EA นับหนึ่งธุรกิจ "โรงไฟฟ้าขยะ" เล็งประมูลจ.ภูเก็ตแห่งแรก !
"อีเอ" รุกลงทุน "โรงไฟฟ้าขยะ" จับมือพันธมิตรประมูล กำลังผลิต 8 เมกะวัตต์ ประเดิมจังหวัดภูเก็ตแห่งแรก เผยเปลี่ยนแผงโซลาร์ใหม่ หนุนประสิทธิภาพการผลิตดีขึ้น 10% พร้อมตั้งเป้ารายได้ปีนี้โต 20%
เมื่อทิศทางนโยบายรัฐต้องการแปรรูป “ขยะ” ให้เป็น “พลังงาน” โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะทั่วประเทศ สอดคล้องตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี 2022) ที่คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มกำลังการผลิตของพลังงานทดแทนประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งรวมถึงการเพิ่มกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าขยะราว 200 เมกะวัตต์
หนึ่งในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจพลังงานหมุนเวียนทั้ง พลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) และพลังงานลม (Win) อย่าง บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA มองเห็นโอกาสดังกล่าว และเป็นจังหวะเดียวกับนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนลงทุน เนื่องจากปัจจุบันขยะ เป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องรีบได้รับการแก้ไข...
เราเพิ่งเริ่มตั้งไข่ในธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะ ! “อมร ทรัพย์ทวีกุล” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เล่าให้ “กรุงเทพธุรกิจ” ฟังว่า ปัจจุบันบริษัทมีการ “แตกไลน์” เข้าไปสู่ “ธุรกิจการบริหารจัดการขยะ” สะท้อนผ่านบริษัทจับมือกับพาร์ตเนอร์สามารถชนะการประมูลงานบริหารจัดการขยะ บนเกาะล้าน จังหวัดชลบุรี โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอลงนามสัญญาฯ ดังนั้น นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2565 เป็นต้นไป จะเห็น EA เข้าไปมีบทบาทในเรื่องของ “การผลิตพลังงานจากขยะ” (Wast to Energy) มากขึ้น
รวมทั้ง ในอนาคตบริษัทยังมีแผนรุกเข้าสู่ “ธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะ” อีกด้วย หลังจากภาครัฐเปิดรับซื้อไฟฟ้า คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายใน 2 ปีข้างหน้า (2565-2566) เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มพลังงานทดแทน และทดแทนรายได้จากการรับซื้อไฟฟ้าแบบ Adder ที่จะหมดอายุลง
สะท้อนผ่านบริษัทกำลังจับมือกับ “พาร์ตเนอร์” เข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าขยะ ในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าแห่งที่ 2 ของภูเก็ต กำลังผลิต 8 เมกะวัตต์ หลังจากที่จ.ภูเก็ตมีโรงไฟฟ้าไปแล้ว 1 แห่ง หากชนะประมูลโรงไฟฟ้าขยะดังกล่าว คาดจะใช้เงินลงทุนประมาณ 300-400 ล้านบาท และคาดรับรู้รายได้ปลายปี 2566 รวมทั้งมองหาพื้นที่ใหม่ที่มีศักยภาพในการลงทุนเข้าประมูลโรงไฟฟ้าขยะแห่งใหม่ด้วย
อย่างไรก็ตาม มองว่าธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะเป็น “โอกาสใหม่” เนื่องจากปัจจุบันปัญหาขยะต้องได้รับการแก้ไข แต่ในส่วนของ EA นั้นยังเป็นแค่เพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น และเป็นจังหวะที่มีพาร์ทเนอร์ที่มาชวนไปลงทุน ซึ่งพาร์ทเนอร์มีความรู้และถนัดในธุรกิจดังกล่าว แต่ขาดเงินลงทุน ซึ่งบริษัทเข้าไปสนับสนุน
“เรามองตัวเองเพิ่งเริ่มตั้งไข่ในธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งยังเป็นสัดส่วนที่เล็กมากเมื่อเทียบกับธุรกิจอีวี แต่มองเป็นโอกาสที่ดี เพราะเมืองไทยต้องแก้ปัญหาในเรื่องของขยะที่มีจำนวนมาก แม้ว่าปัจจุบันจะมีเสียงคัดค้าน แต่เชื่อว่ายังไงก็ต้องกำจัดขยะ และด้วยเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าขยะสามารถดำเนินการกำจัดได้อย่างดี”
นอกจากนี้ บริษัทดำเนินการเปลี่ยนแผงโซลาร์ของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าดีขึ้น 10% โดยปัจจุบันเหลือเพียงแค่โครงการที่จังหวัด พิษณุโลก ที่อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะต้องเปลี่ยนแผงใหม่หรือไม่
สำหรับ ผลดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2565 คาดเติบโตมากกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากบริษัทดำเนินการเปลี่ยนแผงโซลาร์ใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าดีขึ้นมาก จะส่งผลดีต่อการรับรู้รายได้เข้ามามากขึ้น ประกอบกับ บริษัทจะทยอยรับรู้รายได้จากการส่งมอบรถบัสไฟฟ้า (E-Bus) ด้วย ซึ่งไตรมาส 3 ปี 65 คาดว่าจะส่งมอบ 1,000 คนั และทั้งปีนี้คาดว่าส่งมอบรถบัสไฟฟ้าได้ราว 2,000 คัน
ขณะที่ภาพรวมทั้งปี 2565 ตั้งเป้าเติบไม่ต่ำกว่า 20% ตามการเติบโตของทุกธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ EV ซึ่งนอกเหนือจากการส่งมอบ E-Bus แล้ว ปัจจุบันก็อยู่ระหว่างการเจรจาความร่วมมือกับผู้ประกอบการรถบรรทุก เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้รถบรรทุกไฟฟ้า (E-Truck) มากขึ้น คาดว่าจะสามารถส่งมอบ E-Truck ได้หลายร้อยคันในปีนี้ ซึ่งจะช่วยต่อยอด EA Ecosystem ทั้งระบบ
อีกทั้ง บริษัทยังเดินหน้าขยายกำลังผลิตโรงงานแบตเตอรี่เป็น 2 กิกะวัตชั่วโมงต่อปี (GWH) จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี โดยวางงบลงทุนประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท
“ธุรกิจ EV ยังเป็นพอร์ตใหญ่ที่คาดจะโตโดดเด่นทั้งในส่วนของ แบตเตอรี่ , รถบัสไฟฟ้า , รถบรรทุกไฟฟ้า และสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า”
“อมร” บอกว่า บริษัทมีเป้าหมายที่จะพัฒนาองค์กรจากการเป็นผู้ผลิตพลังงานสะอาดสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจ EV แบบครบวงจร ซึ่งในปี 2565 จะเป็นปีแห่งการเก็บเกี่ยวผลตอบแทนจากที่ได้ทยอยลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังมีการลงทุนเพิ่มเติม โดยจะเน้นในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งจะสนับสนุนการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
ล่าสุด เพื่อเป็นการต่อยอดการเติบโตอย่างมั่นคงในการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบขนส่งมวลชนของประเทศ บริษัทจึงได้เข้าไปซื้อกิจการของ บริษัท สมาร์ทบัส จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ซึ่งมีสัมปทานการเดินรถรวม 37 สาย สูงสุดกว่า 1,200 คัน ผ่านบริษัท อี ทรานสปอร์ต โฮลดิง จำกัด
โดยปัจจุบันบริษัทมีโรงงานผลิตรถโดยสารไฟฟ้าภายในประเทศที่ได้รับมาตรฐานระดับสากล ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต จนถึงการให้บริการดูแลซ่อมบำรุงหลังการขายที่ครบวงจร พร้อมทั้งมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ใหญ่ที่สุดของไทยและอาเซียน ด้วยกำลังการผลิตระยะเริ่มต้น 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี เพื่อป้อนให้กับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ของบริษัท ได้แก่ รถโดยสารไฟฟ้า MINE Bus เรือโดยสารไฟฟ้า MINE Smart Ferry และรถบรรทุกไฟฟ้า
นอกจากนี้ บริษัทมีการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าไว้รองรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยเทคโนโลยี Ultra Fast Charge ที่ทันสมัยที่สุดที่ใช้เวลาชาร์จเพียง 15 นาที ที่มีชื่อว่า EA Anywhere โดยบริษัทมุ่งหวังยกระดับการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะให้มีความทันสมัย สะดวกสบาย และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดมลภาวะอย่างยั่งยืนเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมไร้คาร์บอนอย่างจริงจัง
ขณะที่ “ธุรกิจไบโอดีเซล” ซึ่งธุรกิจกลุ่มนี้เป็นธุรกิจการผลิต และจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล หรือ B100 ที่หากนำไปผสมกับน้ำมันดีเซลพื้นฐานตามปริมาณ มันก็จะกลายเป็นน้ำมันดีเซลที่ใช้เติมเครื่องยนต์ เช่น ดีเซล B7 หรือ B10 ซึ่งคาดปีนี้ผลดำเนินงานจะทรงตัวจากปีที่แล้ว โดยในส่วนของยอดขาย (วอลุ่ม) ลดลง เนื่องจากราคาปาล์มแพง ส่งผลให้ลดส่วนผสมในน้ำมันน้อยลง แต่ในส่วนของรายได้จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากปีนี้ราคาปาล์มทรงตัวในระดับสูง
ท้ายสุด “อมร” บอกไว้ว่า ในปีนี้บริษัทยังมองว่าธุรกิจอีวีจะเป็นธุรกิจที่สร้างการเติบโตให้บริษัทโดดเด่น เนื่องจากยังมีการขยายลูกค้าอีกหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ดังนั้น ในภาพรวมก็ยังมองการเติบโตแบบ Conservative โดยคาดรายได้ปีนี้จะเติบโต 20%