"แบงก์ใหญ่" กำไรแกร่ง "ดอกเบี้ยขาขึ้น" เพิ่มอัพไซด์
หักปากกาเซียนทั่วโลก! หลังตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดของสหรัฐเดือน มิ.ย. พุ่งแรงติดจรวด 9.1% ทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ในรอบ 40 ปี สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 8.8%
และเพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค. อยู่ที่ 8.6% หลังราคาพลังงาน อาหาร รวมถึงราคาที่อยู่อาศัยในสหรัฐยังปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเงินเฟ้อพุ่งแรงทำให้บรรดานักวิเคราะห์เริ่มปรับมุมมองทันทีต่อการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ในช่วงปลายเดือนนี้
ซึ่งเดิมคาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 แต่เมื่อเงินเฟ้อออกมาเกินคาด จึงมองว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยถึง 1% ในการประชุมรอบนี้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มเป็น 2.75% จากปัจจุบันที่ 1.75%
โดยก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่เฟดคาดว่าสิ้นปี 2565 ดอกเบี้ยจะแตะ 3.4% หรือ จะต้องขึ้นดอกเบี้ยอีก 1.75% ในการประชุม 4 ครั้งที่เหลือของปี และภายในสิ้นปี 2566 ดอกเบี้ยจะเพิ่มเป็น 3.8% และจะกลับมาอยู่ที่ระดับ 3.4% ในสิ้นปี 2567
หันกลับมาที่ประเทศไทยต้องเตรียมตัวรับ “ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น” เช่นกัน ยิ่งหากสหรัฐติดสปีดขึ้นดอกเบี้ย เราคงไม่สามารถสวนกระแสได้อีก ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. เริ่มมีสัญญาณออกมาแล้ว หลังมีคณะกรรมการ 3 ใน 7 เสียง ยกมือโหวตให้ขึ้นดอกเบี้ย
ดังนั้น ในการประชุมรอบถัดไป 10 ส.ค. นี้ ตลาดจึงมั่นใจว่า กนง. ต้องขึ้นดอกเบี้ยแน่นอน แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ จะขึ้นเท่าไหร่? เพราะเดิมมองกันว่าน่าจะขึ้น 0.25% จากปัจจุบันที่ 0.50% เป็น 0.75% แต่เมื่อเงินเฟ้อสหรัฐพุ่งแรงเกินคาด และมีโอกาสสูงที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยถึง 1% ในการประชุมวันที่ 26-27 ก.ค. นี้ ทำให้ตลาดต้องปรับมุมมองเป็นการด่วน
โดยมองว่า กนง. ต้องคุมเข้มนโยบายการเงินมากขึ้น การขึ้นดอกเบี้ย 0.25% อาจไม่เพียงพอ โดยมีความเป็นไปได้ที่จะขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.50% ในการประชุมเดือน ส.ค. นี้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยขยับเป็น 1% เพื่อสกัดเงินทุนไหลออก
“ดอกเบี้ยขาขึ้น” กดดันบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก เพราะเมื่อขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดึงเงินเฟ้อลงมาจะทำให้เศรษฐกิจชะลอความร้อนแรงตามไปด้วย ขณะที่ในแง่การทำธุรกิจการขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น
แต่ขณะเดียวกันมีธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น นำโดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์เพราะจะสามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยอิงไปตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งโดยปกติมักจะขึ้นดอกเบี้ยทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
ดังนั้น “ธีมดอกเบี้ยขาขึ้น” จะเป็นแรงหนุนสำคัญต่อผลประกอบการกลุ่มแบงก์ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยบล.กสิกรไทย ประเมินว่าหาก กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายทุกๆ 0.25% จะเป็นอัพไซด์บวกต่อกำไรกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ปี 2566 ทั้งธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารกรุงไทย (KTB) และบมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB) ราวๆ +7%
ส่วนธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) +5% ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) และธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) คาดอัพไซด์เพิ่มขึ้น +1%
ขณะที่ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูประกาศผลประกอบการของกลุ่มแบงก์ประจำไตรมาส 2 ปี 2565 ถือเป็นอีกหนึ่งสตอรี่ช่วยดันราคาหุ้น แม้หากอิงข้อมูลจาก Bloomberg Consensus คาดว่า 8 ธนาคารที่ศึกษาจะมีกำไรสุทธิรวมกัน 49,161 ล้านบาท ลดลง 4.5% จากไตรมาสก่อน และลดลง 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเจาะเป็นรายตัวยังสามารถเข้าเก็งกำไรได้ โดยเฉพาะแบงก์ใหญ่ที่กำไรยังเติบโตแข็งแกร่ง
โดยบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ประเมินว่าธนาคารที่ฝ่ายวิจัยทำการศึกษาจะมีกำไรสุทธิในไตรมาส 2 ปี 2565 รวม 4.14 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 7% จากไตรมาสก่อน โดยธนาคารกรุงเทพ (BBL) และธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิต (ECL) ลดลง และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนตามการเติบโตของรายได้
ด้านธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) กำไรสุทธิจะเติบโตมากที่สุดในกลุ่ม 34% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NII) ที่สูงขึ้น ตามการขยายตัวของสินเชื่อเติบโตและการตั้งสำรอง ECL ที่ลดลง