คาดตลาด ‘กัญชา-กัญชง’ ทะลุ 4.2 หมื่นล้าน

คาดตลาด ‘กัญชา-กัญชง’ ทะลุ 4.2 หมื่นล้าน

การประเมินมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมกัญชา โดยจากการประมาณการณ์พื้นที่เพาะปลูกกัญชง-กัญชา ล่าสุดณเดือนเม.ย. 2565 ไทย มีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 7,500 ไร่ มีมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ รวมกว่า 28,000 ล้านบาท

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์ฯได้มีการประเมินมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมกัญชา โดยจากการประมาณการณ์พื้นที่เพาะปลูกกัญชง-กัญชา ล่าสุดณเดือนเม.ย. 2565 ไทย มีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 7,500 ไร่ มีมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ รวมกว่า 28,000 ล้านบาท แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ต้นน้ำมูลค่า 9,615 ล้านบาท ช่อดอกแห้ง 8,123ล้านบาท ใบแห้ง 1,128 ล้านบาท เมล็ด 140 ล้านบาท ส่วนอื่นๆ 224 ล้านบาทผลิตภัณฑ์กลางน้ำสารสกัดเข้มข้น 12,410 ล้านบาทน้ำมันกัญชา/น้ำมันกัญชง1,383 ล้านบาท เส้นใยกัญชง 896 ล้านบาท 
  ส่วนผลิตภัณฑ์ปลายน้ำยารักษาโรคและอาหารเสริมมีมูลค่า 1,500 ล้านบาทอาหารและเครื่องดื่ม 1,200ล้านบาท เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ และยังมการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดในช่วง 3 ปีข้างหน้า จะโตได้ 10-15% มีมูลค่าสูงถึง 42,800 ล้าน โดยผลิตภัณฑ์ปลายน้ำจะเติบโตเร่งกว่าปัจจุบัน โดยคาดว่าจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรสูงถึง 800,000 บาทถึง 1.2 ล้านบาทต่อไร่ต่อปี หรือเฉลี่ย 1 ล้านบาทต่อไร่ต่อปี หากเทียบกับการปลูกข้าว เกษตรกรจะมีรายได้จะอยู่ที่ 10,000-15,000 บาทต่อปี

  นอกจากนี้ยังได้มีการสำรวจความเห็นของประชาชนต่อนโยบายกัญชาเสรี โดยสำรวจตัว 1,215 ตัวอย่างทั่วประเทศระหว่างวันที่ 5-15 ก.ค.65 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังให้ความเป็นห่วงว่าประชาชนจะใช้ผิดประเภท เพราะประชาชนยังมองว่ากัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษถึง 63.5% ส่วนใหญ่ถึง 75% จะไม่ซื้อหรือบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาที่มีวางขายทั่วไป เพราะยังกังวลผลข้างเคียง และขาดความรู้และมาตรฐานการผลิต รวมไปถึงกลัวการใช้เกินขนาด ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ 58.3% ยังไม่เห็นด้วยกับการเปิดเสรี เพราะห่วงการใช้กัญชาในกลุ่มเด็กและเยาวชน ก่อให้เกิดการเสพติด และการใช้เกินขนาดในยารักษาโรค

ส่วนอีก 41.7% ที่เห็นด้วยกับการเปิดเสรีนั้น เพราะจะเกิดประโยชน์ทางการแพทย์และสันทนาการ แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ และควรมีบทลงโทษที่รุนแรงเมื่อมีการทำผิดกฏหมายในการใช้กัญชา รวมทั้งกำหนดขอบเขตของการเปิดเสรีให้ชัดเจนสำหรับการสำรวจความรู้เกี่ยวกับกัญชา พบว่า 38.1% รู้ปานกลาง 31.3% รู้น้อยและ 19.6% รู้มาก ซึ่งรวมไปถึงความรู้ด้านประโยชน์และโทษข้อควรระวังในการใช้ โดยส่วนใหญ่ยังมีความรู้ปานกลางเท่านั้น
 ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะ คือ ควรให้ความรู้ สร้างความตระหนักรู้ถึงผลดีและผลเสีย ทั้งในระยะสั้นและ ระยะยาว ให้รับรู้โดยทั่วกันผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ ตามกลุ่มเป้าหมาย ควรกหนดปริมาณการบริโภค/การใช้ที่ชัดเจน ควรมีการกำหนดกลุ่มอายุในการใช้ ควรกำหนดสถานที่ในการใช้ ควรมีมาตรฐานหรือข้อกำหนดในการผลิต ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ กัญชา พร้อมบทลงโทษที่พอที่จะไม่ใช้ เกินปริมาณที่กำหนด ควรเร่งพัฒนานวัตกรรมที่ใช้ในการตรวจสอบว่ามีส่วนที่ไม่ดีของกัญชาเกินกว่ามาตรฐานหรือไม่
        “ผลสำรวจสะท้อนว่าประชาชนมีความกังวลเชิงลบทางสังคม แต่ไม่ปฏิเสธว่ากัญชา มีประโยชน์และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตสินค้า และเกษตรกร ซึ่งจะต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปสนับสนุนให้ความรู้ ทำการวิจัย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม เพราะปลายทางจะเกิดประโยชน์ทางการแพทย์ ทำยารักษาโรค และอาหารเพื่อสุขภาพ”