เอกชนมั่นใจอานิสงส์เปิดประเทศดึงทัวริสต์หนุน"ธุรกิจ-เศรษฐกิจไทย"ฟื้น
ภาคธุรกิจ มั่นใจพื้นฐานเศรษฐกิจไทยแกร่ง เดินหน้ากลับสู่ขาขึ้น รับแรงบวก “เปิดประเทศ-นักท่องเที่ยว” ปลุกซัพพลายเชนเรียลเซ็กเตอร์คึกคัก ระบุทัวริสต์ทั่วโลกอั้นเดินทาง ปลุกดีมานด์พุ่ง หนุนโอกาสประเทศ ไทย
แม้สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกจะเริ่มคลี่คลาย แต่ยังคงเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งเผชิญภาวะถดถอย (Recession) อยู่ในขณะนี้เป็นที่กังวลว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเนื่องหรือไม่อย่างไร
นายพีระพงศ์ จรูญเอก นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ประเทศไทยจะไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นเดียวกับสหรัฐ เพราะจีดีพีไทยกำลังเริ่มฟื้นตัว แม้จะฟื้นช้า แต่ยังฟื้นไปได้เรื่อยๆ จาก 2% ขยับไป 3% และ 4% ยาวไปถึงไตรมาสแรกปี 2566 ประกอบกับปัญหาในประเทศไทยมีไม่มากเหมือนสหรัฐ สะท้อนได้จากผลประกอบการของเรียลเซ็กเตอร์หลังเปิดประเทศ (Re-opening) ดีขึ้นตามลำดับ
จากการประเมินสถานการณ์ครึ่งปีแรกที่ผ่านมา คาดว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปีนี้น่าจะบวกจากปีที่แล้ว 10-15% หลังผ่านสถานการณ์เลวร้ายที่มีทั้งการปิดแคมป์ ล็อกดาวน์
“ภาพรวมอสังหาฯ จากนี้ ส่งสัญญาณบวก แม้จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบ ทั้งต้นทุนและดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น แต่หากบรรยากาศใช้จ่าย กำลังซื้อดี มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย อสังหาฯ ก็ขายได้”
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังต้องบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการลดค่าดำเนินการต่างๆ เพื่อให้ “กำไร” ยังไปได้ ส่วนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น เชื่อว่าไม่มีผลมากนัก เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่า ดอกเบี้ยไม่มีผลกระทบต่อตลาดมากเท่ากับ “ความมั่นใจ” ของลูกค้า มีผลมากกว่า
"คนที่ต้องการบ้านเขาก็ซื้ออยู่ดี ไม่รอไปซื้อตอนที่ดอกเบี้ยลง ยิ่งภาวะการจ้างงานดีจะทำให้เกิดความมั่นใจว่าจะมีเงินจับจ่ายใช้สอย ก็จะซื้อทันที ฟันธงว่าธุรกิจอสังหาฯ ในครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก เพราะการรีโอเพนนิงกับการจ้างงานจะเอาชนะเงินเฟ้อ หรือภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นได้” นายพีระพงศ์ กล่าว
++ เศรษฐกิจไทยไต่ระดับฟื้นตัว
นายสมนึก ตันฑเทอดธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากสถานการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐที่ทำสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปี จนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.75% ในเดือน มิ.ย. นับเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 28 ปี ขณะเดียวกัน ตัวเลขจีดีพีรายไตรมาส ลดลง ต่อเนื่อง2 ไตรมาส ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ “ภาวะการถดถอย” นั้น น่าจะเป็นในระยะเวลาสั้น จึงไม่น่าส่งผลกระทบต่อประเทศไทย
ขณะเดียวกัน สถานการณ์เศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว แม้จะไม่โตก้าวกระโดดเหมือนอย่างที่คาดการณ์ไว้ก็ตาม เนื่องจากปัจจัยลบจากภาวะสงครามที่ยังไม่สิ้นสุดลงและมีผลต่อภาวะเงินเฟ้อ
“ไทยมีสัญญาณบวกจากมาตรการภาครัฐที่ผ่อนคลาย อาทิ การยกเลิก Test & Go ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2565 ที่ผ่านมา ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น และตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2565 มีการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยไม่ต้องกักตัว และไม่ต้องลงทะเบียน Thailand Pass ทำให้ผู้ประกอบการมีทิศทางความเชื่อมั่นทางบวกต่อธุรกิจอสังหาฯ ตามลำดับ”
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอสังหาฯ มีการจัดกิจกรรมการตลาดกระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อปลุกอารมณ์ซื้อของผู้คนให้กลับมาจับจ่ายใช้สอยตามปกติ ส่งผลให้คนที่สนใจซื้อที่อยู่อาศัยเริ่มกลับเข้ามาเยี่ยมชมโครงการมากขึ้น ส่งผลให้โอกาสการขายเพิ่มขึ้นตามมาด้วย จึงไม่คิดว่าประเทศไทยจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นเดียวกับสหรัฐ อย่างที่หลายคนรู้สึกกังวลใจ เพราะมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ยอมรับคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดได้อาจจะทำให้การเติบโตไม่หวือหวาอย่างที่ควรจะเป็น
++ ดีมานด์เที่ยวอัดอั้นปลุกเดินทางพุ่ง
นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีหลังสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ ยังเต็มไปด้วยความผันผวน คาดเดาได้ยากลำบาก เช่น ปัจจัยราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้สัดส่วนต้นทุนน้ำมันเพิ่มขึ้นจาก 40% ของค่าใช้จ่ายสายการบินทั้งหมดก่อนโควิด-19 ระบาด เป็นมากกว่า 50% ในขณะนี้ สถานการณ์เงินบาทยังอ่อนค่าไปอยู่ที่ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ ส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของสายการบิน ซึ่งส่วนใหญ่ต้องจ่ายด้วยสกุลเงินดอลลาร์
“ธุรกิจสายการบินจึงต้องปรับตัว ด้วยการติดตามสถานการณ์ต่างๆ ทั้งราคาน้ำมัน ค่าเงิน และอื่นๆ อย่างใกล้ชิด วางแผนระยะสั้นเพื่อรับมือกับปัจจัยต่างๆ ที่เต็มไปด้วยความผันผวน อย่างไรก็ตาม แม้ตอนนี้จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่หลังจากวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย นักท่องเที่ยวต่างอัดอั้นมานาน ต้องการออกเดินทาง ทำให้เกิดดีมานด์เข้ามาชดเชยเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย”
++ ยอดจ่องล่วงหน้าขยายตัวต่อเนื่อง
นางสาวอมรรัตน์ คงสวัสดิ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายขาย และรักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาด บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจสายการบินต้องเฝ้าระวังผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่เมื่อดูยอดจองตั๋วเครื่องบินล่วงหน้าในช่วงครึ่งปีหลังทั้งเส้นทางบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ พบว่ายอดจองไม่ได้นิ่ง ยังมียอดจองล่วงหน้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
จึงมองว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอย ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเดินทางท่องเที่ยวในยุคหลังโควิด-19 เนื่องจากคนถูกบีบให้อยู่กับที่มานานกว่า 2 ปี เมื่อมีโอกาสเดินทาง ก็อยากวิ่งออกจากที่เดิมๆ
“ตอนแรกที่บางกอกแอร์เวย์สกลับมาเปิดเส้นทางบิน ก็กังวลเรื่องราคาน้ำมันแพงเหมือนกัน เเต่ก็ยังสามารถเพิ่มเที่ยวบินได้ เช่น เส้นทางกรุงเทพฯ-พนมเปญ ซึ่งได้ตลาดผู้โดยสารแวะเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิไปประเทศกัมพูชา”
++ เศรษฐกิจไทยฟื้น แต่เร่งตัวไม่แรง
นางประไพภักตร์ ไวเกิล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดโกลเบิล (F&B) กลุ่มธุรกิจทีซีพี(TCP) กล่าวว่า คาดหวังแนวโน้มเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง จะฟื้นตัวขึ้น แม้ความร้อนแรงอาจไม่อยู่ในอัตราเร่งอย่างที่หลายฝ่ายต้องการเห็น แต่เชื่อว่าการเติบโตจะอยู่ในอัตราที่ดี ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนให้มีคุณภาพที่ดีได้
สำหรับปัจจัยบวกกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ ยังคงเป็นนโยบายการเปิดประเทศ ที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญ ขณะเดียวกันรัฐบาลจะมีนโยบายต่างๆออกมา ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการช่วยขับเคลื่อนการบริโภคของประชาชนให้มากขึ้นจากปัจจุบัน
++ เอ็มจี มองผลิต-ส่งออก ดันเศรษฐกิจ
นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จำหน่ายรถยนต์เอ็มจี เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทย ไม่มองว่าถดถอย แต่จะเติบโตจากปีที่ผ่านมา ซึ่งชะลอตัวไปมาก ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังคงประเมินว่า จีดีพี ไทยจะขยายตัวได้ 2.5%
การมองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวแม้จะมีปัจจัยลบหลายอย่าง แต่ก็เชื่อว่ามีปัจจัยบวกที่เข้ามาช่วยผลักดัน และปัจจัยลบหลายอย่างก็ไม่ได้รุนแรงนัก เช่น ภาวะเงินเฟ้อ ที่ต่างจากอีกหลายประเทศทั่วโลกที่กระทบค่อนข้างรุนแรง
ส่วนปัจจัยที่จะมาช่วยผลักดัน มีทั้งภาคการการผลิต_ส่งออก และภาคบริการ โดยมองว่าภาคบริการกำลังอยู่ในช่วงการค่อยๆ ฟื้นตัว ไม่ว่จะเป็นการท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรมและอื่นๆ
แต่ภาคการผลิตส่งออกจะมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งที่ผ่านมาการส่งออกของไทยขยายตัวอย่างชัดเจน และประเมินโอกาสการเติบโตที่ 20%
“การส่งออกถือเป็นเซคเตอร์หลักของระบบเศรษฐกิจไทย และปีนี้เติบโตมาตลอด และมีแนวโน้มเติบโตต่อไป และยังได้แรงหนุนจาการที่ค่าเงินบาทอ่อน จากระดับประมาณ 33 บาท/ดอลลาร์ เป็น 36 บาท ก็ยิ่งช่วยให้การส่งออกขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะตลดกลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรป และ สหรัฐ ที่ค่าเงินแข็งขึ้นมาก”
ทั้งนี้มองว่า ประเทศแถบยุโรป และสหรัฐ มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นมากในช่วงเวลานี้ เมื่อรวมกับการที่เงินบาทอ่อนลง ทำให้ความต้องการจะเพิ่มมากขึ้น
ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจโลก แม้ว่าช่วงนี้หลายประเทศจะเผชิญปัญหาหนัก โดยเฉพาะประเทศขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ของโลก อย่างสหรัฐ และประเทศในกลุ่มยุโรป
แต่ขณะเดียวกันประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกอย่างจีน และยังมีกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วอย่าง BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) รวมถึงประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ก็จะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกไม่เลวร้าย
ในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ มองว่า ไม่มีอะไรที่จะต้องเปลี่ยนแปลงแผนธุรกิจจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศหรือเศรษฐกิจโลก และเชื่อว่าอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวในปีนี้
อย่างไรก็ตามปัญหาในอุตสาหกรรมก็มีเช่นกัน แต่ต้องแยกออกจากภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจ เป็นปัญหาที่เกิดจากภาคการผลิต ที่ขาดแคลน เซมิ คอนดัคเตอร์ และชิ้นส่วนบางรายการ หากปัญหานี้ได้รับการแก้ไข ก็เชื่อว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะขยายตัวได้ดีอย่างแน่นอน