ศึกชิงร้านไก่ทอด ‘เคเอฟซี’ ‘ไทยเบฟ VS เซ็นทรัล’ เกมที่แพ้ไม่ได้!
ตลาดไก่ทอด “หมื่นล้าน” ระอุรอบใหม่ เมื่อบริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด หรือ “อาร์ดี” มีความพยายามในการขายกิจการร้านอาหารบริการด่วน(Quick Service Restaurant : QSR) แบรนด์ระดับโลกอย่าง “เคเอฟซี”(KFC) ที่มีราว 236 สาขาอีกครั้ง
บนสังเวียนธุรกิจ การแข่งขันเมื่ออ่อนแอ..ต้องแพ้ไปตามเกม และหากดูผลการดำเนินงานของ “อาร์ดี” ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา บริษัทเผชิญภาวะ “ขาดทุน” อย่างต่อเนื่อง ทำให้แบกภาระขาดทุนบักโกรกหลายปี รายงานจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า ปี 2559 “อาร์ดี” ขาดทุนกว่า 80 ล้านบาท ปี 2560 ขาดทุนกว่า 144 ล้านบาท ปี 2561 ขาดทุนกว่า 92 ล้านบาท ปี 2562 ขาดทุนกว่า 127 ล้านบาท ปี 2563 ขาดทุนกว่า 280 ล้านบาท และปี 2564 ขาดทุนกว่า 232 ล้านบาท
จุดอ่อน “อาร์ดี” ไร้ขุมกำลังทำเลทอง
สอดคล้องกับแหล่งข่าววงการธุรกิจอาหาร ให้ความเห็นว่า สถานการณ์ธุรกิจของ “อาร์ดี” ไม่สู้ดีนัก เนื่องจากผลการดำเนินงานของบริษัทขาดทุนมาโดยตลอด เนื่องจากบริษัทมี “จุดอ่อน” ใหญ่คือ “ช่องทางจำหน่ายสินค้า” หรือในมิติร้านอาหารคือ “ทำเลทอง” นั่นเอง
ทั้งนี้ เมื่อวัดขุมกำลังของแฟรนไชส์ทั้ง 3 ราย ที่รับหน้าที่ขยายสาขาร้านเคเอฟซี ประกอบด้วย กลุ่มเซ็นทรัล ภายใต้บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัดหรือซีอาร์จี ซึ่งมีร้านดูแลราว 300 สาขา (ณ พ.ย.64) จุดเด่นของ “ซีอาร์จี” ไม่ใช่แค่เงินทุน ทีมงาน แต่การเป็นเจ้าของห้างค้าปลีก โมเดลการเปิดสาขาทำได้ง่าย อีกทั้งห้างยังดึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย(Traffic) ช่วยให้มาใช้บริการในร้านเคเอฟซีด้วย
ขณะที่กลุ่มไทยเบฟเวอเรจ ภายใต้ บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัดหรือคิวเอสอาร์ มีร้านราว 378 สาขา (ณ ต.ค.64) ซึ่งมาทีหลัง แต่ขุมพลังของกลุ่มยิ่งใหญ่มาก หากมองไปถึงอาณาจักร “ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น” หรือทีซีซี กรุ๊ป มีโครงการมิกซ์ยูสต่างๆ ทั้งอาคารสำนักงาน ศูนย์ประชุม ห้างค้าปลีกโดยเฉพาะไฮเปอร์มาร์เก็ต “บิ๊กซี” เอื้อต่อการขยายสาขา
นอกจากนี้ กลุ่มไทยเบฟ ยังยึดทำเล “สถานีบริการน้ำมัน” หรือปั๊มของปตท. รวมถึงร้านรูปแบบไดรฟ์ทรู ฟู้ดทรัค ฯ จึงไม่แปลกแม้มาหลัง แต่มีจำนวนร้าน “แซง” ทุกรายขึ้นที่ 1 เรียบร้อย
ร้านเคเอฟซี ไดรฟ์ทรู สาขาเอกมัย ของ 'อาร์ดี'
ฟาก “อาร์ดี” มาก่อนแตมีร้าน 236 สาขา (ณ เม.ย.65) ตามแผนธุรกิจปีนี้จะเปิดร้านใหม่เพิ่ม 28 สาขา โดยสาขาส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ไม่ต่ำกว่า 70 ร้าน ทั้งเมืองท่องเที่ยว รูปแบบร้านเดี่ยวหรือสแตนอะโลน แม่เหล็กดึงดูดผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายน้อยลง ซ้ำร้ายช่วงโควิดระบาดกว่า 2 ปี ทำให้ร้านในแหล่งท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนักมาก ขุมกำลังจึงอ่อนแรงลงเมื่อเทียบกับ 2 ยักษ์ใหญ่ข้างต้น
“การแข่งขันไม่มีอนาคต ไม่มีความหวัง โอกาสทำตลาดเล็กลง เพราะจุดอ่อนของอาร์ดี คือช่องทางการเปิดสาขา ซีอาร์จีได้เปรียบเรื่องทำเล อย่างเซ็นทรัลเปิดห้างที่สมุย เคเอฟซีจากซีอาร์จีก็ไปด้วย ส่วนไทยเบฟ ในกลุ่มมีห้างบิ๊กซีรองรับการเปิดสาขา อาร์ดีเห็นแล้วคงสู้ไม่ไหว แนวรบต่างๆโดนกวาดลูกค้าได้หมด”
ดีลใหญ่ ‘ไทยเบฟ-ซีอาร์จี’ แพ้-ชนะ ชี้ชะตาผู้นำ-เบอร์รอง
รายงานข่าวระบุการขายร้านเคเอฟซีของอาร์ดี มีมูลค่าราว “หมื่นล้านบาท” ใกล้เคียงครั้งที่บริษัท ยัม เรสเตอรองท์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ขายกิจการร้านเคเอฟซีล็อตสุดท้าย 240 ให้แก่กลุ่มไทยเบฟด้วยมูลค่า 11,300 ล้านบาท
แหล่งข่าวกล่าวเสริมว่า ศึกชิงร้านเคเอฟซีครั้งนี้ “ไทยเบฟ” และ “เซ็นทรัล” ต่างพ่ายแพ้ในการแข่งขันไม่ได้ เพราะในเกมธุรกิจจะเป็นตัวชี้วัดตำแหน่งทางการตลาดทันที
ตัวอย่างพอร์ตโฟลิโอร้านอาหาร 'ไทยเบฟ'
“เกมนี้ผู้เข้าแข่งขัน 2 ราย แพ้ไม่ได้ เพราะใครได้จำนวนสาขาของอาร์ดีไปจะเป็นผู้ชนะในตลาดไก่ทอด รายหลังเป็นผู้ตามจะลำบาก ลึกๆเชื่อว่า ซีอาร์จีของกลุ่มเซ็นทรัลต้องสู้ เพราะเคเอฟซี คือแบรนด์หัวหอกที่ทำกำไร”
ทั้งนี้ ดีลนี้ยังมองซีอาร์จี มีความได้เปรียบ เนื่องจากมีทีมบริหารมากฝีมือ ภายใต้อาณาจักรธุรกิจอาหารมีแบรนด์มากถึง 17 แบรนด์ กว่า 1,300 สาขา เช่น เคเอฟซี มิสเตอร์โดนัท อานตี้ แอนส์ โอโตยะ อร่อยดี สลัด แฟคทอรี่ ฯ
“วันนี้จำนวนสาขาร้านเคเอฟซี ซีอาร์จียังแพ้อยู่ หากผนวกกว่า 200 สาขาได้ จะครองสัดส่วน 60-70%”
ตัวอย่างแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอของ 'ซีอาร์จี'
เกาะติด"โออาร์” ตาอยู่เขย่าบัลลังก์ไก่ทอด
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ที่น่าสนใจคือเกาะติด “ตาอยู่” มาท้าชิงร้าน “เคเอฟซี” อย่าง บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ “โออาร์” หนึ่งในบริษัทลูกของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ที่เดินกลยุทธ์สร้างการเติบโตเชิงรุกร่วมกัน พร้อมวางงบลงทุน 200,000 ล้านบาท ในช่วง 10 ปี
หากมาดูร้านไก่ทอด “เท็กซัส ชิคเก้น” ของ “โออาร์” การทำตลาดยังยาก เนื่องจากแบรนด์ “ไม่คุ้น” หรือไม่ดังนักสำหรับผู้บริโภควงกว้าง ดังนั้นโอกาสที่ “โออาร์” จะขึ้นเบอร์ 1 ตลาดไก่ทอดบนสังเวียนร้านอาหาร QSR จึงไม่ง่าย การมีร้านเพียง 86 สาขา การเพิ่มจำนวนต้องประมือกับร้านเคเอฟซีที่มีเต็มบ้านเต็มเมืองเกือบ 1,000 สาขาแล้ว
“มองตาอยู่นะ หากเป็นโออาร์ จะซื้อร้านเคเอฟซีมาขยายในปั๊ม เป็นเกมเตะตัดขาคู่แข่ง และหากร้านของไทยเบฟทีอยู่ในปั๊มหมดสัญญาเช่า ยังสวมสิทธิ์ได้ มีลูกค้ากลุ่มเป้าหมายในพื้นที่หรือ Catchment area รองรับ แต่ตอนนี้ที่เห็นการชิงดีลมีเพียงตาอินกับตานา ยังไม่มีตาอยู่ ซึ่งโออาร์ซื้อได้สบายมาก เงินเพียง 300 ล้านดอลลาร์ กระสุนดินดำเพียบต่อยอดการพลิกภาพโออาร์เป็นอาร์โอ หรือรีเทล ออยล์”
โลกแบ่งขั้วกระเทือนธุรกิจ
ปัจจุบันสถานการณ์ธุรกิจเผชิญปัจจัยเสี่ยงท้าทายมากมาย หนึ่งในนั้นคือโลกแบ่งขั้ว สงครามรัสเซีย-ยูเครน สะท้อนภาพชัดขึ้น การแทรกแซงต่างๆ ทำให้ธุรกิจฝั่งสหรัฐฯ ต้องถอนทัพจากรัสเซียจำนวนมาก ด้านนโยบาย ยัมฯเอง เน้นบริหารแบรนด์ ทำการตลาดมากกว่าบริหารร้าน เปิดสาขาต้องลงทุนมหาศาล เป็นต้น
นอกจากนี้ การมีแฟรนไชส์จาก 3 ราย เหลือ 2 ราย ทำให้เจ้าของแบรนด์ปวดหัว หรือมีปัญหาการขับเคลื่อนธุรกิจน้อยลง เพราะแม้จะมีการแบ่งเขตเปิดร้านค้าขาย แต่ด้วยจำนวนกว่า 900 สาขา จึงอาจทับเส้น(Cannibalize)กันบ้าง จนแบรนด์ต้องเรียกทั้ง 3 รายเพื่อหาทางออกที่ลงตัว
“การบริหารแบรนด์ ทำการตลาด กินค่าต๋ง ค่าธรรมเนียมต่างๆ แฮปปี้ สบายกว่า อีกทั้งเทรนด์โลกยังแบ่งขั้วอำนาจ การทำธุรกิจ เผชิญแรงกดดันชาตินิยม การเลือกข้าง ทำให้ไม่รู้ว่าผู้บริโภคคนไหนอยู่ข้างแบรนด์เราบ้าง ที่สำคัญเหลือแฟรนไชส์ซี 2 ราย ปัญหาไม่เห็นด้วยจะน้อยลง บริหารง่ายขึ้น”
ด้านภาพรวมธุรกิจร้านอาหาร QSR ยังมีแนวโน้มเติบโต ช่วงโควิดระบาดถือเป็นหมวดที่ขยายตัว ด้วยรูปแบบเมนูอาหารปรุง รับประทานง่าย ต่อยอดโมเดลเดลิเวอรีรวดเร็ว โดยปี 2562-2564 การเติบโตเป็นบวก 2.3% มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 45,000 ล้านบาท จาก 44,000 ล้านบาท
ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคไม่เพียงคนรุ่นใหม่ที่ยังทานฟาสต์ฟู้ด แต่ต่างจังหวัดเข้าถึง “เคเอฟซี” มากขึ้น จากอดีตมองเป็นแบรนด์ระดับโลก สินค้าพรีเมียม ราคาแพง การทำตลาดและโปรโมชั่นของ “เคเอฟซี” ยังดึงวัยรุ่น ครอบครัว เข้าใช้บริการจำนวนมาก
“เมื่อก่อนผู้บริโภคมองเคเอฟซีแพง ปัจจุบันเมนูถูกปาก และมีชุดอาหารหรือเซ็ทจำหน่ายทั้งไก่ทอดและเครื่องดื่มในราคาไม่ถึง 100 บาท”