BYD ครึ่งปีหลัง รุกธุรกิจหลักทรัพย์ ชิงมาร์เก็ตแชร์แตะ 2% ในปี 66
บล.บียอนด์ ชูโปรแกรมเทรด "Beyond Intelligence Trading" (MT5) ขยายฐานลูกค้า หวังโตก้าวกระโดด ชิงมาร์เก็ตแชร์ปีหน้าแตะ 2% จากปัจจุบัน 0.1% เร่งเครื่องแผนปรับโครงสร้างเป็นโฮลดิ้งรองรับการขยายธุรกิจ
นางสาวออมสิน ศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BYD เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินธุรกิจในปี 2565 ว่า รายได้จากธุรกิจหลักมีแนวโน้มการเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา อย่างชัดเจน โดยให้ความสำคัญในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นทั้งจากธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (โบรกเกอร์) รายได้จากค่าธรรมเนียม และบริการที่ปรึกษาทางการเงิน ทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้ รวมถึงรายได้จากกิจการขนส่งมวลชนที่ BYD ได้ลงทุนผ่านบริษัทร่วม ชื่อ บริษัท เอช อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (ACE) โดย ACE เข้าถือหุ้น 100% ในบริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด (TSB) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเดินรถประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดที่มีพื้นที่ต่อเนื่องด้วยรถบัสไฟฟ้า
ด้าน นางสาวปทิตตา มิลินทจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการตลาด กล่าวว่า ในปีนี้บริษัท ตั้งเป้าที่จะพลิกขึ้นมามีกำไรจากการดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของธุรกิจหลักทรัพย์ จะเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดอันเป็นผลมาจากการลงทุนทั้งด้านระบบงาน และบุคลากร ซึ่งวางเป้าหมายมาร์เก็ตแชร์ปี 2566 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1-2 % จากปี 2564 อยู่ที่ 0.1-0.2% ขณะที่ในปี 2567 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปแตะอันดับ 1 ใน 10 ของธุรกิจหลักทรัพย์ต่อไป
ล่าสุด BYD ได้พัฒนาโปรแกรมเทรด “ Beyond Intelligence Trading ” (MT5) ร่วมกับคู่ค้า เพื่อตอบสนองลูกค้า มุ่งเน้นคุณภาพการให้บริการ และยังเป็นการขยายฐานลูกค้า ด้วยการนำเทคโนโลยีมาสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนทั้งในสภาวะตลาดขาขึ้น และขาลง โดย MT5 จะเป็นโปรแกรมที่ช่วยนักลงทุนวิเคราะห์ และซื้อขายหุ้นอัตโนมัติด้วย Robot และยังมีระบบอัจฉริยะที่คอยช่วยจับตาความเคลื่อนไหวของ Volume, Bid/Ask, Ticker ในตลาดได้รวดเร็ว และ real-time ซึ่งได้เริ่มให้บริการเต็มรูปแบบแล้วในวันนี้ และปัจจัยที่สำคัญอีกด้านหนึ่งคือ ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา
บริษัท มีการรับเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำการลงทุน (มาร์เก็ตติ้ง) เข้ามาเพิ่มขึ้น ลงทุนระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ให้มีความสะดวกรวดเร็ว รวมทั้งได้พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าเพิ่มศักยภาพ และสร้างผลตอบแทน แม้เผชิญกับความผันผวนจากสถานการณ์เศรษฐกิจ และสถานการณ์โลกแต่ยังมีการพัฒนาต่อเนื่อง
ด้านรายได้จากค่าธรรมเนียม และบริการ จะมีรายได้จากธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินในการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 2 ราย และบริการด้านวาณิชธนกิจอื่นอีก 4-5 ราย รวมทั้งมีรายได้จากการเป็นผู้ร่วมจัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่ายทั้งหุ้นกู้ และหุ้นไอพีโอมากขึ้น ซึ่งในครึ่งปีแรกได้ร่วมเป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายหุ้นไอพีโอให้กับ 2 บริษัท คือ บริษัท ฟังก์ชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (FTI) และ บริษัท ฑีฆาก่อสร้าง จำกัด (มหาชน) (TEKA) ทำให้มั่นใจว่าธุรกิจหลักทรัพย์จะเติบโตก้าวกระโดด
เราไม่เพียงแต่แสวงหานวัตกรรมมาให้ลูกค้า และนักลงทุน แต่ยังมีความตั้งใจที่จะตอบแทนสังคมโดยการให้ความรู้ สร้างงาน สร้างอาชีพให้กับกลุ่มนักศึกษา และคนรุ่นใหม่ โดยทางบริษัท ร่วมมือกับวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรม และการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดตั้ง BYD Academy สมรภูมิที่ให้ความรู้ด้านการลงทุน และพัฒนาทักษะการลงทุนให้นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่สนใจ เพื่อสั่งสมประสบการณ์ พัฒนาความสามารถ และเสริมสร้างศักยภาพเพื่อนำกลับไปต่อยอดอาชีพในอนาคตได้ และสำหรับนักศึกษาที่ใกล้จะจบหรือมีความสนใจที่เดินทางในสายงานธุรกิจหลักทรัพย์ ทางบริษัทเองก็ยังเปิดรับสมัครทั้งนักศึกษาจบใหม่ และนักศึกษาฝึกงานอีกด้วย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า “ในปี 2565 บริษัทจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการลงทุนผ่านบริษัทร่วมที่ชื่อ บริษัท เอช อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (ACE) ซึ่ง ACE ถือหุ้น 100% ในกิจการให้บริการขนส่งมวลชนสาธารณะด้วยรถบัสไฟฟ้า ชื่อ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด (TSB) ปัจจุบันบริษัทย่อยในกลุ่มของ TSB ได้ให้บริการขนส่งมวลชนด้วยรถประจำทางไฟฟ้าแล้ว 8 สาย จำนวนทั้งสิ้น 112 คัน และกำลังสั่งซื้อรถบัสไฟฟ้าเพิ่มเพื่อให้บริการภายในปีนี้อีก 96 คัน นอกจากนี้เมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา TSB ยังได้รับคัดเลือกจากกรมการขนส่งทางบกให้เป็นผู้ให้บริการเพิ่มขึ้นอีก 71 สาย จึงอยู่ระหว่างเตรียมการสั่งซื้อรถบัสไฟฟ้าเพื่อจะนำมาให้บริการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปีนี้ เป็นจำนวนอย่างน้อย 758 คัน อีกทั้ง TSB ยังอยู่ระหว่างการจะเข้าลงทุนเพิ่มเติม ด้วยการเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของ บริษัท สมาร์ทบัส จำกัด (SMB) ผู้เป็นเจ้าของสัญญาเดินรถรวม 37 เส้นทาง บริษัท เอ็กซา โลจิสติก จำกัด ผู้เป็นเจ้าของสัญญาเดินรถ 2 เส้นทาง และบริษัท เอ็กซา โลจิสติก จำกัด ผู้เป็นเจ้าของสัญญาเดินรถ 4 เส้นทาง นอกเหนือจากการเข้าลงทุนในการให้บริการด้วยรถบัสไฟฟ้าแล้ว TSB ยังจะเข้าถือหุ้น 100% ใน บริษัท อี สมาร์ท ทรานสปอร์ต จำกัด (EST) ผู้ให้บริการเดินทางด้วยเรือไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย”
หากโครงการขยายการลงทุนของ TSB ครั้งนี้ เป็นไปตามที่คาดไว้ ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดของระบบขนส่งมวลชนของประเทศไทย ที่จะสามารถเชื่อมต่อการเดินทางของสายรถเมล์ได้เป็นจำนวนอย่างน้อยถึง 122 สาย เข้าด้วยกัน และยังเชื่อมไปยังเรือไฟฟ้าที่ให้บริการในแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย เกิดเป็นโครงข่ายที่ครอบคลุมพื้นที่ในการให้บริการในวงที่กว้างจากกรุงเทพมหานคร กินพื้นที่ไปยังจังหวัดที่มีพื้นที่ต่อเนื่องทั้งหมดได้ และสามารถนำระบบเหมาค่าตั๋วโดยสารราคาถูกมาใช้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนได้ อีกทั้งลดมลพิษจากการปรับเปลี่ยนยานพาหนะแบบเดิมที่เก่า และสร้างมลพิษ ไปสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ไม่มีไอเสีย สะอาด ทันสมัย ไม่มีเสียงดัง ขับขี่ปลอดภัย และสามารถผลิตได้เองในประเทศไทย
ผลสำเร็จจากการดำเนินการตามแผนดังกล่าว จะเป็นหนทางที่นำไปสู่การปรับโครงสร้างของ BYD เป็นบริษัทลงทุน หรือ Holding company ในที่สุด ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำแผน และจะเริ่มดำเนินการในไตรมาสที่ 3 นี้ โดย BYD มีเป้าหมายที่จะไม่เป็นเพียงผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ แต่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาผลักดันการเติบโตของบริษัท ในทุกๆ ด้าน และตอบแทนสังคมในวงกว้าง พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายที่จะร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืนอีกด้วย นางสาวออมสิน กล่าวปิดท้าย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์