ส่องศักยภาพ “แร่โปแตช” ไทย รัฐอุดหนุนเอกชนทำเหมือง หวังลดนำเข้าปุ๋ย
Climate Change และราคาปุ๋ยที่สูงขึ้นในช่วงสงคราม กำลังส่งผลต่อวิกฤติความมั่นคงทางอาหารและภาวะอดอยากทั่วโลกที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากการลดปริมาณปุ๋ยทำให้ผลผลิตการเกษตรที่เป็นวัตถุดิบอาหารมีปริมาณลดลงตาม ซึ่งขณะนี้มีกว่า 30 ประเทศที่ออกมาประกาศงดส่งออกวัตถุดิบ
นอกจากนี้ปุ๋ยซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการรักษาคุณภาพและปริมาณผลผลิตการเกษตรยังไม่มีทีท่าจะคลี่คลายในเร็วๆนี้ ทำให้มีแนวโน้มว่าวิกฤติดังกล่าวจะส่งผลต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปี
ปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศมากกว่า 95% หรือปีละประมาณ 4 ล้านตัน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่ราคาปุ๋ยในตลาดโลกมีราคาแพง ผู้ประกอบการต้องมีการบริหารความเสี่ยง โดยการหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ วางแผนทำสัญญาระยะยาวเพื่อซื้อวัตถุดิบ รวมถึงการปรับปรุงสูตรโดยใช้วัตถุดิบในประเทศมากขึ้นเพื่อลดต้นทุน
โครงการทำเหมืองแร่โพแทชในไทยจึงได้รับความสนใจอีกครั้ง และมองว่าเป็นแนวทางการแก้ปัญหาวิกฤติปุ๋ยแพงทั้งยังช่วยเพิ่มความสามารถในการต่อรองในการซื้อขายกับต่างประเทศ และรักษาศักยภาพตำแหน่งครัวโลกของไทยได้ในระยะยาว โดยเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยขั้นตอนจากนี้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จะไปเร่งออกประทานบัตร
ทั้งนี้ จากการสำรวจแร่ในไทยที่ผ่านมาพบว่ามีศักยภาพในการผลิตโพแทสเซียมสูงมาก คาดว่าไทยมีสำรองแร่โพแทชสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลกอยู่ที่ 4 แสนล้านตัน รองจากแคนาดา เบลารุส และเยอรมนี ซึ่งสามารถพบแหล่งแร่โพแทซขนาดใหญ่ได้ใน 2 แหล่ง คือ แอ่งสกลนคร ประกอบด้วย จ.สกลนคร จ.หนองคาย จ.อุดรธานีและจ.นครพนม และแอ่งโคราช ประกอบด้วย จ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์ จ.มหาสารคาม จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธรจ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ จ.นครราชสีมา และจ.ชัยภูมิ
รายงานจากกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เผยว่า มีผู้ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โพแทชจำนวน 3 ราย ซึ่งได้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่แวดล้อม (EIA) และผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ (ทส.)
ได้แก่ บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) จ.ชัยภูมิ เนื้อที่ 9,707 ไร่ กำลังการผลิต 1.1 ล้านตันต่อปี, บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่จ.อุดรธานี เนื้อที่ 26,446 ไร่ กำลังผลิต 2 ล้านตันต่อปี และบริษัท ไทยคาลิ จำกัด จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 9,005 ไร่ กำลังผลิต 1 แสนตันต่อปี
อีกทั้ง มีผู้ยื่นคำขอขยายอายุอาชญาบัตรพิเศษสำรวจเหมืองแร่โพแทช 1 ราย คือ บริษัท หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด โดยบริษัทเคยได้รับอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โพแทชจำนวน 12 คำขอ เนื้อที่ 116,875 ไร่
สำหรับขั้นตอนการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ใต้ดินตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การดำเนินการคำขอประทานบัตรในพื้นที่ ขั้นตอนที่ 2 การพิจารณาอนุญาตประทานบัตรของกระทรวงอุตสาหกรรม และขั้นตอนที่ 3 การอนุญาตให้เปิดการทำเหมือง
โดยมี 2 บริษัทที่มีความพร้อมในการเตรียมเปิดการทำเหมือง ได้แก่ บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด มหาชนและ บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ซึ่งได้ปิดประกาศตาม พ.ร.บ.แร่ 2510 โดยไม่มีการร้องเรียนคัดค้าน และมีการนำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งไม่มีเสียงคัดค้านรวมทั้งได้ลงพื้นที่ชี้แจงประชาชนแล้ว
แต่ทั้งสองบริษัทยังติดปัญหาไม่สามารถระดมทุนเพื่อประกอบกิจการได้ตามแผนที่กำหนด ซึ่งทางเอกชนออกความเห็นว่ารัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่าเห็นด้วยและต้องการสนับสนุนโครงการดังกล่าว เพื่อให้เกิดการลงทุนได้เร็ว ส่วนอีกแห่งพบแหล่งน้ำใต้ดินจึงไม่สามารถดำเนินงานต่อได้ ซึ่งจากการสำรวจแร่ถือว่าเป็นพื้นที่มีแร่โพแทชคุณภาพต่ำ โดยมีสัดส่วนแร่ 1 ส่วน ต่อเกลือ 6 ส่วน
ขณะที่ บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด อยู่ระหว่างการดำเนินการในขั้นตอนที่ 1 สำรวจพบสัดส่วนแร่ 1 ส่วน ต่อเกลือ 2 ส่วน และถือเป็นโครงการที่มีกำลังการผลิตสูงสุดในจำนวนคำขอทั้งหมด ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมรายงานว่าโครงการเหมืองแร่ดังกล่าวที่จังหวัดอุดรธานี มีการร้องเรียนคัดค้านในขั้นตอนการขอประทานบัตรในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับประเด็นสำคัญ ได้แก่ การทรุดตัวของผิวดินจากการทำเหมือง ปัญหาดินเค็ม น้ำเค็ม ฝุ่นเกลือ และกองเกลือบนผิวดิน
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้มีการจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและส่วนราชการตามขั้นตอนของพ.ร.บ.แร่ 2510 พ.ร.บ.แร่ 2560 และมติคณะรัฐมนตรี รวมทั้งได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งโครงการดังกล่าวถือเป็นความพยายามล่าสุดของรัฐบาลในการพึ่งพาตนเองในทางเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติซัพพลายขาดแคลนและต้นทุนวัตถุดิบแพง เพื่อลดการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศในระยะยาว