BTS ยื่น DSI สอบ ‘ฮั้ว’ ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

BTS ยื่น DSI สอบ ‘ฮั้ว’ ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

‘บีทีเอส’ ยื่นหนังสือถึง DSI ร้องให้ตรวจสอบประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก อาจเข้าข่ายฮั้วประมูล หลัง รฟม.กำหนดเงื่อนไขยื่นซองรอบใหม่เอื้อเอกชนบางราย

นายสุรมนต์ มีเมศกุล ผู้รับมอบอำนาจจาก บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ทำความผิดกรณีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ)

เนื่องจากบริษัทฯ พบว่าข้อกำหนดเงื่อนไขในสาระสำคัญเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอมีเจตนากีดกันบริษัทฯ ไม่ให้มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และยังเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้เสนอราคารายหนึ่งรายใดอย่างชัดเจนที่อาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542

สืบเนื่องมาจากการที่  รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกได้มีการแก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือก และได้ประกาศยกเลิกการประมูลในครั้งที่ 1 ซึ่งต่อมาศาลปกครองกลางพิพากษาว่าการแก้ไขหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการยกเลิกประกาศเชิญชวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ดังนั้น ถือว่าหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกตามประกาศเชิญชวน ฉบับแรก ลงวันที่ 3 ก.ค.2563 ซึ่งดำเนินการมาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงสมควรต้องนำมาใช้พิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ ตามมาตรา 6 (5) แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. แต่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกกลับเพิกเฉยต่อคำพิพากษาศาลปกครองกลางทั้ง 2 ฉบับ และข้อทักท้วงของบริษัทฯ โดยยังดำเนินกระบวนการคัดเลือกครั้งใหม่ต่อไป ไม่รอผลคำพิพากษาศาลปกครองให้ถึงที่สุด

และเมื่อดูในรายละเอียดข้อกำหนดคุณสมบัติด้านเทคนิค ประสบการณ์ ผลงาน ตามประกาศเชิญชวนฉบับลงวันที่ 24 พ.ค.2565 มีความแตกต่างจากฉบับลงวันที่ 3 ก.ค.2563 ในส่วนสาระสำคัญ คือ 1.ต้องมีผลงานกับหน่วยงานของรัฐบาลไทย 2.ผลงานต้องแล้วเสร็จ 3.ผู้รับเหมาต้องเป็นนิติบุคคลไทยรายเดียว หรือกลุ่มนิติบุคคลไทยถือหุ้นรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 51%

การกำหนดคุณสมบัติใหม่นี้ทำให้กลุ่มนิติบุคคลของบริษัทฯ ที่เคยมีคุณสมบัติเข้าแข่งขันในโครงการนี้ ไม่สามารถเข้าแข่งขันตามประกาศฉบับหลังนี้ได้ ในขณะที่ข้อกำหนดฉบับหลังนี้กลับไม่มีผลกระทบกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอคู่แข่งขันรายเดียวของบริษัทฯ ตามประกาศ ฉบับลงวันที่ 3 ก.ค.2563 ที่ยังคงยื่นข้อเสนอตามประกาศฉบับลงวันที่ 24 พ.ค.2565 ได้ 

รวมทั้ง รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกทราบดีว่า ด้วยคุณสมบัติและรายละเอียดที่กำหนดขึ้นใหม่นี้ จะทำให้กลุ่มนิติบุคคลของบริษัทฯ ขาดคุณสมบัติและไม่สามารถร่วมแข่งขันราคาตามประกาศเชิญชวนฉบับใหม่ได้ ข้อกำหนดดังกล่าวจึงเป็นการกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ เพื่อกีดกันกลุ่มนิติบุคคลของบริษัทฯ และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้เสนอราคาคู่แข่งอีกรายอย่างชัดเจน