ไทยตั้งรับมรสุม 3 ลูก ผลพวง “เศรษฐกิจสหรัฐ” ถดถอย สะเทือนทั้งโลก
เศรษฐกิจสหรัฐ "ถดถอย" เป็นสัญญาณเตือนสำหรับทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งมีข้อเสนอ "สภาพัฒน์" ในการรับมือด้วยการเพิ่มความเข้มแข็งในประเทศ
ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกมีปัจจัยเสี่ยงเข้ามากระทบเพิ่มมากขึ้น จึงนำมาสู่แนวโน้มชะลอตัวทั้งในสหรัฐและยุโรป ซึ่งสร้างความกังวลต่อการที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย
ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2 ในวันที่ 28 ก.ค.2565 โดยระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 0.9% หลังจากเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า GDP หดตัว 1.6% ในไตรมาส 1
การที่เศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะ "ถดถอยทางเทคนิค" โดยเข้าเกณฑ์นิยามของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
นิยามของเศรษฐกิจถดถอยที่อ้างอิงจากสำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ (The National Bureau of Economic Research : NBER) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐของสหรัฐที่กำหนดจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐอย่างเป็นทางการ โดยให้นิยามภาวะเศรษฐกิจถดถอยว่า เป็นภาวะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงอย่างมีนัยสำคัญ กระจายตัวทุกภาคเศรษฐกิจนานกว่า 3 เดือน ซึ่งสะท้อนจากการหดตัวของจีดีพีรายได้ที่แท้จริง การจ้างงาน การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการค้าปลีกค้าส่ง
สถานการณ์การดังกล่าวทำให้ไทยกำลังเผชิญปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจไทย ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยที่มาเร็วขึ้น รวมถึงสถานการณ์สงครามที่ยืดเยื้อและยังมีผลต่อราคาน้ำมัน และปัญหาอัตราเงินเฟ้อของไทยที่ทำสถิติใหม่ต่อเนื่อง
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การรับมือปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยในทางปฏิบัติไทยต้องเตรียมการในรูปแบบเดียวกับการรับมือวิกฤติและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นหลายเรื่องในปัจจุบันและอนาคต โดยพยายามสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในประเทศ ลดการพึ่งพาเศรษฐกิจภายนอกลงในส่วนที่ไทยพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศได้
นอกจากนี้ ในระยะ 1-2 ปีนี้ ควรเร่งดึงการลงทุนจากภายนอกตามแผนการสร้างซัพพลายเชนในประเทศให้แข็งแรงก่อนจะเกิดปัญหาวิกฤติภายนอกที่กระทบเศรษฐกิจ เช่น การลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า การลงทุนสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการส่งเสริมการผลิตปุ๋ยในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้าที่ลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่จะกระทบการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์
ทั้งนี้ หากเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยมาอีกเท่ากับเศรษฐกิจของไทยต้องเผชิญกับมรสุม 3 ลูกที่เข้ามาพร้อมกัน ประกอบด้วย
1.เงินเฟ้อสูง โดยล่าสุดกระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย.2565 ขยายตัว 7.66% รวม 6 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัว 5.61%
2.ผลกระทบจากสงครามที่ยืดเยื้อ ที่ยังส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งน้ำมันและสินค้าอื่นที่ราคาสูงขึ้น
3.ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกถดถอย ซึ่งจะมาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ทั้งในสหรัฐและในยุโรป
ที่ผ่านมามีนักเศรษฐศาสตร์ไทยหลายคนที่ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย รวมถึง นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ที่เคยออกมาระบุว่า วันนี้เริ่มมีการพูดถึงภาวะเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยมากขึ้น แต่เป็นการถดถอยเชิงเทคนิคยังไม่ได้ถดถอยจริง ดังนั้นเศรษฐกิจถดถอยจริงจะเกิดต้นปี 2566 ที่คนตกงานและธุรกิจปิดกิจการมากขึ้น