ส.อ.ท.จับตาผลกระทบเมียนมาระงับจ่ายหนี้
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเร่งสำรวจผลกระทบหลังธนาคารกลางเมียนมาระงับจ่ายหนี้ต่างประเทศชั่วคราว เบื้องต้นในระยะสั้นยังไม่ได้รับผลกระทบ ขณะที่ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายนปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เกรียงไกร เธียรนุกุล ระบุ จากกรณีธนาคารกลางเมียนมามีคำสั่งให้บริษัทต่างๆ รวมทั้งผู้ที่มีเงินกู้ต่างประเทศระงับการชำระคืนหนี้ต่างประเทศชั่วคราวเพื่อรักษาทุนสำรองระหว่างประเทศ หลังจากค่าเงินจ๊าดของเมียนมาอ่อนค่าลงมากว่า 1 ใน 3 ขณะนี้ ส.อ.ท. กำลังสำรวจทุกอุตสาหกรรมทั้ง 45 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยติดตามประเมินผลกระทบอย่างใกล้ชิด เบื้องต้นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เช่น กลุ่มอุปโภคบริโภค การก่อสร้าง ที่ทำการค้ากับเมียนมาเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ในระยะสั้นเนื่องจากคำสั่งเพิ่งออกมายังไม่สามารถประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่ามาตรการนี้จะยาวนานแค่ไหน
สำหรับเมียนมาถือเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย โดยภาพรวมการค้าระหว่างไทย – เมียนมาตั้งแต่ ม.ค. – เม.ย.เพิ่มขึ้นถึง 37.88% การค้าชายแดนระหว่างไทย-เมียนมาในช่วง 5 เดือนเติบโตกว่า 10%
ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ดีดขึ้นครั้งแรกรอบ 3 เดือน
สำหรับผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน 2565 อยู่ที่ระดับ 86.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้น
จากระดับ 84.3 ในเดือนพฤษภาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนโดยมีปัจจัยบวกจาก
ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 เพิ่มเติม การปรับลดระดับการเตือนภัย โควิดจากระดับ 3 เป็น
2 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น รวมถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของอุปสงด์ในประเทศ ขณะที่ภาคการผลิตมีทิศทางที่ดีขึ้นสอดคล้องกับดัชนีฯคำสั่งซื้อสินค้าและยอดขายในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้การที่ประเทศจีนผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เมืองสำคัญ ทำให้สั่งซื้อสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยลบจากผลกระทบสงครามรัสเชีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบและราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ดลอดจนปัญหา Supply Shortage ที่ยังไม่คลี่คลาย ทำให้ตันทุนการผลิตเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกมีทิศทางชะลอตัวลงเนื่องจากหลายประเทศเผชิญปัญหาเงินเฟ้อส่งผลให้คำสั่งซื้อสินค้าจากประเทศคู่ค้าชะลอตัวโดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป
ทั้งนี้ ภาคเอกชนมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ให้เร่งหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ เพื่อทดแทนตลาดที่ชะลอตัวและได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเชีย-ยูเครน ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการจ้างงานในระยะสั้นและระยะยาว ส่งเสริมและปรับปรุงกฎระเบียบให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคธุรกิจและภาคประชาชน สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับการปรับเปลี่ยนเครื่องจัรและอุปกรณ์เพื่อการประหยัดพลังงาน