ถอดรหัส "Food Security" สู่ "BCG Model" พลิกฟื้นความมั่นคงทางอาหาร ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติ
ถอดรหัส "Food Security" หรือ "ความมั่งคงทางอาหาร" วาระโลก วาระชาติ จุดกระแสตื่นตัวทั่วโลก ทางออกปัญหา ต้องเริ่มบูรณาการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร ขับเคลื่อนผ่าน BCG Model กุญแจสำคัญพลิกฟื้นวิกฤติเป็นโอกาส พิชิตความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน
ท่ามกลางสถานการณ์ Food Security Crisis ที่กำลังเป็นประเด็นเร่งด่วน กระทบความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน องค์กรธุรกิจทุกขนาด นับตั้งแต่ MSMEs ไปจนถึงธรุกิจขนาดใหญ่ ล้วนเป็นตัวแปรสำคัญ ซึ่งมีบทบาทในการช่วยให้เศรษฐกิจและสังคม สามารถก้าวข้ามวิกฤติความมั่นคงทางอาหารได้อย่างยั่งยืน โดยกุญแจสำคัญคือ การรู้จักปรับใช้ BCG Economy Model มาต่อยอด เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสทางธุรกิจ และการค้าได้อย่างตอบโจทย์สถานการณ์โลก
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ผู้แทนหลักสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคประเทศไทย และ PPFS Vice Chair ( คณะทำงานเรื่องความมั่นคงทางอาหาร)
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ผู้แทนหลักสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคประเทศไทย และ PPFS Vice Chair (คณะทำงานเรื่องความมั่นคงทางอาหาร) เผยว่ามีการกล่าวถึงเรื่อง "ความมั่นคงทางอาหาร" อย่างจริงจังในที่ประชุมสหประชาชาติในปี 2543 และได้มีการประกาศเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Goal Developments-MGDs) ที่รวมถึงการขจัดความยากจนและความหิวโหย โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization : FAO) ได้นิยามครอบคลุมถึงปริมาณอาหารเพื่อการบริโภคที่เพียงพอ ความหลากหลายของประเภทอาหาร คุณภาพ และคุณค่าทางโภชนาการ ความสะอาดและความปลอดภัย ประชาชนสามารถเข้าถึงอาหารอันเกิดจากระบบการกระจายอย่างทั่วถึงได้
"ถามว่าทำไมถึงต้องให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงทางอาหาร นั่นเพราะก๊าซเรือนกระจกทำสภาวะอากาศโลกแปรปรวนอย่างรุนแรง ส่งผลต่อพื้นที่เพาะปลูก กระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ยังไม่พัฒนา เพราะมีจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น และความต้องการอาหารที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งมาเจอวิกฤติโควิด บวกกับความขัดแย้ง รัสเซีย-ยูเครน ยิ่งทำให้เกิดความไม่มั่นใจในเรื่องความมั่นคงทางอาหารเกิดขึ้นในหลายประเทศ เนื่องจาก 2 ประเทศนี้เป็นแหล่งผลิตอาหารโลกมากพอสมควร" ดร.พจน์ ขยายภาพให้เห็นปัญหาที่เกิดเป็นลูกโซ่ สร้างการตื่นตัวด้านความมั่นคงทางอาหารในเกือบทุกประเทศ เพราะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเกษตรและอาหารทั่วโลก
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ผู้แทนหลักสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคประเทศไทย และ PPFS Vice Chair (คณะทำงานเรื่องความมั่นคงทางอาหาร)
"Food Security" วาระอนาคตโลกหลังโควิด
เช่นเดียวกับความตื่นตัวบนเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC โดยในปี 2554 ได้เห็นชอบให้จัดตั้งหุ้นส่วนนโยบายด้านความมั่นคงทางอาหาร Policy Partnership on Food Security (PPFS) เป็นเวทีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันกำหนดนโยบายและดำเนินงานความมั่นคงอาหารในภูมิภาค โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความร่วมมือโดยความสมัครใจ และไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการตัดสินใจเชิงนโยบายด้านความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการจากเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค และองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมเพื่อพัฒนานโยบายด้านความมั่นคงทางอาหารร่วมกัน โดยกำหนดให้มีการประชุมทุกปี
สำหรับในปี 2565 ประเทศไทย ในฐานะเจ้าภาพการประชุมฯ APEC ได้สนับสนุนให้โมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy : BCG เป็นแนวคิดพื้นฐาน โดยมุ่งเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจยุคหลังโควิด-19 ที่ต้องสร้างความเจริญเติบโตอย่างครอบคลุม สมดุล และยั่งยืน นอกจากนั้น ภายใต้การเป็นประธานของไทย PPFS จะดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ปี ค.ศ.2030 (Implementation Plan on The Food Security Roadmap towards 2030) ซึ่งจะเป็นเอกสารสำคัญในการพัฒนาการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหารในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยมุุ่งหวังในการส่งเสริมระบบอาหารของเอเปคที่เปิดกว้าง ยุติธรรม โปร่งใส มีประสิทธิผล ยั่งยืน และมีความยืดหยุ่น เพื่อให้ประชาชนในเอเปค สามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างพอเพียง มีความปลอดภัย และมีโภชนาการที่ดีที่เหมาะสมต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อให้มีชีวิตที่มีสุขภาพดีและแข็งแรง
"ในฐานะตัวแทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council หรือ ABAC) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ปรึกษาของ APEC สิ่งที่เราขับเคลื่อนหลักๆ มีอยู่ 4 เรื่องคือ 1. ผลักดันการใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาบริหารจัดการในภาคเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตในปริมาณสูง ลดการใช้แรงงานคนในภาคเกษตรที่กำลังเริ่มขาดแคลน 2. เชื่อมโยงความรู้ระหว่างสมาชิกเอเปค เพื่อให้มีผลผลิตในปริมาณที่มากขึ้น พอเพียง และมีคุณภาพ รวมถึงมีระบบการขนส่งที่ดีเพื่อกันไม่ให้เกิดการขาดแคลน 3. ส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาโดยปรับใช้ BCG Model เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางเกษตร ควบคุมเรื่องของการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร (Food Loss and Food Waste ) 4. ส่งเสริมให้เกิดการเสาะแสวงหาแหล่งโปรตีนใหม่ เช่น แมลง ผัก เป็นต้น มาพัฒนาสินค้า รวมถึงไปแหล่งวัตถุดิบใหม่โดยมุ่งเน้นด้านโภชนาการ และลดการเกิดของเสียให้มากที่สุด" ดร.พจน์ กล่าว
เมื่อถามถึงความมั่นคงอาหารของประเทศไทย ดร.พจน์ ตั้งคำถามไว้ 3 ข้อ คือ 1. เรามีของหรือไม่ 2. ราคาเท่าไร และ 3. ซื้อได้หรือไม่ เริ่มจากข้อแรก ต้องมั่นใจก่อนว่าเรามีของ แต่ปัจจุบันลองเดินดูตามเชลฟ์ขายผลไม้แต่ละที่ มีแต่ของนำเข้า ผลไม้ไทยเหลือเพียงไม่กี่อย่าง ซึ่งภาครัฐต้องจัดสมดุลดีๆ ส่วนเรื่องราคา เกษตรกรผลิตออกมาต้องแบ่งกี่เปอร์เซ็นต์ในราคาระดับไหนที่ขายให้คนไทยกิน หากจะส่งออก ก็ให้เอาต้นทุนมากางดู เปิดอกคุยกัน ดังนั้น ภาครัฐต้องจัดสมดุลทั้งเรื่องอาหารส่งออก และอาหารนำเข้า ส่วนกำลังซื้อของคนในประเทศ ต้องมีนโยบายช่วยเหลือให้ประชาชนมีรายได้ที่ดีขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่ง เราทุกคนในฐานะประชาชน ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคด้วย คือไม่กินเหลือกินทิ้ง
"มากไปกว่านั้น ประเทศไทยยังจำเป็นต้องมองให้ไกลไปกว่าวิถีที่ทำอยู่ นั่นก็คือเรื่องอาหารแห่งอนาคต (Food for the Future) ซึ่งหมายถึงการกลับมาวิเคราะห์ห่วงโซ่การผลิตอาหารใหม่ ว่ายังมีจุดไหนอีกบ้างที่เราอาจกำลังมองข้ามแต่แท้จริงแล้วสามารถแปรรูปให้เกิดเป็นอาหาร ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าได้ กระบวนการนี้ต้องคิดนอกกรอบ ใช้ความคิดสร้างสรรค์และอาศัยนวัตกรรมขั้นสูง อาจเป็นการผลิตอาหารจากพืชหรือสัตว์ที่ไม่ได้ใช้เทคนิคในแบบดั้งเดิมที่คุ้นเคยกันอยู่ โดยแนวทางนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่สำคัญที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารให้เกิดขึ้นได้ และความร่วมมือจากทั่วทั้งอุตสาหกรรมอาหารคือกุญแจสำคัญ ทั้งในแง่การส่งเสริมองค์ความรู้ ทุนสนับสนุน การวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยี ไปจนถึงการพัฒนาบุคลากร" ดร.พจน์ เสนอแนวทาง
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ผู้แทนหลักสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคประเทศไทย และ PPFS Vice Chair ( คณะทำงานเรื่องความมั่นคงทางอาหาร)
"BCG Model" อาวุธพลิกฟื้นความมั่นคงทางอาหาร
ปฏิเสธไม่ได้ การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจผ่านโมเดลเศรษฐกิจใหม่สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG Model นับเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2564 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทย ในช่วง 6 ปี (2564-2569) ซึ่งประกอบด้วย B คือเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) C คือเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ G คือเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals –SDGs) ของสหประชาชาติ เพื่อแก้ปัญหาที่ทั้งโลกกำลังเผชิญ เช่น ปัญหาสภาวะโลกร้อน ความยากจน และความเหลื่อมล้ำ โดยยุทธศาสตร์โมเดล BCG มีด้วยกัน 4 ข้อ ดังนี้
- การจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ
- การใช้จุดแข็ง อัตลักษณ์ และศักยภาพของพื้นที่ (ความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม) ความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยี ยกระดับมูลค่าในห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการให้สูงขึ้น เพื่อการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก
- การใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- สร้างภูมิคุ้มกันและความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก
BCG Model นับเป็นโมเดลขับเคลื่อนประเทศหลังโควิด โดยเฉพาะกลไกพัฒนาภาคเกษตร ซึ่งเข้ามาตอบโจทย์ความมั่นคงอาหาร ความยั่งยืนของทรัพยากร ความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจ ซึ่งนอกจากการพัฒนาคนในภาคการเกษตร องค์ความรู้ และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิต เพื่อนำไทยไปสู่โอกาสในฐานะครัวของโลก ทางด้านองค์กรธุรกิจทุกขนาด นับตั้งแต่องค์กรขนาดใหญ่ไปจนถึง MSMEs ซึ่งล้วนเป็นฟันเฟืองสำคัญของการเจริญเติบโตของภาคเศรษฐกิจ และคุณภาพความเป็นอยู่ของสังคมองค์รวม ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญสู่การขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหารของไทยและโลก
แก้ "Food Security" ต้องแก้คุณภาพชีวิตเกษตรกร
อาจารย์อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าที่บริหารห้องปฏิบัติการทางสังคม (ประเทศไทย) กล่าวถึงประเด็นความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ว่าหากจะแก้ไขปัญหาระดับ "มหภาค" ต้องลงมาแก้ไขปัญหาที่ระดับ "จุลภาค" ด้วย เพราะทั้งสองภาพ เป็นผลสะท้อนของกันและกัน ซึ่งการคิดแค่ทางออกของปัญหาแค่ทางเดียว อาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด ต้องร่วมมือกันเอาปัญหามาพูดคุยเพื่อจะได้เห็นปัญหาทุกมุม ต้องมองรอบด้าน หาแนวทางจัดการเชิงระบบที่แท้จริง
อาจารย์อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าที่บริหารห้องปฏิบัติการทางสังคม (ประเทศไทย)
"ในขณะที่เราพูดว่า การเกษตรคือหัวใจสำคัญของประเทศ แต่อายุเฉลี่ยของเกษตรกรในเมืองไทยมีอายุสูงถึง 58 ปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี เมื่อมองไปอีก 10 ปี ข้างหน้า ประเทศไทยจะขาดแคลนการเกษตรและมีต้นทุนด้านเคมีเกษตรสูงขึ้นเรื่อยๆ อาชีพเกษตรกรไม่เคยเป็นเรื่องง่าย เพราะต้องพึ่งพาปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้หลายประการ เกษตรกรกว่า 95% มีหนี้สินล้นพ้นตัว และกว่า 4.98% จาก 5% ที่เหลือคือไม่มีความสามารถในการกู้ยืมแล้ว มีเพียง 0.02% ของเกษรตรกรที่มีคุณภาพความเป็นอยู่ที่ดี ความยากลำบากเหล่านี้ บ่มเพาะลงไปในหัวใจของเกษตรกรไทยว่า การทำไร่ไถนานั้นเป็นอาชีพที่ลำบากและไม่เจริญ เกษตรกรจึงส่งลูกมาเรียนหนังสือในเมือง เพราะหวังให้ได้ดีไม่ต้องกลับมาทำนาเหมือนพ่อแม่" อาจารย์อุดม ชี้ให้เห็นปัญหา
นอกจากนั้น 2 อุปสรรคใหญ่ที่ "เกษตรกร" ต้องพบเจอทุกๆ ปีคือ "ภัยแล้ง" และ "น้ำท่วม" ซึ่งน่าแปลกใจที่ทั้งสองเรื่องนี้คือ เรื่องน้ำ นี่เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงระบบ ดังนั้น ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา ต้องเริ่มจากต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
- ต้นน้ำ : เกษตรกรต้องให้ความเชื่อมั่นในเรื่องวิถีอินทรีย์ ว่าการปลูกพืชผักแบบไม่ใช้สารเคมีนั้นสามารถสร้างรายได้ สร้างผลกำไรที่จะทำให้หลุดออกจากภาระหนี้ได้ จัดพื้นที่ ให้เกษตรกรนำสินค้ามาขายให้ผู้บริโภคในบริเวณใกล้ๆ ลดระยะห่างระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค (Farmer Market)
- กลางน้ำ : ลดบทบาทของพ่อค้าคนกลางลง หาช่องทางให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายสินค้าได้ด้วยตนเอง เพื่อจะได้เข้าใจความต้องการของผู้บริโภคผ่านการได้พูดคุยกัน สร้างหัวใจของการเป็นผู้ประกอบการให้เกิดขึ้นกับเกษตรกร
- ปลายน้ำ : ผู้บริโภคหันมาสนับสนุนสินค้าเกษตรปลอดสารพิษ ไม่อุดหนุนแต่สินค้าในห้างที่ไม่ทราบแหล่งที่มา หากประชาชนต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงและช่วยเหลือให้เกษตรกรไทยให้มีอนาคตที่ดี เพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ประชาชนก็ต้องเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงสะท้อนกลับไปให้พ่อค้าคนกลางได้ยินว่า เราต้องการอาหารที่ปลอดสารพิษ และเราต้องปรับตัวหันมาสนับสนุนสินค้าปลอดสารพิษ พยายามศึกษา และค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งอาหารให้มากขึ้น
"ในระยะยาวหากเราแก้ปัญหานี้ได้ทุกคนก็จะมีความสุข เกษตรกรหลุดออกจากวงจรหนี้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่ต้องใช้สารเคมี เข้าใจผู้บริโภคมากขึ้น เริ่มคิดสร้างสรรค์ผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้ามาสนองตอบความต้องการของผู้บริโภค ไม่ใช่รอให้พ่อค้าคนกลางบอกว่าต้องปลูกอะไร จำนวนเท่าไหร่ นอกจากนั้น อีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาคือ แนวคิดการผลิตและจัดจำหน่ายในพื้นที่ตัวเอง เราเชื่อว่าพลังร่วมของคนในสังคมมีส่วนสำคัญ เราได้ชักชวนเกษตรกรลุกขึ้นมาทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันก็ต้องให้ความรู้กับผู้บริโภค ให้เข้าใจกระบวนการผลิตและเหตุผลในการบริโภคอาหารตามฤดูกาล รวมถึงผลักดัน Farmer Market ให้เกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่" อาจารย์อุดม กล่าว
"ภาคธุรกิจ" ผู้พิชิตความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน
การแก้ปัญหาภาวะขาดแคลนทางอาหารโลก อีกส่วนที่ขาดไม่ได้คือ "ภาคเอกชน" หรือ "ภาคธุรกิจ" แม้จะเป็นส่วนเล็กๆ ในการแก้ปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหาร แต่ถ้าช่วยกันเพิ่มโอกาสทางธุรกิจด้วยการนำเอา BCG Model มาปรับใช้ เพื่อช่วยกันยกระดับระบบห่วงโซ่อาหาร (Supply Chain) ในทุกมิติตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ย่อมสร้างความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืนได้
อรุษ นวราช ผู้ก่อตั้งสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ Thai Organic Consumer Association และผู้บุกเบิกสามพรานโมเดล
อรุษ นวราช หรือ โอ ผู้ก่อตั้งสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ Thai Organic Consumer Association และผู้บุกเบิกสามพรานโมเดล ในฐานะภาคเอกชนสามารถขับเคลื่อนประเทศไทย และแก้ไขปัญหาเรื่อง Food Security จากมุมเล็กๆ ได้ด้วยการปรับใช้ BCG Model เล่าว่า ที่ผ่านมาพยายามขับเคลื่อนในส่วนของ เกษตร อาหาร และ ท่องเที่ยว เริ่มจากดึงกลุ่มโรงแรมมาอุดหนุน ซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษ สอนเกษตรกรให้เปลี่ยนจากวิถีเดิมที่ใช้สารเคมีปลูกผักผลไม้ส่งพ่อค้าคนกลาง หันมาปลูกเกษตรอินทรีย์แทน โดยสร้างความเชื่อมั่นว่า "เปลี่ยนวิถี แล้วเราจะรอด" พร้อมกับยกตัวอย่างเกษตรอินทรีย์ในชุมชนอื่นที่มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ปลดหนี้ได้ ไม่ต้องสูดดมสารเคมี ช่วยธรรมชาติบ้านเกิด ส่งต่อมรดกทางการเกษตรที่ดีให้คนรุ่นหลัง
สมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ TOCA (Thai Organic Consumer Association)
นอกจากนั้น ยังชวนหน่วยงานอื่นๆ มาซื้อผลิตภัณฑ์อินทรีย์ เปิดตลาดสุขใจ ให้ผู้บริโภคได้มาพบกับเกษตรกร รวมไปถึงการสร้างแอปพลิเคชัน "TOCA" เน้นให้บริการผู้ประกอบการที่ต้องการสินค้าเกษตรจำนวนมาก หากเกษตรกรเริ่มอยู่ตัวมีรายได้มั่นคง จะเปิดในบริการผู้บริโภครายย่อยมากขึ้น ปัจจุบันได้จับมือหน่วยงานต่างๆ ทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (TCEB) และหอการค้า เชื่อมโยงโรงแรม ร้านอาหาร ที่อยู่ใกล้ตัวเข้าโครงการ Organic Tourism ซึ่งถ้าจะให้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพก็คือ เมื่อนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการ ร้านอาหารหรือโรงแรมที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์จากเกษตรอินทรีย์ จะสามารถสะสมแต้ม (Earth Point) บนแอปฯ TOCA ได้
อายุ จือปา หรือ ลี ผู้ก่อตั้ง "อาข่า อ่ามา" แบรนด์กาแฟเพื่อสังคม กล่าวในฐานะคนรุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะสร้างค่านิยมใหม่ๆ ให้เกษตรกรว่า จริงๆ แล้วยังมีคนรุ่นใหม่สนใจทำการเกษตร แต่คนรุ่นใหม่ๆ ต้องการใช้สมองมากกว่ากำลัง ไม่อยากเป็นทาสของทุนเกษตร ถ้าอยากดึงคนรุ่นใหม่เป็นเกษตรกร ก็ต้องมองพวกเขาเป็นผู้ริเริ่มทำธุรกิจ (Entrepreneur) ที่มีศักยภาพทั้งการผลิต แปรรูป และจัดจำหน่าย เพราะเกษตรยุคใหม่จะต้องไม่เป็นเพียงแค่ผู้ผลิตอาหารแต่ต้องมีหัวใจเป็นผู้ประกอบการด้วย จึงจะสามารถเอาตัวรอดได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น
อายุ จือปา ผู้ก่อตั้ง "อาข่า อ่ามา" แบรนด์กาแฟเพื่อสังคม
"ที่ผ่านมาสินค้าทางการเกษตรถูกกำหนดโดยพ่อค้าคนกลางที่รับซื้อสินค้า เกษตรกรไม่เคยได้คิดออกแบบผลิตภัณฑ์ของตนเอง ทั้งๆที่ของเราเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่มีกระดูกสันหลังของชาติอยู่ในระบบทุนนิยมผูกขาด (Monopoly Capitalism) เราปล่อยให้ประเทศเดินทางมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เรื่อง Food Security ก็คงไกลเกินเอื้อม หากเกษตรยังไม่มีเวลาคิดถึงคุณภาพชีวิตของตัวเอง ถ้าเขายังหิวอยู่ ยังต้องวิ่งหารายได้ เขาจะมามีเวลามาคิดถึงเรื่องใหญ่เกินตัวอย่าง Food Security หรือ BCG Model ได้ยังไง" ลี ตั้งคำถามชวนคิด
ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่อง Food Security ต้องปรับวิธีคิดใหม่ 2 เรื่อง คือ 1. ของดีมีไว้ให้คนไทยกิน ทำไมสินค้าพรีเมียมถึงไม่คู่ควรกับคนไทย ทำไมต้องส่งของดีๆ ให้คนอื่นกิน แล้วเก็บของไม่ดีไว้ให้คนในประเทศ 2. กลับมาทำนาไม่ได้แปลว่าล้มเหลว ครอบครัวเกษตร พ่อแม่คิดถึงลูก แต่ไม่กล้าเรียกลูกกลับบ้าน อยากให้ไปหาอนาคตที่ดี ทำไมการกลับบ้านของคนรุ่นใหม่คือความล้มเหลว? นั้นเป็นเพราะระบบบ้านเราไม่ได้เอื้อให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ พวกเขาจึงไม่เชื่อว่าการกลับบ้านเกิดจะทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จ
"เราต้องสร้างองค์ความรู้ให้ลูกหลานเกษตรหลุดพ้นจากวังวนเดิมที่พ่อแม่เขาเผชิญอยู่ เกษตรกรจะต้องเท่ากับ นักสร้างสรรค์ (Creator) เกษตรกรต้องลุกขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการ ฟังเสียงความต้องการของตลาดเป็น ต้องรู้จักหาความรู้มาพัฒนาสินค้าของตัวเอง ในขณะเดียวกันเกษตรกรต้องมีจิตสำนึก ตระหนักรู้เพื่อลุกขึ้นมาปกป้องผืนป่า ลดใช้สารเคมี และอีกหนึ่งกุญแจสำคัญคือ ผู้บริโภคต้องไม่ติดกับดักพ่อค้าคนกลาง ต้องออกมาเป็นกระบอกเสียง ว่าเราต้องการอาหารสะอาด อาหารที่ปลอดสารพิษ เราต้องการอาหารตามฤดูกาล และทางเลือกอื่นๆ" ลี เผยทางรอดสู่ความยั่งยืน
ปิดท้ายที่ ดวงพร ทรงวิศวะ หรือ เชฟโบ นักขับเคลื่อนระบบอาหารในประเทศไทย (Food Activist) ผู้ก่อตั้ง Food Trust และ โบ.ลาน อาหารศึกษา หากพูดถึง BCG Model สำหรับเธออยากเสนอให้กลับไปดูแนวทางในการพัฒนาเรื่อง SDG ขององค์การสหประชาชาติ เพื่อเป็นแบบอย่าง โดยเธอมองว่าแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) น่าจะเป็นแนวคิดที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้มากที่สุด ทว่าเป็นแนวคิดที่ในวันนี้อาจมีแต่บริษัทใหญ่ๆเท่านั้นที่ทำได้ เพราะถือเป็นการลดต้นทุน และเพิ่มมูลค่าให้บริษัท แต่สำหรับบริษัทเล็กๆ หรือ SMEs การพัฒนาเรื่องนี้คือการเพิ่มต้นทุน เพราะขาดเรื่องปริมาณ(Economy of Scale) ดังนั้นการจัดการของเสียเอามาแปรรูปอาจจะไม่คุ้มต้นทุน ดังนั้นเธอจึงมองว่าทางออกคือต้องทำให้เกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มระหว่างผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อให้เกิดความรู้สึกว่า "ทำแล้วมันคุ้มค่า"
ดวงพร ทรงวิศวะ นักขับเคลื่อนระบบอาหารในประเทศไทย (Food Activist) ผู้ก่อตั้ง Food Trust และ โบ.ลาน อาหารศึกษา
"ส่วนถ้าพูดในมุม F&B เรื่องของเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ต้องตั้งคำถามว่า เรากำลังซื้อของจากใคร เขาเหล่านั้นปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือเปล่า หรือมีความหลากหลายทางชีวภาพ เขามีการจัดการน้ำเสียที่เหมาะสมหรือเปล่า ใช้สารเคมีไหม ควรจะต้องให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ ในด้านการขนส่ง ด้านการบรรจุหีบห่อ มีการนำไปรีไซเคิล (Recycle) หรือไม่ หรือมันมีทางเลือกอะไรบ้าง ให้คุณเลือก เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุกอย่างที่คุณเลือกหรือเกี่ยวข้องการธุรกิจอาหารของคุณเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริงๆ ซึ่งเอาตามความเป็นจริงไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ ในเชิงระบบมันมีหลายอย่างที่ซ่อนอยู่ คนที่มีวิสัยทัศน์อาจเริ่มทำแล้ว แต่ทำไปถึงจุดหนึ่งมันก็อาจจะไม่ได้โปร่งใสอย่างที่ตั้งเป้าไว้" เชฟโบ ให้ความเห็นเพิ่มเติม
ดังนั้น ในฐานะเชฟ สิ่งที่พอจะขับเคลื่อนในเรื่องความมั่นคงทางอาหารได้ก็คือ การนำเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพมาอยู่ในเมนู เช่น ผัดผักรวมต้องไม่ใช่บรอกโคลี ข้าวโพดอ่อน กะหล่ำปลี แต่สามารถเอาแตงโมอ่อน ผักไชยา ใส่เข้าไปได้ ส่วนในฐานะพิธีกรรายการโทรทัศน์ "กินอยู่คือ" มักจะพูดเสมอ ว่าทำไมต้องเลือกกินอาหารอินทรีย์ ผลผลิตพื้นบ้านตามฤดูกาล เพราะนี่คือ "ความมั่งคงทางอาหาร"
"บ้านเรา ถ้ามีดินดี น้ำดี อากาศดี เราผลิตอาหารได้ ประเทศอื่นไม่รู้ แต่บ้านเราทำได้ ทุกอย่างมันเอื้อให้เราทำดีได้ ภัยพิบัติเราก็รู้อยู่แล้วว่ามีอะไร มันเกิดทุกปี องค์ความรู้เราก็มี เรามีครบหมดแล้ว อยู่ที่จะเลือกทำถูกวิธีหรือเปล่า" เชฟโบ กล่าวทิ้งท้าย