“ทีเอชเอ” ชี้วิกฤติโควิด 2 ปีเผากำไร ธุรกิจ “โรงแรม” ไม่พร้อมเสียภาษี!
“สมาคมโรงแรมไทย” ชี้ธุรกิจโรงแรมไม่พร้อมเสียภาษี หลังวิกฤติโควิด-19 ลากยาวกว่า 2 ปี เผารายได้จนขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถทำกำไรได้ วอนรัฐขยายเวลาชำระ “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” เรียกเก็บในปี 2565 พิจารณาให้ผ่อนชำระ 10 งวด โดยไม่คิดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า สำหรับการจัดเก็บภาษีสำหรับปีภาษี พ.ศ. 2565 ที่ 100% โดยไม่ได้ปรับลดลงแต่อย่างใด ธุรกิจโรงแรมมีความกังวลมาก “ไม่พร้อมเสียภาษี” เนื่องจากขาดรายได้ช่วงวิกฤตโควิด-19 ยาวถึง 2 ปี และยังคงขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถสร้างผลกำไรได้
เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในครั้งนี้ ขอให้รัฐบาลขยายเวลาชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เรียกเก็บในปี 2565 โดยขอพิจารณาผ่อนชำระ 10 งวด โดยไม่คิดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม
และพิจารณาจัดเก็บภาษีแบบขั้นบันได ปี 2566 ลดหย่อน 75% ปี 2567 ลดหย่อน 50% และปี 2568 ลดหย่อน 25% ตามลำดับ สำหรับภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม
พร้อมกันนี้ การที่กรมธนารักษ์ประกาศบังคับใช้บัญชีราคาประเมินที่ดินใหม่รอบปี 66-69 ปรับขึ้นเฉลี่ย 8% (ของกรมธนารักษ์) นั้น ภาคธุรกิจโรงแรมยังไม่ฟื้นจากขาดทุนระยะยาวทำให้หนี้เพิ่ม ต้นทุนดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น พร้อมกับต้นทุนเงินเฟ้อต่างๆ ที่ต้องใช้เวลาฟื้นอีกอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งสวนทางกับสถานภาพธุรกิจท่องเที่ยว
“สมาคมฯจึงขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล เพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติเป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อเป็นการช่วยเหลือพยุงผู้ประกอบการโรงแรมให้คุ้มต้นทุน ทำธุรกิจเข้มแข็งขึ้น สร้างเสถียรภาพการจ้างงาน ให้ผู้ประกอบการจะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการจ่ายภาษีรายได้คืนให้กับรัฐบาล”
นางมาริสา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม เดือน มิ.ย.2565 จัดโดยสมาคมโรงแรมไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำรวจระหว่างวันที่ 13-26 มิ.ย.ที่ผ่านมา จากผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 137 แห่ง (รวมโรงแรมที่เป็น AQ, Hospitel และ Hotel Isolation) พบว่า มาตรการช่วยเหลือที่โรงแรมส่วนใหญ่ต้องการจากภาครัฐ มีดังนี้
1. มาตรการช่วยเหลือด้านต้นทุน โดยเฉพาะค่าสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า-ประปา) และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่เป็นภาระค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงมาก จึงอยากให้มีการขยายเวลาเรียกเก็บ หรือตรึงอัตราเดิมในช่วงโควิดไว้อย่างน้อยถึงสิ้นปี 2565 รวมถึงต้องการมาตรการอื่น ๆ เช่น ลดหย่อนภาษีบำรุงท้องถิ่นและภาษีมูลค่าเพิ่ม ลดเงินสมทบประกันสังคม และควบคุมราคาสินค้า
2. มาตรการช่วยเหลือทางการเงิน เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับปรับปรุงห้องพัก และพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย
3. มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยให้ภาครัฐส่งเสริมการท่องเที่ยวท้องถิ่นควบคู่ไปกับการปรับปรุงทัศนียภาพ และสนับสนุนประชุมสัมมนา โดยเฉพาะโรงแรมขนาดกลาง-เล็กที่แข่งขันได้ยากกว่า รวมถึงมีนโยบายที่ชัดเจนสำหรับการเข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟสใหม่สำหรับโรงแรมที่ไม่เคยเข้าร่วมโครงการ