กองทัพคนทุกข์ในยุค DIGITAL วิกฤติเศรษฐกิจไทยปี 2565 ตอน (1)

กองทัพคนทุกข์ในยุค DIGITAL วิกฤติเศรษฐกิจไทยปี 2565 ตอน (1)

วิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นในปี 2565 ซึ่งเป็นยุค Digital กำลังเบ่งบาน ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ NPL ที่เพิ่มขึ้นมาจากคนยากคนจนที่หาเช้ากินค่ำที่ต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ มนุษย์เงินเดือนที่เงินเดือนไม่พอใช้ SME ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุน จะแก้ไขอย่างไร

ผมไม่มีวันลืมวิกฤติเศรษฐกิจไทย เมื่อปี 2540 ที่เรียกว่า “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ซึ่งอยู่ในช่วงชีวิตของการทำงานธนาคารเป็นเพียงแค่ผู้จัดการสาขาของธนาคารพาณิชย์ที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นสาขาสุดท้ายในชีวิตการทำงาน

ก่อนย้ายไปอยู่หน่วยงานในสำนักงานใหญ่ วันที่ 2 ก.ค.2540 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศลดค่าเงินบาท และต้องขอความช่วยเหลือจาก IMF ในวันที่ 2 ส.ค.2540 ในวันที่ 12 ม.ค.2541 เงินบาทอ่อนค่าที่สุดในประวัติศาสตร์ เท่ากับ 56.1 บาทต่อดอลลาร์ ธุรกิจขนาดใหญ่ที่กู้เงินจากต่างประเทศมีหนี้เพิ่มสูงขึ้นแบบทวีคูณจนล้มละลายทำให้ NPL สูงถึง 45% จำนวน 2.5 ล้านล้านบาท ต้องปิด 56 ไฟแนนซ์ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบ รายได้ประชาชาติตกต่ำ สภาวะเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ ซึ่งหนักหนาสาหัสกว่าสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ปัจจัยที่ก่อให้เกิดวิกฤต เมื่อ 25 ปีที่แล้ว เป็นเรื่องที่ผมอยากทบทวนความจำและเป็นบทเรียนในการเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2565

วิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 มูลเหตุสำคัญส่วนหนึ่ง เกิดจากความผิดพลาดในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ใช้นโยบายเสรีนิยมทางการเงิน ปล่อยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าออกระหว่างประเทศได้อย่างเสรี โดยปราศจากประสิทธิภาพในการควบคุมและกำกับ ปล่อยให้ระบบเศรษฐกิจไทยมีการใช้จ่ายเกินตัว หลังเดือนก.ค.2540 ระบบเศรษฐกิจอยู่ในภาวะล้มละลาย เนื่องจากทุนสำรองระหว่างประเทศไม่เพียงพอในการชำระคืนหนี้ต่างประเทศ เงินสำรองระหว่างประเทศไม่รวม forward ปี 2540 เหลือเพียง 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์ เงินสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ระยะสั้นเพียง 0.7 เท่า 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงต่อธุรกิจที่กู้เงินจากต่างประเทศในการลงทุนและประกอบกิจการ ซึ่งธนาคารพาณิชย์ส่งเสริมให้ลูกค้ากู้เงินจากต่างประเทศก่อนเกิดวิกฤติมีภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเงินบาทมีค่าตกต่ำลงอย่างมาก เกิดภาวะขาดทุนอย่างหนัก ธุรกิจจำนวนมากล้มละลาย และยังมีการเปลี่ยนแปลงนิยาม NPL เข้มงวดขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของ BIS ทำให้ NPL เพิ่มสูงขึ้นแบบทวีคูณ สถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยสินเชื่อเพราะกังวลกับปัญหาเรื่อง NPL การขาดแคลนเงินทุนทำให้ธุรกิจจำเป็นต้องอาศัยเงินทุนจากต่างประเทศ ทำให้บริษัทต่างประเทศกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 

ในเดือน ส.ค.2540 รัฐบาลต้องขอความช่วยเหลือจาก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF จำเป็นต้องรับใบสั่ง ให้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคแบบถดถอย (Contractionary Maccroeconomic Policy) ด้วยการรัดเข็มขัดทางการคลัง (Fiscal Austerity) ตรึงดอกเบี้ยไว้ในระดับที่สูง (Tight Money Policy) ทำให้ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ (Recession) แปรเปลี่ยนเป็นภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ (Depression) เศรษฐกิจที่เติบโต 5.7% ในปี 2539 ติดลบ 2.8% ในปี 2540 ดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบ 2% เกิดปัญหาเงินเฟ้อสูงที่ เรียกว่า Demand pull การล้มลงของธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นบริษัทจดทะเบียน ที่มี D/E สูงถึง 5 เท่า ทำให้คนตกงานมากขึ้น

ผมยังไม่ลืม NPL ที่สูงเกือบ 50% เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของระบบธนาคารพาณิชย์ (BIS Ratio) เหลือเพียงแค่ 9% หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจไม่นาน ผมก็ย้ายเข้าทำงานทางด้านสินเชื่อของสำนักงานใหญ่ เป็นการทำงานหนักครั้งหนึ่งของชีวิต ท่ามกลางซากปรักหักพังของธุรกิจขนาดใหญ่ ที่พวกเราคุยกันในช่วงนั้นว่าคนรวยล้ม ไม่นานคงจะฟื้นได้ ธนาคารที่ผมทำงานอยู่อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ตามโครงการอัศวินม้าขาว เป็น Lead Bank ที่ทำให้สถาบันการเงินอื่นทำตาม มีการ Hair Cut หนี้ให้ลูกหนี้เป็นจำนวนมาก จนสภาวะเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัว

วิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นในปี 2565 ซึ่งเป็นยุค Digital กำลังเบ่งบาน ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ NPL ที่เพิ่มขึ้นมาจากคนยากคนจนที่หาเช้ากินค่ำที่ต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ มนุษย์เงินเดือนที่เงินเดือนไม่พอใช้ SME ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุน ปี 2565 ปีที่ “กองทัพคนทุกข์ในยุค Digital” กำลังเกิดขึ้นทั่วทุกหัวระแหง จะแก้ไขอย่างไร 

ต้องติดตามตอนต่อไปครับ……