กองทุนรวมไทย ครึ่งปีแรก65 เงินออก 2 แสนล. เหตุนักลงทุนลดเสี่ยง เงินเฟ้อพุ่ง
"มอร์นิ่งสตาร์" เผยเงินเฟ้อพุ่งทั่วโลก ฉุด AUM กองทุนรวมไทยไตรมาส 2/65 ลดลง 9% แตะ 4.9 ล้านล้านบาท และครึ่งปีแรกมีเงินไหลออกแล้ว 2 แสนล้านบาท เหตุนักลงทุนยังคงลดความเสี่ยง
นางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า สำหรับภาพรวมกองทุนรวมไตรมาส 2/2565 มีมูลค่าทรัพย์สินรวม (AUM) 4.9 ล้านล้านบาท หดตัว 6.3%จากไตรมาสก่อนหน้า และหดตัว 9% จากสิ้นปี 2564
ขณะที่กองทุนรวมไทย ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund มีมูลค่าทรัพย์สินรวม (AUM) 3.8 ล้านล้านบาท หดตัว 7.0% จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 10.8% จากสิ้นปี 2564
ทำให้ไตรมาสนี้มีเงินไหลออกสุทธิต่อเนื่องอีก 1.2 แสนล้านบาท รวมเงินไหลออกสุทธิสะสมในรอบครึ่งปีแรกแตะ 2 แสนล้านบาท สาเหตุจากไตรมาส 2 ที่ผ่านมานี้ การลงทุนทั่วโลกให้ความสำคัญกับปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูง
นางสาวชญานี กล่าวว่า ภาพรวมนักลงทุนยังคงลดความเสี่ยง โดยลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำสุด เห็นได้จากกองทุน money market ที่มีเงินไหลเข้าสูงต่อเนื่อง รวมเป็นเงินไหลเข้าสุทธิรอบครึ่งปีแรก 5.9 หมื่นล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้น 9.7% จากสิ้นปีที่แล้ว เงินไหลออกจากกองทุนตราสารหนี้มากขึ้นรวมครึ่งปี 2.3 แสนล้านบาท
ทางกลับกันกองทุนตราสารหนี้ยังมีเงินไหลออกสุทธิต่อเนื่องอีก 1.4 แสนล้านบาท จากทิศทางดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น และผลตอบแทนที่เฉลี่ยติดลบของแต่ละกลุ่ม รวมครึ่งปีแรกเงินไหลออกสุทธิจากกองทุนตราสารหนี้ 2.3 แสนล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลง 15.2% จากสิ้นปีที่แล้วไปอยู่ที่ระดับ 1.3 ล้านล้านบาท
ในส่วนกองทุนหุ้นไทย (ไม่รวมLTF RMF SSF) เริ่มกลับมามีเงินไหลเข้าสุทธิ หลังมีเงินไหลออกต่อเนื่องกว่า 2 ปี ไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลเข้า 800 ล้านบาท รวมสะสมครึ่งปีแรกยังเป็นเงินไหลออกสุทธิ 3.1 พันล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินลดลง 5.8% จากสิ้นปี 2564 ไปอยู่ที่ 2.2 แสนล้านบาท
ส่วนกองทุนเพื่อการออม(SSF)มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลง 7% จากสิ้นปี 2564 หดตัว 6.1% จากไตรมาสแรกของปีอยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านบาท มีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.5 พันล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ 1.3 พันล้านบาท ทำให้โดยรวมยังมีเงินไหลเข้าสุทธิที่สูงกว่าปีที่แล้ว แต่ผลตอบแทนจากการลงทุนยังกดดันให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิหดตัวลง
“มองว่า หากตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงแรงอีกรอบ มีโอกาสที่นักลงทุนนำเงินเข้ากองทุนเพื่อการออม (SSF) มากกว่ากองหุ้นไทย ด้วยการถือครองระยะยาว 10 ปี ทำให้ช่วงที่ตลาดลงแรงเป็นจุดที่น่าสนใจเข้าลงทุน อย่างไรก็ตาม เงิน SSF ที่เข้ามาเพิ่มขึ้นไม่มีผลต่อหุ้นไทยนัก เพราะกระจายลงทุนไปยังตลาดหุ้นต่างประเทศด้วย ไม่เหมือน LTF ที่เน้นหุ้นไทย แต่ทั้งปี 64 SSF มีโอกาสโตกว่าช่วงปีที่ผ่านมา ยังคงต้องติดตามการขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. เฟด และค่าเงิน อย่างใกล้ชิด ส่วนกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หากไตรมาส 3 ยังมีเงินเข้าต่อเนื่อง ทั้งปีนี้จะเห็นเงินก้อนใหญ่จาก RMF ได้เช่นกัน”
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์