“โออาร์” คาดยอดขายน้ำมันปีนี้โต 8-10% ตั้งเป้าขยายธุรกิจ 100 ประเทศในปี 2030
“โออาร์” เล็งขยายธุรกิจไป 100 ประเทศในปี 2030 จากปัจจุบัน 10 ประเทศ แง้มสิ้นปีนี้ เตรียมปิดดีลอีก 1 ประเทศ คาดยอดขายน้ำมันปีนี้จะโต 8-10% จากช่วงเดียวกับปีก่อน ปลื้มงาน Inclusive Growth Days empowered by OR ยอดคนจองเข้าร่วมงานกว่า 3,500 คน
นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ กล่าวในพิธีเปิดงาน “Inclusive Growth Days empowered by OR” ระหว่างวันที่ 22–24 ก.ค. 2565 ที่ บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 22 ว่า วิถีการทำธุรกิจใหม่ด้วยเป้าหมายใหม่ จะสร้างโอกาส เกิดประโยชน์ที่เติบโตมาด้วยกัน จะไม่ได้เติบโตแค่ธุรกิจ แต่เติบโตด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ในอดีตการดำเนินธุรกิจจะเน้นการประสบความสำเร็จ เป็นการทำธุรกิจรูปแบบเดิม ต้องการกำไรให้องค์กรแบบเดิมถือว่าไม่ผิด
อย่างไรก็ตาม เกิดผลลัพธ์ที่จะผลักดันให้เกิด คือ 1. การปฏิวัติด้านอุตสาหกรรม นับว่าเป็นการก่อให้เกิดการก้าวกระโดดระบบเศรษฐกิจของโลก กลายเป็นการแบ่งแยกคนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ คนที่ได้ประโยชน์จากการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยกลุ่มประเทศที่พัฒนาจะมีแค่ 10% ของโลก มีรายได้มากกว่า 90 เท่าของคนที่อยู่ในระบบล่าง
2. การปฏิวัติข่าวสารข้อมูล จะเห็นได้ว่าระบบการศึกษา ระบบอินเทอร์เน็ต จากประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่ดี คน 96% เป็นคนที่อ่านออกเขียนได้ ส่วนประเทศที่ด้อยพัฒนาจะมีสัดส่วนน้อยมาก 3. การปฏิวัติเทคโนโลยี และดิจิทัล พบว่าประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่ดี มีความมั่งคั่ง ทั้งโลกมีแค่ 24% ในยุคการค้าขายอีคอมเมิร์ซมีโอกาสสร้างรายได้มากกว่า และ 4. การปฏิวัติด้านสังคม เป็นผลลัพธ์มาจากการปฏิวัติทางเศรษฐกิจ ประเทศที่พัฒนาแล้วใช้งบประมาณหรือรัฐสวัสดิการคนละ 5,000 ดอลลาร์ต่อปี ส่วนประเทศด้วยพัฒนาใช้งบประมาณแค่ 30 ดอลลาร์ ต่อคนต่อปีเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่า จากปัญหาโควิด-19 การรับวัคซีนเข็มแรกนั้น ประเทศที่พัฒนาแล้วคนเกือบทั้งประเทศมีโอกาสรับวัคซีนเข็มแรกมากกว่า เพราะการบริหารงานด้านสาธารณสุขมีการพูดถึงเยอะ การจะมีสุขภาพที่ดี และได้รับโอกาสทางการแพทย์มัดจะขึ้นอยู่กับเงินในกระเป๋าด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ สังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งแวดล้อมที่เสียหาย สภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงนั้น จะเห็นว่า คนที่มีรายได้สูง จะเป็นผู้ดำเนินธุรกิจและเป็นผู้ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจแต่กลับสร้างผลเสียในวงกว้าง จะส่งผลให้ 8 ปี ต่อจากนี้ คนที่อยู่ในโลก 40% อาจจะต้องอพยพ และไม่สามารถอยู่ในพื้นที่แห้งแล้งได้อีกต่อไป
ดังนั้น การทำธุรกิจต้องเปลี่ยนความคิด องค์กรจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเปลี่ยนความคิดการทำธุรกิจ และต้องเปลี่ยนการทำธุรกิจแบบเดิม ที่เน้นพัฒนาสินค้าตอบโจทย์แค่ปัจจัยที่ 4 แต่ปัจจุบันผู้บริโภคจะให้ความสำคัญว่าสินค้า และบริการแบรนด์นั้นๆ จะสร้างมูลค่าอย่างไร สร้างมลพิษหรือไม่ ถือเป็นคุณค่าที่ช่วยตัดสินใจซื้อหรือใช้แบรนด์นั้น จะเห็นได้ว่า กลุ่มวัยรุ่นสมัยใหม่มองว่าหากใช้พลาสติก 100% ก็จะไม่สนับสนุน
นอกจากนี้ ควรคำนึงว่าต้องตอบแทนผู้มีส่วนได้เสีย ดูความต้องการในบริบทของสังคม เมื่อสังคมสมบูรณ์มากจะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ช่วยขยายตลาด เป็นระบบนิเวศน์ให้คนทุกขนาด ทุกประเภทให้เติบโตไปด้วยกัน ทั้งนี้ จะเกิดผลลัพธ์ในภาพรวม จากที่เคยโตคนเดียวมาเป็นโตไปด้วยกัน เมื่อเป็นวิถีใหม่สภาวะโลกผันผวนรุนแรง ความร่วมมือจะเกิดผลสำเร็จ
ทั้งนี้ โออาร์พร้อมที่จะเป็นองค์กรต้นแบบในการเปลี่ยนวิถีการทำธุรกิจ Exclusive เป็น Inclusive Growth ให้ทุกผู้คนได้เข้ามาใช้บริการร่วมกัน เช่น สถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ปัจจุบันมีจำนวน 2,080 สาขาทั่วประเทศไทย ปีนี้จะเพิ่มเป็น 2,130 แห่ง โออาร์พร้อมเปลี่ยนการให้บริการจากการให้บริการพลังงานรูปแบบเดิมเป็นคอมมูนิตี้ เปิดกว้างรับเอสเอ็มอี ชุมชน เกษตรกร ได้สามารถเข้ามาหารายได้ ใช้แพลตฟอร์มร่วมกัน และเปิดรับสตาร์ทอัพ เพื่อร่วมขยายอีโคซิสเต็มร่วมกับโออาร์ สร้างโอกาสให้คนทุกกลุ่ม ไม่ใช่แค่คนตัวเล็ก แต่ทั้งอาเซียน จะส่งผลต่อความแข็งแรงของประเทศไทยยิ่งขึ้น
“เราดำเนินธุรกิจที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ความหมายเราไม่โตคนเดียว เราเติบโตพร้อมสังคมชุมชนคู่ค้า เราสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์จะเห็นว่า 80% ของสาขาน้ำมันหรืออเมซอนทั่วประเทศเป็นของเอสเอ็มอี เรากำหนดเป้าหมาย 3 ด้าน สังคมดีขึ้น สิ่งแวดล้อมสมบูรณ์ และผลการดำเนินงานเติบโต สำหรับการจัดงานพบว่ายอดลงทะเบียนเข้าร่วมงาน 3,500 คน ถือว่าการเปิดกว้างนี้จะสร้างเวทีให้คนทั่วไปได้พบปะแลกเปลี่ยน การขยายต่างประเทศ โออาร์จะเป็นองค์กรต้นแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจ 5 เดือนที่เหลือ โออาร์จะยังคงเดินหน้าการลงทุนเพิ่มเติมคาดว่าจะมีการร่วมมือทั้งธุรกิจบริการ สตาร์ทอัพ คอร์ปอเรท และเอสเอ็มอี ราว 5 รายเป็นขั้นต่ำ โดยที่ผ่านมา 10 ราย ใช้เงินในจำนวนไม่มากจากจำนวนเงินที่วางไว้ 5 ปี ที่ 9.6 หมื่นล้านบาท ถือว่ายังเหลืออีกเยอะ ซึ่งสิ่งที่ตั้งใจจะลงทุนคือ กลุ่มพลังงานสะอาด เช่น เป็นผู่ให้บริการ เพราะจุดแข็งคือ สถานีบริการน้ำมันจะเป็นจุดชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ได้ โดยเป้าสิ้นปีนี้ที่ 450 สถานี
ส่วนการขยายการลงทุนต่างประเทศ คาดว่าภายในปีนี้จะไปลงทุนอย่างน้อย 1 ประเทศ จากที่มีอยู่แล้ว 10 ประเทศ เป็นลักษณะพาร์ทเนอร์ไม่ใช้เงินลงทุนสูง และตั้งเป้าหมายปี 2030 จะขยายเป็น 100 ประเทศ
สำหรับในวิกฤติพลังงานที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันผันผวน การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น โออาร์มองว่าวิกฤติมาพร้อมโอกาส เมื่อระบบสาธารณสุขดีขึ้น การท่องเที่ยวฟื้นส่งผลให้ผลดำเนินงาน 6 เดือนเมื่อเทียบกับปีก่อนมียอดขายเพิ่มขึ้น 6-8% ส่งผลรวมไปถึงการเข้าใช้บริการนอนออยล์ ในสถานีบริการน้ำมันเพิ่มขึ้นด้วย คาดว่าสิ้นปี 2565 ถ้าไม่มีผลกระทบจากโควิดรอบใหม่ มาตรการรักษาระยะห่างผลดำเนินงานไตรมาส 3-4/2565 จะเข้าสู่เทรนด์ปกติ คือ ฤดูการท่องเที่ยว ไฮซีซั่น จะส่งผลยอดขายน้ำมันปีนี้จะโตกว่าปีที่แล้ว 8-10% ส่วนมาร์เก็ตแชร์ปีนี้อยู่ที่ 38-39% ในขณะที่ปี 2564 อยู่ที่ 34-35%
ส่วนปัญหาของเมียนมาที่เกิดขึ้นขณะนี้ โออาร์แทบจะไม่ได้รับผลกระทบเลย เนื่องจากการร่วมลงทุนกับพาร์ทเนอร์ทั้งการทำคลังน้ำมัน คลังแอลพีจี มีความคืบหน้าแล้ว 80% ส่วนการชำระเงินให้ผู้รับเหมาก็ไม่มีปัญหาอะไร ด้านแฟรนไชส์ อเมซอน จำนวน 6 สาขา ก็ดำเนินธุรกิจได้ปกติ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์