‘พิคเต้ แอสเซท แมเนจเมนท์’ เผย ธุรกิจ 'ซีเคียวริตี้' เป็นการลงทุนที่ยั่งยืน
‘พิคเต้ แอสเซท แมเนจเมนท์’ เผย ธุรกิจ 'ซีเคียวริตี้' เป็นการลงทุนที่ยั่งยืน ด้วยมูลค่าโลกที่สูงถึง 5 แสนล้านดอลลาร์ ครอบคลุมความปลอดภัยทุกด้าน โตราว 10% ต่อปี โต กว่าจีดีพีโลก 2-3 เท่า รวมทั้งสถานการณ์โควิด-19 และสงครามยูเครน-รัสเซีย หนุนการลงทุนในอนาคต
นางอันจาลี บาสเตียนพิลไล ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ระดับอาวุโส ซึ่งดูแลกลยุทธ์ด้านโรโบติคส์ ซีเคียวริตี้ และดิจิทัล บริษัท พิคเต้ แอสเซท แมเนจเมนท์ ที่มาเยือนประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้ เผยกับทางกรุงเทพธุรกิจ ว่า ธีมการลงทุนด้านซีเคียวริตี้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนชาวไทย
เนื่องจากกำลังเป็นกระแสการลงทุนทั่วโลก การติดตั้งโซลูชันด้านความปลอดภัยนั้น ได้รับการขับเคลื่อนจากปัจจัยผลักดันการเติบโตเชิงโครงสร้างในระยะยาวที่สามารถคาดการณ์ได้ เช่น นวัตกรรม การขยายตัวของเมือง และการกำกับดูแลที่เข้มงวด ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบคลาวด์, 5G, อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) และการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI อย่าง Deep Learning และ Machine Learning ที่เพิ่มขึ้น
รวมถึงข้อมูลจำนวนมหาศาลที่มีอยู่ในระบบดิจิทัล ล้วนเป็นปัจจัยขับเคลื่อนธีมด้านความปลอดภัยทั้งสิ้น การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลยิ่งเปิดโอกาสให้เกิดการโจมตีข้อมูลของบริษัท รัฐบาล หรือปัจเจกบุคคลได้มากขึ้น ตั้งแต่มัลแวร์เรียกค่าไถ่ (Ransomware) ไปจนถึงความปลอดภัยส่วนบุคคล
นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และยูเครน ก็ยิ่งทำให้คนตื่นตัวในเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล การเปลี่ยนผ่านทางสถาปัตยกรรมไปสู่รูปแบบการทำงานแบบไฮบริด ที่สามารถทำงานได้จากทุกที่ และบริษัทองค์กรต่างๆ ที่ต้องดำเนินธุรกิจบนแพลตฟอร์มคลาวด์หลายๆ แพลตฟอร์ม ทำให้ต้องการโซลูชันด้านความปลอดภัยแบบใหม่ และมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เคย
ส่วนรายได้ในกลุ่มซีเคียวริตี้ในประเทศไทยในปี 2565 นั้น คาดว่าจะเพิ่มขึ้นแตะ 752.6 ล้านบาท (หรือ 21.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือมีคาดการณ์การเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีอยู่ที่ 21.18% ในราวปี 2569
เนื่องจากมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการโจรกรรมทางไซเบอร์ทั่วโลกนั้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ยิ่งข้อมูลมีความปลอดภัยสูงมากเท่าใด ค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาข้อมูลก็จะยิ่งแพงขึ้นเท่านั้น
โดยข้อมูลของเรามีอยู่ทุกที่ในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น โทรศัพท์มือถือ กล้องวงจรปิด การทำธุรกรรม และความปลอดภัยในทุกเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งหมายความว่าการลงทุนในบริษัทไซเบอร์ซีเคียวริตี้นั้นจะมีความยั่งยืนในแง่ของผู้ใช้บริการในทุกกลุ่มธุรกิจ
หากบริษัทถูกโจรกรรมข้อมูลจะมีความเสียหายทั้งในแง่ของค่าไถ่ข้อมูล และความเชื่อมั่นในชื่อเสียงของบริษัท ซึ่งมีความสำคัญมากต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มด้านเทคโนโลยี ดังนั้นบริษัทควรคำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูลให้มากพอๆ กับการเติบโตของธุรกิจ
“ในประเทศไทย เช่นโรงแรมหรูแห่งหนึ่งมีรายงานการรั่วไหลของข้อมูลในปี 2564 โดยถูกแฮ็กไฟล์ข้อมูลขนาด 400 GB ในช่วงเวลา 10 วัน รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าที่มาพักในโรงแรม 70 แห่งในเครือระหว่างปี 2546 – 2564 ซึ่งข้อมูลที่รั่วไหลไปนั้นรวมถึงหมายเลขพาสปอร์ต และเลขประจำตัวประชาชน หรือแม้แต่ข้อมูลของผู้ที่จองโรงแรมล่วงหน้าจนถึงเดือนธันวาคม 2564 และในบางกรณี อาจต้องจ่ายค่าไถ่ในราคาสูงด้วย” นางอันจาลี กล่าว
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ประเทศไทยมีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ สกมช. เพื่อดูแลเกี่ยวกับปัญหานี้ ซึ่งเป็นตัวเร่งให้แต่ละองค์กรในประเทศไทยต้องลงทุนในธุรกิจประเภทนี้ เพื่อป้องกันความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ และรองรับแผนธุรกิจในประเทศ ซึ่งถูกกว่าการทำกิจการเพื่อตรวจสอบเอง และรวมไปถึงสถานการณ์โควิด-19 และสงครามรัสเซีย ที่ทำให้ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยมากขึ้น
ปีที่ผ่านมา การ์ทเนอร์ บริษัทวิจัยในสหรัฐ ได้ประเมินการเติบโตของโซลูชันด้านความปลอดภัยไว้ที่ 13.2% ด้วยอัตราการเติบโตคาดการณ์ที่ 11.2% ในปี 2568 โดยมีเทคโนโลยีใหม่อย่าง AI และ แมชชีน เลิร์นนิ่ง เป็นตัวขับเคลื่อน ในช่วงระหว่างปี 2554 – 2565 อุตสาหกรรมด้านความปลอดภัยมียอดขายเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 8.3% สูงกว่าจีดีพีของโลก ซึ่งอยู่ที่ 3.8%
เมื่อเกิดภาวะสงครามยูเครน-รัสเซีย ทำให้กลุ่มนักลงทุนยิ่งให้ความสนใจมากขึ้น และมีดีมานด์ด้านความปลอดภัยของข้อมูลเพิ่มขึ้น โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การเข้าลงทุนในธีมด้านความปลอดภัยได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของตลาด Managed Security Service หรือ MSS ในประเทศไทย ซึ่งมีมูลค่าราว 8,284.28 ล้านบาท (หรือ 233.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2563 นั้น ได้รับแรงกระตุ้นจากความต้องการที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสำหรับบริการ การตรวจจับและแจ้งเตือนเมื่อเกิดปัญหาภัยคุกคาม ที่เป็นตัวขับเคลื่อนบริการต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งใช้เทคโนโลยีต่างๆ อย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือแมชชีน เลิร์นนิ่ง คาดว่าจะเป็นตัวกระตุ้นตลาด MSS ในประเทศไทยให้เติบโต
พิคเต้ แอสเซท แมเนจเมนท์ มีการลงทุนในธีมด้านความปลอดภัยมาตั้งแต่ปี 2549 และ ณ เดือนมีนาคม 2565 พิคเต้ แอสเซท แมเนจเมนท์ บริหารสินทรัพย์มูลค่าราว 9.3 ล้านล้านบาท (หรือ 262 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยได้รับอนุญาตและกำกับโดย Financial Conduct Authority (FCA) ของสหราชอาณาจักร
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์