กกพ.เปิดฟังความเห็นก่อนขึ้นค่าไฟฟ้า
กกพ.ระบุ คณะกรรมการ กกพ.อยู่ระหว่างพิจารณาทบทวน และปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) งวดเดือน ก.ย.- ธ.ค. 2565 หลังจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียประกอบการพิจารณาตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. - 25 ก.ค. 2565
เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. คมกฤช ตันตระวาณิชย์ ระบุ คณะกรรมการ กกพ.อยู่ระหว่างพิจารณาทบทวน และปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) งวดเดือน ก.ย.- ธ.ค. 2565 หลังจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียประกอบการพิจารณาตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. - 25 ก.ค. 2565 เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์ราคาพลังงานโลกที่เป็นตัวแปรสำคัญในการพิจารณาค่าเอฟทีมีความผันผวน เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และรุนแรง จึงได้จัดทำกรณีศึกษา 3 แนวทาง เพื่อรับฟังความเห็น และนำข้อสรุปให้บอร์ด กกพ. พิจารณาร่วมกับปัจจัยอื่นๆ ด้วย คาดว่าจะมีการประชุมบอร์ดวันที่ 27 ก.ค. นี้ และประกาศค่าเอฟทีงวดใหม่อย่างเป็นทางการช่วงปลายเดือน ก.ค.หรือต้นเดือน ส.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่ค่าเอฟทีงวดใหม่สูงขึ้น เพราะต้นทุนค่าเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้าเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ยังมีแนวโน้มราคาแพงต่อเนื่องตั้งแต่เดือน พ.ค. 2565 จนถึงปัจจุบัน โดยราคา LNG นำเข้าตอนนี้พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนพุ่งสูงแตะระดับ 30 กว่าดอลลาร์ต่อล้านบีทียูแล้ว จากเดิมอยู่ที่ 20 กว่าดอลลาร์ต่อล้านบีทียู รวมถึงภาระต้นทุนจากการอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องถือเป็นปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุม
นอกจากนี้ ภาครัฐได้มีนโยบายให้ กฟผ. เดินเครื่องด้วยน้ำมันอย่างเต็มความสามารถเพื่อช่วยลดปริมาณนำเข้า Spot LNG ที่มีราคาสูงกว่าราคาน้ำมันในการผลิตไฟฟ้า ร่วมกับการนำมาตรการทยอยปรับค่า Ft เพิ่มขึ้นแบบขั้นบันไดเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบของผู้ใช้ไฟฟ้าในรอบเดือนมกราคม – เมษายน 2565 ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องส่งผลทำให้ราคานำเข้าพลังงานเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงสูงกว่าค่า Ft ที่ กกพ.อนุมัติให้การไฟฟ้านำไปเรียกเก็บค่าไฟฟ้ากับผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศโดย กฟผ.รับภาระค่าต้นทุนค่าเชื้อเพลิงแทนประชาชนตามแนวทางบริหารค่าไฟฟ้าตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่งวดเดือนกันยายน 2564 จนถึงปัจจุบันรวมแล้วเกือบ 1 แสนล้านบาท
สำหรับ 3 กรณีเพื่อรับฟังความเห็น และนำข้อสรุปให้บอร์ด กกพ.พิจารณา กรณีศึกษาที่ 1 ค่า Ft ขายปลีก ที่สะท้อนแนวโน้มต้นทุนประจำงวดเดือน กันยายน – ธันวาคม 2565 จำนวน 93.43 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยเรียกเก็บเงินเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงในช่วงที่ผ่านมาบางส่วนจำนวน 45.70 สตางค์ต่อหน่วย ให้กับ กฟผ. เพื่อให้ได้รับเงินคืนครบภายใน 1 ปี โดยมีค่า Ft เท่ากับ 139.13 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.17 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 28% โดย กฟผ.จะมีภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. ที่ต้องบริหารจัดการแทนประชาชนจำนวน 56,581 ล้านบาท
กรณีศึกษาที่ 2 ค่า Ft ขายปลีก ที่สะท้อนแนวโน้มต้นทุนประจำงวดเดือน กันยายน – ธันวาคม 2565 จำนวน 93.43 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยเรียกเก็บเงินเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงในช่วงที่ผ่านมาบางส่วนจำนวน 22.85 สตางค์ต่อหน่วย ให้กับ กฟผ. เพื่อให้ได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี โดยมีค่า Ft เท่ากับ 116.28 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.95 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 23% โดย กฟผ. จะมีภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. ที่ต้องบริหารจัดการแทนประชาชนจำนวน 69,796 ล้านบาท
กรณีศึกษาที่ 3 ค่า Ft ขายปลีก ที่สะท้อนแนวโน้มต้นทุนประจำงวดเดือน กันยายน – ธันวาคม 2565 เท่ากับ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.72 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 17% โดย กฟผ. จะต้องรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่แทนประชาชนจำนวน 83,010 ล้านบาท
ส่วนข้อเสนอของ กฟผ. ค่า Ft ขายปลีก เดือน กันยายน – ธันวาคม 2565 เท่ากับ 236.97 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.12 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 53% โดยจะทำให้กฟผ. ได้รับเงินที่รับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่แทนประชาชนทั้งหมดจำนวน 83,010 ล้านบาท คืนภายในเดือน ธันวาคม 2565
ซึ่งการพิจารณาต้องชั่งน้ำหนักระหว่าง ผลกระทบค่าใช้จ่ายของประชาชน และความมั่นคงทางด้านไฟฟ้าในระยะยาวมาประกอบด้วย เพราะปัจจุบันนี้ กฟผ.ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายเกือบแสนล้านบาทแล้ว