาท, กองทุนอนุรักษ์พลังงาน 0.005 บาท, ราคาขายส่ง 33.65 บาท, ค่าการตลาด 4.92 บาท รวมราคาขายอยู่ที่ลิตรละ 41.28 บาท ทั้งนี้ ส่งผลให้ผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินต้องจ่ายค่าน้ำมันสูงกว่ากลุ่มดีเซลมากกว่าที่ระดับลิตรละ 6 บาท
สำหรับประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงวันที่ 3 กรกฎาคม 2565 ติดลบ 107,601 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 69,718 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 37,883 ล้านบาท ส่วนกระแสเงินสดอยู่ที่ 3,663 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินฝากบัญชีธนาคาร 163 ล้านบาท เงินฝากที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง 3,500 ล้านบาท