เปิด "แผนพลังงานชาติ 2022" ดันประเทศไทยไร้คาร์บอน
“ประเทศไทย” ก้าวสู่ภายใต้ยุคการเปลี่ยนแปลงทุกมิติทั้ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยี รวมถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตใหม่จากสถานการณ์โควิด-19
หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญต่อประเด็นสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะกระทบในระยะยาว ส่งผลกระทบต่อการวางแผนด้านนโยบายพลังงานของประเทศไทย ให้มีความซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมของทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้พลังงานมีการเปลี่ยนแปลงไป
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้จัดทำ “แผนพลังงานชาติ" (National Energy Plan 2022) ซึ่งรวมทั้ง 5 แผนพลังงานไว้ด้วยกัน ประกอบด้วย
1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3.แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ 5. แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีเป้าหมายที่ไทยจะบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ.2065
ที่ผ่านมาไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละ 350 ล้านตัน สูงอันดับต้นของโลก โดยภาคที่ต้องลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญคือ ภาคพลังงาน ภาคครัวเรือน และภาคขนส่ง เพราะปล่อยก๊าซคาร์บอนรวมกันปีละราว 250 ล้านตัน
ดังนั้น รัฐบาลได้ผลักดันการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น โดยเพิ่มพลังงานหมุนเวียนเพื่อสร้างสมดุลที่มาจากพลังงาน ลม ชีวมวล และแสงอาทิตย์ ซึ่งต้องปรับเป้าหมายการทำแผนใหม่ โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นผู้จัดทำแผน ประกอบด้วย
1.ด้านไฟฟ้า เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน (RE) ไม่น้อยกว่า 50% ให้สอดคล้องแนวโน้มต้นทุน RE ที่ต่ำลง โดยพิจารณาต้นทุนของระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ร่วมด้วย และไม่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าระยะยาวสูงขึ้น
2.ด้านก๊าซธรรมชาติ จะเน้นการเปิดเสรีและการจัดหาเพื่อสร้างความมั่นคงให้ระบบพลังงานประเทศ และการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็น Regional LNG Hub
3.ด้านน้ำมัน ต้องปรับแผนพลังงานภาคขนส่ง และพิจารณาการบริหารการเปลี่ยนผ่าน สร้างความสมดุลระหว่างผู้ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio Fuel) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
4.ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จะส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนทุกภาคมากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานจากทุกภาคส่วนให้เข้มข้นขึ้น
ทั้งนี้ สนพ.เริ่มเปิดรับฟังความคิดเห็น “กรอบแผนพลังงานชาติ” ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำความเห็นไปประกอบการทำแผน ซึ่งมุ่งสู่พลังงานสะอาด เตรียมรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการดึงนักลงทุนต่างประเทศ และคำนึงความมั่นคงของระบบไฟฟ้า โดยเฉพาะภายใน 1-10 ปีข้างหน้า จะเร่งพลังงานสะอาดมากขึ้นและเป็นแผนที่ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น
ทั้งนี้ แต่ละแผนย่อยจะต้องรวบรวมมาผนวกแล้วเสร็จช่วงปลาย มิ.ย.-ก.ค.2565 เพื่อเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) คาดจะประกาศใช้ปี 2566