เปิดเสียงสะท้อนผู้บริโภค ผลกระทบเงินเฟ้อพุ่ง! ‘ข้าวของแพง ค่าแรงเท่าเดิม’
แต่ละวัน ผู้บริโภคโลกโซเชียลมีการพูดคุยหลากหัวข้อ ทว่า ภาวะเงินเฟ้อ 7% พุ่งสูงกว่าเป็นประวัติการ กลายเป็นหัวข้อสนทนาบนโลกออนไลน์ เพราะผลกระทบใกล้ตัว โดยเฉพาะข้าวของแพง แต่ทำไมค่าแรงยังเท่าเดิม เป็นเสียงส่งถึงทุกภาคส่วนต้องรับฟังและหาทางแก้ไข
‘เงินเฟ้อพุ่ง’ เป็นประเด็นใหญ่ของทั้งโลก เนื่องจากอาจเป็นระเบิดเวลากระทบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ นอกจากมุมองนักเศรษฐศาสตร์ การเงิน เตือนให้ทุกภาคส่วนเตรียมตัวรับแรงกระแทกให้ดี บรรดาผู้ประกอบการ นักธุรกิจ ยังแสดงความกังวลใจอย่างมาก เนื่องจากวิกฤติเงินเฟ้อสูงเป็นประวัติการณ์ คนจำนวนมากยังไม่เคยเผชิญมาก่อน
ขณะที่ฝั่งผู้บริโภค ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลกระทบที่ได้รับเต็มๆจากเงินเฟ้อ คือสินค้าอุปโภคบริโภคหรือข้าวของจำเป็นในชีวิตประจำวัน (FMCG) แพงขึ้นมาก จนต้องรัดเข็มขัด ชะลอการใช้จ่าย
ทว่า เสียงสะท้อนความเดือดร้อนเงินเฟ้อพุ่ง ชัดยิ่งขึ้น เมื่อ “บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด” ได้ทำการเก็บข้อมูลผ่านเครื่องมือ ZOCIAL EYE ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน - 10 กรกฎาคม 2565 ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ พบสิ่งน่าสนใจมากมาย และเป็น “การบ้าน” ที่หน่วยงานทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ “รัฐบาล” ต้องหาแนวทางแก้ไข หรือบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น
กว่า 1 เดือน ชาวโซเชียลพูดถึงภาวะเงินเฟ้อทั้งสิ้น 11,887,917 เอ็นเกจเมนต์ จากจำนวนผู้ใช้สื่อออนไลน์นำนวน 8,455 บัญชี(แอคเคาท์) หรือโดยเฉลี่ยมีการพูดถึง 202,732 เอ็นเกจเมนต์ต่อวัน
สำหรับช่องทางที่ชาวโซเชียลมีเดียใช้โพสต์พูดถึง
- อันดับ 1 คือ Facebook 53.47%
- เว็บไซต์ข่าว 17.22% Twitter 14.77%
- ช่องทางอื่นๆ 14.54%
เมื่อแบ่งลักษณะประชากรศาสตร์ ผู้ชายมีการพูดถึงเงินเฟ้อสัดส่วน 66.6% มากกว่าผู้หญิงที่มีสัดส่วน 33.4% โดยช่วงอายุ 25-34 ปี มีสัดส่วนมากที่สุดคิดเป็น 50.51%
ทั้งนี้ 3 เสียงสะท้อนใหญ่ที่ส่งถึงทุกภาคส่วนให้รับทราบ ไวซ์ไซท์ สรุปดังนี้
1.ผลกระทบต่อประชาชน (4,071,532 เอ็นเกจเมนต์) โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดภาวะเงินเฟ้อมีมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นความเห็นการที่บางบริษัทปรับขึ้นเงินเดือนเพื่อช่วยลดภาระให้พนักงาน การปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคหรือข้าวของแพง “แต่ค่าแรงขั้นต่ำเท่าเดิม”
สำหรับของแพงที่ถูกติดแฮชแท็ก(#)มีสารพัด เช่น #ค่าไฟแพง #น้ำมันแพง #อาหารแพง สิ่งเหล่านี้ราคาพุ่งขึ้นเป็นประวัติการ แล้วยังมีค่าเงินบาทอ่อนตัวลง ตลาดหุ้น กองทุนฯ และคริปโตฯ “ติดลบ” จนไปถึงส่งผลให้หนี้ครัวเรือนไทยต่อเศรษฐกิจ (GDP) ปรับตัวสูงขึ้น เป็นต้น
2.การรับมือเงินเฟ้อด้วยตนเอง (2,976,259 เอ็นเกจเมนต์) สถานการณ์ที่เกิดขึ้นและหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นนี้ ทำให้ประชาชนเลือกที่จะ “เก็บเงินสดไว้กับตัว” และบางส่วนมีการกล่าวถึงการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อหาช่องทางตักตวงเงินเข้ากระเป๋าตุนไว้ อย่างไรก็ตาม ในยุคที่ข้าวของราคาแพง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเบอร์ 1 ของเมืองไทยอย่าง “มาม่า” ยังคงเป็นหนึ่งในอาหารที่ชาวโซเชียลพูดถึงควบคู่ไปกับเงินเฟ้อนั่นเอง
3.นโยบายจัดการเงินเฟ้อ (2,458,094 เอ็นเกจเมนต์) แม้จะมีการประชาสัมพันธ์วิธีประหยัดเงินในกระเป๋าจากภาครัฐฯ เช่น การหันมาใช้เตามหาเศรษฐีทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้มที่ปรับตัวแพงขึ้น 8% หรือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ชาวโซเชียลยังมีการสอบถามถึงนโยบายอื่นๆ ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยด่วน
นอกจากประเด็นข้างต้น ชาวโซเชียลยังให้ความสนใจกับ “ต้นตอของปัญหา” ไม่ว่าจะเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้ซัพพลายเชนการผลิตในหลายประเทศได้รับผลกระทบ บ้างต้องหยุดชะงัก ความขัดแย้งยังทำให้วัตถุดิบการผลิตสินค้าบางอย่างมีราคาแพงขึ้น รวมถึง โควิดระลอกใหม่ที่ยังฉุดเศรษฐกิจให้ตกต่ำลง