วัดขุมกำลัง “ไทยเบฟ VS ซีอาร์จี” ลุ้นชิง “KFC” หมื่นล้าน! รับไม้ต่อ RD

วัดขุมกำลัง “ไทยเบฟ VS ซีอาร์จี”  ลุ้นชิง “KFC” หมื่นล้าน! รับไม้ต่อ RD

ต้องตามต่อสำหรับ “บิ๊กดีล” การรับช่วงธุรกิจร้านอาหารบริการด่วน(Quick Service Restaurant : QSR) แบรนด์ระดับโลก “เคเอฟซี”(KFC) ที่ก่อนหน้านี้ แฟรนไชส์ซีอย่างบริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด หรือ RD ต้องการขายกิจการสาขาในประเทศไทย เป็นวงเงินถึง “หมื่นล้านบาท”

ความพยายามดังกล่าว เกิดขึ้นมาระยะใหญ่ แต่ต้องสะดุดเพราะพิษสงโควิด-19 นาทีวิกฤติ คงไม่มีผู้ประกอบการรายใด ต้องการลงทุนก้อนโต กลับกันต้องคุมเข้มดูแล “สภาพคล่อง” รักษากระแสเงินสด ไม่ก่อนหนี้เป็นดี

ทว่า ล่าสุด รอยเตอร์รายงานความเคลื่อนไหวของดีลใหญ่นี้อีกครั้ง เมื่อ RD ยังต้องการทิ้งธุรกิจร้านเคเอฟซีที่ผู้บริหารอยู่ราว 200 สาขา ให้กับผู้ที่มีศักยภาพต่อไป

 

เคเอฟซีในมือ ‘ไทยเบฟ-ซีอาร์จี-อาร์ดี’

ข้อมูลจากวงการร้านอาหาร QSR ระบุว่า เคเอฟซี มีจำนวนร้านราว 915 สาขา จากกลางปี 2563 มีร้านราว 826 สาขา ทั้งนี้ บิ๊กเพลย์เยอร์ 3 รายแบ่งกันดูแล ได้แก่

-กลุ่มเซ็นทรัล ภายใต้บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัดหรือซีอาร์จี มีร้านดูแลราว 300 สาขา (ณ พ.ย.64)

-กลุ่มไทยเบฟเวอเรจ ภายใต้ บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด มีร้านราว 378 สาขา (ณ ต.ค.64)

-อาร์ดี มีร้าน 236 สาขา (ณ เม.ย.65) ซึ่งตามแผนธุรกิจบริษัทจะเปิดร้านใหม่เพิ่ม 28 สาขา และปรับปรุงสาขาเดิม 28 สาขาเช่นกัน

การที่แบรนด์ไก่ทอดระดับโลก “เคเอฟซี” อยู่ในมือทั้ง 3 ราย หากวัดขุมพลัง มีศักยภาพ แตกต่างกัน “อาร์ดี” นั้นแข็งแกร่งในการเป็นผู้ดูแลเคเอฟซี พื้นที่ภาคใต้ ส่วน “ไทยเบฟ” เป็นธุรกิจใต้อาณาจักร “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” โดยมีทายาท “หนุ่ม ฐาปน สิริวัฒนภักดี” รับบทขับเคลื่อน ด้านเงินทุนแข็งแกร่งไม่แพ้ใคร จากขนาดธุรกิจมูลค่า “แสนล้านบาท” แต่ภาพรวมธุรกิจอาหารของกลุ่มในครึ่งปีแรกยังแบก “ขาดทุน” กว่าร้อยล้าน

ขณะที่ “ซีอาร์จี” อยู่ภายใต้กลุ่มเซ็นทรัล ของตระกูล “จิราธิวัฒน์” เจ้าของอาณาจักรห้างค้าปลีกเบอร์ 1 ของเมืองไทย ศักยภาพเงินทุน “แสนล้าน” ไม่เป็นสองรองใครเช่นกัน หากมองแค่ “ซีอาร์จี” ปี 2564 ปิดยอดขาย 9,370 ล้านบาท จากร้าน อาหารทั้งสิ้น 17 แบรนด์ จำนวน 1,380 สาขา

รายงานข่าวจากรอยเตอร์ ระบุว่าแนวโน้มที่ “เคเอฟซี” อีกกว่า 236 สาขาของ “อาร์ดี” มูลค่า "หมื่นล้าน" อาจอยู่ในมือของ 2 ยักษ์ใหญ่ "ไทยเบฟ-ซีอาร์จี" ทว่าที่สุดแล้วต้องเกาะติดใครจะเป็นผู้ชนะคว้าดีลนี้ไปครอง

 

ร้านอาหาร QSR 45,000 ล้าน โต 2.3%

ช่วงวิกฤติโควิด-19 มาตรการรัฐในการสกัดโรคระบาด ทำให้ล็อกดาวน์ธุรกิจร้านอาหาร จนผู้ประกอบการเดือดร้อนกันถ้วนหน้า แต่เจาะลึกภาพรวมตลาดร้านอาหาร QSR ในปี 2562-2564 ยังมีการเติบโตเป็นบวก 2.3% ทำให้มูลค่าตลาดอยู่ที่ 45,000 ล้านบาท จาก 44,000 ล้านบาท

สำหรับตลาดร้านอาหาร QSR ไม่ได้มีแค่ “ไก่ทอด” เท่านั้น ตลาดยังมีทั้งเบอร์เกอร์ แซนวิช อีกด้วย

เมื่อเจาะตลาด “ไก่ทอด” นอกจาก “เคเอฟซี” เป็นผู้เล่นรายใหญ่ ยึดครองความเป็นเบอร์ 1 อย่างยาวนาน แต่ผู้ท้าชิงใหม่ ไม่ธรรมดา เพราะทุนหนาปึ้ก! นั่นคือ “เท็กซัส ชิคเก้น” บริหารโดยบริษัทในเครือของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติอย่าง บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ “โออาร์” นั่นเอง

ใครครองสังเวียน QSR บ้าง?

สมรภูมิธุรกิจร้านอาหาร QSR เป็นเกมรบของ “ขาใหญ่” ต่อสู้กัน ทั้งชื่อชั้นองค์กร เงินทุน ที่พร้อมติดอาวุธทำตลาดฟาดฟันแหลกลาญ เพื่อชิงเงินในกระเป๋าผู้บริโภค และสัดส่วนตลาดปั๊มยอดขาย

แล้วใครครองสังเวียนไหนกันบ้าง กรุงเทพธุรกิจ นำข้อมูลจากวงการร้าน QSR มาให้ผู้บริโภครู้จัก

-ไก่ทอด ‘เคเอฟซี’ อยู่ในมือ ไทยเบฟ ซีอาร์จี และอาร์ดี รวม 915 สาขา

-เบอร์เกอร์ 'แมคโดนัลด์' 245 สาขา อยู่ในมือเจ้าพ่อโรงหนัง “วิชา พูลวรลักษณ์”

-เบอร์เกอร์ ‘เบอร์เกอร์คิง’ 118 สาขา อยู่ในมือของ ไมเนอร์ กรุ๊ป อาณาจักรของบิ๊ก “วิลเลียม ไฮเน็ค”

-แซนด์วิช ‘ซับเวย์’ 140 สาขา ภายใต้ อะเบาท์ แพสชั่น กรุ๊ป ของ “ธนากร ธนวริทธิ์” เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ที่รับบทเป็นเจ้าของขอทำตัวเงียบๆ

-ไก่ทอด ‘เท็กซัส ชิคเก้น’ 86 สาขา ภายใต้ “โออาร์”

อย่างไรก็ตาม หากติดตามผู้ประกอบการเหล่านี้ จะเห็นแต่ละรายมีแผนธุรกิจสร้างการเติบโตต่อเนื่อง และการซื้อกิจการ เป็น “ทางลัด” ที่หลายรายพร้อมลุย โดยต้นปีที่ผ่านมา การประกาศแผนธุรกิจของ “ซีอาร์จี” มีการเตรียมวงเงินเพื่อซื้อกิจการ 1-2 ดีล ส่วน “ไทยเบฟ” เป็นเจ้าบุญทุ่มเสมอ โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อคว้าแบรนด์ยักษ์ใหญ่มาอยู่ในอาณาจักรเสริมพอร์ตโฟลิโอ

ขณะที่ “อะเบาท์ แพสชั่น กรุ๊ป” เป็นอีกรายที่สนใจธุรกิจร้านอาหารแบรนด์ใหญ่ระดับโลกเช่นกัน ในแผนธุรกิจยังมีการเจรจากับแบรนด์ใหม่หลายราย ส่วน “ดีล” ของแต่ละรายจะจบลงอย่างไร เป็นแบรนด์ไหน แล้วสาขาของร้าน “KFC” จะเป็นของหรือไม่ ลุ้น!!