‘ดาแมค-โปรเอ็น’ เพิ่มกำลังการผลิตดาต้าเซนเตอร์ในไทย รับดีมานด์พุ่ง 2 แสนล้าน

‘ดาแมค-โปรเอ็น’ เพิ่มกำลังการผลิตดาต้าเซนเตอร์ในไทย รับดีมานด์พุ่ง 2 แสนล้าน

กลุ่มทุนอสังหาดูไบ ‘ดาแมค’ เผยความคืบหน้าลงทุนดาต้าเซนเตอร์ในไทย ร่วมพันธมิตร ‘โปรเอ็น’ เล็งขยายกำลังการผลิตเพิ่ม 5 เมกะวัตต์ หลังเห็นดีมานด์โตก้าวกระโดด โดยเฉพาะลูกค้าต่างชาติต้องการบริการเอไอที่ใช้กำลังไฟฟ้าสูงขึ้น

ความต้องการใช้บริการศูนย์ข้อมูลในประเทศไทยกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด สะท้อนจากความคืบหน้าล่าสุดของโครงการ “Edgnex Data Centers by DAMAC” การร่วมทุนระหว่าง DAMAC Group ผู้นำระดับโลกด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และดาต้าเซนเตอร์จากดูไบ และบริษัทโปรเอ็น คอร์ปจำกัด (มหาชน) บริษัทเทคชั้นนำของไทย

โดยล่าสุดได้รับการตอบรับจากลูกค้าเกินความคาดหมาย จนต้องเร่งขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติม โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่ต้องการใช้บริการปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งต้องการพื้นที่และกำลังไฟฟ้าสูงกว่าการใช้งานทั่วไปถึง 3-4 เท่า

กิตติพันธ์ ศรีบัวเอี่ยม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โปรเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ PROEN กล่าวว่า โครงการศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่บนถนนพระราม 9-ศรีนครินทร์ เป็นการร่วมทุนกับกลุ่ม DAMAC จากดูไบ ใช้เงินลงทุนระยะแรก 1,700 ล้านบาท มีกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ แบ่งดำเนินงานเป็น 3 เฟส เฟสแรกจะเริ่มให้บริการในเดือนก.พ. 2568 ตามด้วยเฟส 2 และ 3 ในช่วงกลางปีเดียวกัน โครงการนี้ได้รับการออกแบบให้มีมาตรฐานระดับ Tier III ซึ่งรับประกันความพร้อมใช้งานไม่ต่ำกว่า 99.982% และมีระบบสำรองไฟฟ้าที่ครอบคลุมทุกส่วนของการทำงาน

‘ดาแมค-โปรเอ็น’ เพิ่มกำลังการผลิตดาต้าเซนเตอร์ในไทย รับดีมานด์พุ่ง 2 แสนล้าน

จับชีพจรดาต้าเซนเตอร์ในภูมิภาค

จากข้อมูลของ Structure Research บริษัทวิจัยชั้นนำด้านดาต้าเซนเตอร์ ด้านภาพรวมตลาดดาต้าเซนเตอร์ในประเทศไทย ปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านบาท เติบโต 31% อยู่ในอันดับ 9 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รองจากมาเลเซียและสิงคโปร์ในกลุ่มอาเซียน โดยมีสัดส่วนการใช้พลังงานต่อมูลค่าธุรกิจอยู่ที่ 0.7 เมกะวัตต์ต่อพันล้านดอลลาร์ ในขณะที่สิงคโปร์อยู่ที่ 13 เมกะวัตต์ต่อพันล้านดอลลาร์ สะท้อนโอกาสการเติบโตที่ยังมีอีกมาก เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาคที่ 5.5 เมกะวัตต์ต่อพันล้านดอลลาร์ 

ทั้งนี้ สิงคโปร์ครองความเป็นผู้นำในตลาดดาต้าเซนเตอร์มานานกว่า 30 ปี เนื่องจากมีความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบอินเตอร์เน็ต รวมถึงนโยบายเปิดกว้างสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ที่สามารถจดทะเบียนธุรกิจได้ภายใน 2 ชั่วโมง ในขณะที่ประเทศไทยใช้เวลาประมาณ 6 เดือน

“แนวโน้มการใช้งานดาต้าเซนเตอร์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมที่เน้นให้บริการคลาวด์ทั่วไป มาสู่การรองรับระบบเอไอที่ต้องการกำลังไฟฟ้าสูงขึ้น โดยเซิร์ฟเวอร์สำหรับเอไอหนึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้า 10-20 กิโลวัตต์ เทียบกับเซิร์ฟเวอร์ทั่วไปที่ใช้เพียง 3.5-10 กิโลวัตต์ ส่งผลให้ปัจจัยด้านต้นทุนพลังงานและการเข้าถึงพลังงานสีเขียวกลายเป็นหัวใจสำคัญในการดึงดูดการลงทุน นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายด้านการระบายความร้อนและการบริหารจัดการพลังงานที่ต้องมีประสิทธิภาพสูงขึ้นตามไปด้วย” กิตติพันธ์ กล่าว

เขายังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การดึงดูดนักลงทุนไม่ได้จำกัดอยู่เพียงด้านต้นทุนพลังงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัจจัยสำคัญอื่นๆ เช่น เสถียรภาพทางการเมือง การสนับสนุนการลงทุน ความรวดเร็วในการจดทะเบียนธุรกิจ กฎระเบียบที่เอื้ออำนวย และทัศนคติของนักลงทุนต่างชาติ 

‘ดาแมค-โปรเอ็น’ เพิ่มกำลังการผลิตดาต้าเซนเตอร์ในไทย รับดีมานด์พุ่ง 2 แสนล้าน

กิตติพันธ์ ศรีบัวเอี่ยม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โปรเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน)

จุดแข็งและโอกาสของประเทศไทย

จุดแข็งของประเทศไทยที่ดึงดูดการลงทุนคือ นโยบายสนับสนุนของรัฐบาลในการผลักดันให้ประเทศเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของภูมิภาค โดยเฉพาะการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดผ่านโครงการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรง (Green Energy) ผ่านโครงการ Direct PPA ที่ช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าลงเหลือประมาณ 2.50-3.00 บาท ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุนของบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการใช้บริการด้านเอไอ 

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความได้เปรียบด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค และมีความเสี่ยงต่ำจากภัยธรรมชาติเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

อย่างไรก็ดี การพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ยังมีความท้าทายสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งสถาบันการศึกษาไทยยังปรับตัวช้าในการผลิตบุคลากรด้านเอไอ โดยเฉพาะด้านการดูแลระบบและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจุบันเน้นเพียงการสอนการใช้งานเอไอเท่านั้น แต่ทางโปรเอ็นเชื่อว่า แม้ไทยจะยังเพิ่งริเริ่ม แต่ก็ดีกว่าการไม่เริ่มอะไรเลย การสอนให้ใช้งานเอไออาจสร้างคุณค่าที่สามารถต่อยอดเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ 

นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรคด้านการปรับปรุงระบบสายสัญญาณใต้น้ำที่เชื่อมต่อกับต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันต้องผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานราชการกว่า 20 หน่วยงาน ทำให้เกิดความล่าช้าในการพัฒนา ภาครัฐต้องเริ่มดำเนินการปรับปรุงกฎระเบียบและขั้นตอนการอนุมัติให้มีความคล่องตัวมากขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

โดยเฉพาะการลดขั้นตอนการขออนุญาตวางสายเคเบิลใต้น้ำ ซึ่งเดิมต้องผ่านการอนุมัติจากหลายหน่วยงาน ให้เหลือเพียงหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องโดยตรง ต้องมีแผนสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรผ่านความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน เพื่อผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านดาต้าเซ็นเตอร์ให้เพียงพอต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม

“เราเชื่อว่าตลาดดาต้าเซนเตอร์ในไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอีก 3-5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะการรองรับความต้องการด้านเอไอที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมีนัยสำคัญ” 

กลยุทธ์และแผนการดำเนินธุรกิจของโปรเอ็น

โปรเอ็นได้วางกลยุทธ์การปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่เพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจหลัก (Core Business) ด้าน ICT ซึ่งประกอบด้วยบริการด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร ศูนย์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง บริการคลาวด์ และการดูแลระบบความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ 

ในขณะเดียวกัน บริษัทได้โยกย้ายกลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและงานโครงการภาครัฐ รวมถึงงานโครงการโทรคมนาคมและสาธารณูปโภคพื้นฐานไปยังบริษัทย่อย โปรเอ็น เทเลบิซ จำกัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ

บริษัทมีแผนเพิ่มทีมงานด้านการขายและการตลาดอีกประมาณ 10 ทีม โดยเน้นการทำงานเชิงรุกทั้งในและต่างประเทศ พร้อมตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากทรัพย์สิน (Recurring Income) ให้เป็น 75-80% ในปี 2568 โดยเฉพาะจากการให้บริการศูนย์ PROEN OTT DC แห่งใหม่

“ปัจจุบันโปรเอ็นมีฐานลูกค้าหลักในกลุ่มที่ใช้ดาต้าเซนเตอร์ เช่น อีคอมเมิร์ซ เกม คลาวด์ เอนเตอร์เทนเมนต์ และช่องทีวี โดยส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำที่ใช้บริการต่อเนื่อง 5-7 ปี บริษัทตั้งเป้าที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้ให้บริการดาต้าเซนเตอร์ 3 อันดับแรกของประเทศไทย จากปัจจุบันที่มีส่วนแบ่งตลาด 5% โดยตั้งเป้าเพิ่มเป็น 15% ในอนาคต”

นอกจากนี้แล้ว บริษัทมีมูลค่างานในมือ (Backlog) ประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง และคาดว่าภายหลังการปรับโครงสร้างธุรกิจแล้วเสร็จในไตรมาส 4 ปีนี้ จะสามารถเพิ่ม Backlog และสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนให้กับบริษัทในระยะยาว

เสียงสะท้อนจากภาครัฐบาล

ด้าน ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และรัฐบาลก็ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอย่างมาก โดยได้วางนโยบายเพื่อส่งเสริมการเติบโตของภาคดิจิทัลในทุกด้าน ตั้งแต่การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ไปจนถึงการพัฒนาทรัพยากรบุคคล และการส่งเสริมธุรกิจดิจิทัล

การลงทุนครั้งนี้จะเสริมสร้างขีดความสามารถในการประมวลผลข้อมูลของประเทศไทย รองรับการเติบโตของธุรกิจดิจิทัล รวมถึงดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามา นอกจากนี้ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้คนไทยในแง่ของงานและธุรกิจ

“เชื่อมั่นว่าการร่วมลงทุนครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาภาคดิจิทัลของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป”