ยุคเปลี่ยนผ่าน ”การบิน” หลังโควิด ปั้น ”อู่ตะเภา” เมืองศูนย์กลางภูมิภาค
อุตสาหกรรมการบินเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่อยู่ในใจกลางมรสุมเศรษฐกิจตั้งแต่ “วิกฤติโควิด-19” ที่ทำให้การเดินทางทั่วโลกต้องหยุดชะงัก ตามมาด้วยวิกฤติสงครมรัสเซีย-ยูเครน
ซึ่งวิกฤติดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเนื่องหลายด้าน อาทิ การปิดน่านฟ้ารัสเซียและการคว่ำบาตร ราคาพลังงานและสินแร่ธรรมชาติบางชนิดที่พุ่งสูงขึ้น ภาวะเงินเฟ้อที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ รวมถึงการดิสรัปชั่นของเทคโนโลยีที่จะเป็นทั้งอุปสรรคและโอกาสให้กับอุตสาหกรรมการบิน
นายปิแอร์ จาฟเฟร่ ที่ปรึกษาพิเศษด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) อดีตที่ปรึกษาด้านการค้าต่างประเทศแห่งฝรั่งเศส, ประธานคณะกรรมการการบินหอการค้าฝรั่งเสศ และประธานบริหารแอร์บัส ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่า อุตสาหกรรมการบินกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายที่สำคัญ 5 ข้อ ประกอบด้วย
1.ความยั่งยืน เป็นแนวปฎิบัติที่ทุกอุตสาหกรรมจำเป็นต้องยึดถือและตั้งเป้าหมายการดำเนินงานด้วยการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม สู่การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
2.การผลิต กระบวนการผลิตแบบเดิมไม่สามารถตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจยุคนิวนอร์มอลได้ จึงต้องมีการปรับตัวตลอดทั้งซัพพลายเชน
3.การปฏิบัติการ จะมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเชื่อมโยงการบริการและการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
4.เมืองศูนย์กลางการบินและโลจิสติกส์ จะเป็นแนวทางการพัฒนาเมืองที่สำคัญเพื่อเชื่อมต่อการค้าการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่กับการธุรกิจการบิน
5.ความคาดหวังของผู้บริโภค ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคในอนาคตที่ต้องการเชื่อมต่อการเดินทางและการค้ากับทั่วโลก
ทั้งนี้ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้มีการวางแผนเพื่อรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นด้วยการส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และการกำหนดเขตส่งเสริมกิจการพิเศษ 7 แห่งในอีอีซี ซึ่งมีส่วนในการสนับสนุนอุตสาหกรรมการบิน อาทิ เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลประเทศไทย (EECd) ซึ่งจะเป็นสนามทดลองนวัตกรรมดิจิทัล เช่น การทดสอบต้นแบบอุปกรณ์และระบบซอฟต์แวร์ในสภาพแวดล้อมจริงก่อนนำไปใช้งานระบบจำลองการบินแบบ Digital Twin การเก็บรวบรวมข้อมูลดิจิทัลที่สำคัญของอุตสาหกรรมการบินเพื่อการต่อยอดและพัฒนาเทคโนโลยีการบิน และเป็นแล็ปทดสอบการประกอบยานอวกาศที่สำคัญ
เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ที่จะเป็นแพลทฟอร์มสนับสนุนอุตสาหกรรมมุ่งเป้า ได้แก่เมืองนวัตกรรมชีวภาพ (EECi BIOPOLIS) เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (EECi ARIPOLIS) เมืองนวัตกรรมอาหาร (FOOD INNOPOLIS) และเมืองนวัตกรรมการบินและอวกาศ (SPACE INNOPOLIS)
รวมถึงกำหนดทิศทางการพัฒนาให้ในรัศมี 30 กิโลเมตรสนามบินอู่ตะเภาเป็นเมืองศูนย์กลางการบินหรือ Aerotropolis เพื่อให้เกิดการพัฒนาเป็นสนามบินที่ทันสมัยเชื่อมต่อการค้า การขนส่ง และการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเกี่ยวกับการบินและอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S Curve) ที่ต้องการความสะดวกจากการคมนาคมขนส่ง อาทิ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจด้านข้อมูลและอุปกรณ์ไอที ธุรกิจอวกาศ และธุรกิจการแพทย์ขั้นสูง
สำหรับความคืบหน้าของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยการลงทุนส่วนภาครัฐนั้น กองทัพเรือออกแบบทางวิ่งที่ 2 เสร็จเรียบร้อย งานปรับถมดินลานจอดศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานแล้วเสร็จ 100% และงานปรับถมดินทางวิ่งที่ 2 ก้าวหน้าเกิน 80% และเอกชนคู่สัญญาเข้าพื้นที่เพื่อสำรวจและเตรียมก่อสร้างแล้วตามแผนงาน ในส่วนของรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติผ่านครบถ้วนทุกขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว
โดยการก่อสร้างระยะที่ 1 คาดว่าเสร็จปี 2568 ซึ่งคาดว่าจะพัฒนาโครงการได้ตามแผนสอดคล้องกับการฟื้นตัวของธุรกิจการบินทั่วโลก ที่คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องหลังจากนี้ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย โดยรัฐบาลเตรียมผลักดันโครงการสำคัญในอีอีซี 2 โครงการให้สู่การเริ่มต้นก่อสร้าง และทั้ง 2 โครงการมีกำหนดเสร็จในปี2568-2569
รายงานข่าวจาก สกพอ.ระบุว่า ที่ผ่านมาได้มีการกำหนดสิทธิประโยชน์ 10 ปี แรกให้โครงการเมืองการบินภาคตะวันออกเพื่อเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ Special Economic Zone เทียบเท่าสนามบินชั้นนำใน สิงคโปร์ดูไบ และฮ่องกงซึ่งจะมีการสนับสนุนการเป็นเมืองท่องเที่ยวและธุรกิจ 24 ชั่วโมงเป็นเขตปลอดอากรและสรรพสามิต รวมทั้งภาษีสรรพากรในบางกรณี รวมทั้งจะมีการสนับสนุนด้านการออก VISA และใบอนุญาตการทำงานในลักษณะ 5+5 หรือวีซ่าระยะยาว (LTR) สำหรับผู้ทำงานและนักลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก โดยสำนักงานอีอีซีจะมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาอำนวยความสะดวกในส่วนนี้ให้
ทั้งนี้การจัดสิทธิประโยชน์ที่มีความชัดเจน จะทำให้การพัฒนาพื้นที่ Special Economic Zone ในระยะที่ 1 ในพื้นที่1,400 ไร่ สามารถดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนใน 5 ธุรกิจที่มีการกำหนดไว้ ได้แก่
1.โรงแรม ที่พักอาศัย ที่ประชุม ที่ทำงาน ที่จะเปิดรองรับให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง 2.ห้างสรรพสินค้า และ Duty Free ที่เปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง
3.พื้นที่กิจกรรมสันทนาการแบบเบา เช่น ร้านอาหารที่มีบริการขายเครื่องดื่ม ซึ่งรวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งจะมีร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ไม่ต่ำกว่า 10 ร้าน ที่จะมาเปิดให้บริการ
4.ศูนย์แสดงศิลปกรรม พิพิธภัณฑ์ การแสดงงานศิลปะ และการซื้อขายงานศิลปะ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุน 5.อาคารที่อยู่อาศัย คอนโด สำหรับนักธุรกิจ นักลงทุน พนักงานที่เข้ามาลงทุนหรือทำงานในพื้นที่