นักวิชาการแนะ ‘มองรอบด้าน’ ดีลทรู-ดีแทค
นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ และการเมืองให้มุมมอง ต่อกรณีการควบรวมทรู กับ ดีแทคในประเทศไทย เชื่อว่าจะส่งผลต่อสร้างอำนาจอธิปไตยทางด้านเทคโนโลยี
เพราะโทรคมนาคมคือโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ มีผลสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 จำเป็นที่ต้องมีบริษัทไทยที่เป็น Tech Company ที่มีขนาดใหญ่เพียงพอให้เกิดการแข่งขันได้
“ไทยมีหน่วยกำกับดูแลและคุ้มครองผู้บริโภค คือ กสทช.และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ผมมองว่าการผูกขาดไม่ใช่แค่จำนวนผู้ประกอบการ เพราะอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต้องลงทุนสูงจึงมีน้อยราย แต่สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณา คือ การบิดเบือนตลาดที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ทั้งนี้เพราะดัชนี HHI การกระจุกตัวไม่ใช่การมีอำนาจเหนือตลาด”
การควบรวมกิจการนั้น ไม่ใช่ว่าไม่ดี เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือการผนึกกำลังจะทำให้เกิด Economies of scale นำไปสู่การพัฒนาธุรกิจใหม่และบริการที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการขยายโครงข่าย 5จีอาจนำไปสู่การลดราคาค่าบริการ ขณะเดียวกันยังสนับสนุน New S-Curve ที่เน้นใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงกลุ่มเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัป
“ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาการควบรวมระหว่างทรูและดีแทค จึงต้องรอบคอบและมองให้รอบด้านทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และทางการเมืองระหว่างประเทศว่าหากเกิด Tech Company สัญชาติไทยที่เข้มแข็ง ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างไร”