เศรษฐกิจดิจิทัลไทยโต 19% ครองที่ 2 อาเซียน ‘AI - ดาต้าเซนเตอร์’ หนุน
Google เผย ไทยรั้งอันดับ 2 เศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน มูลค่าพุ่ง 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์ รองจากฟิลิปปินส์ โดยภาคอีคอมเมิร์ซ และท่องเที่ยวออนไลน์ดันโต 19% ขึ้นแท่นผู้นำการลงทุน AI - ดาต้าเซนเตอร์ในภูมิภาค
รายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับปี 2567 (e-Conomy SEA 2024 Report) ที่จัดทำโดย Google, Temasek และ Bain & Company คาดว่า “เศรษฐกิจดิจิทัลไทย” จะมีมูลค่าสินค้ารวม (GMV) เพิ่มขึ้นจาก 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2566 เป็น 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2567 โดยยังคงมีขนาดใหญ่และเติบโตเร็วเป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยอันดับหนึ่งคือ ประเทศฟิลิปปินส์ ในรายงานระบุเพิ่มเติมว่า การเติบโตของฟิลิปปินส์ในภาคเศรษฐกิจดิจิทัลถูกขับเคลื่อนด้วยแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซใหม่ๆ และการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้บริการดิจิทัล โดยอีคอมเมิร์ซในฟิลิปปินส์มีสัดส่วนการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างน่าทึ่ง และการใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ของประชาชนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ปัจจัยเหล่านี้มีส่วนในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลของฟิลิปปินส์ให้ก้าวสู่จุดสูงสุดในภูมิภาค
ไทยครองที่ 2 อาเซียน
กลับมามองฝั่งไทยที่โตเร็วลำดับสอง โดยปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการเติบโตมาจากภาคอีคอมเมิร์ซที่คาดว่าจะมีมูลค่า 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยได้แรงสนับหนุนจาก “วิดีโอคอมเมิร์ซ” ที่สร้างประสบการณ์ซื้อขายแบบมีปฏิสัมพันธ์
ขณะที่ “การท่องเที่ยวออนไลน์” เป็นดาวเด่นด้วยอัตราการเติบโต 32% สูงสุดในภูมิภาค มูลค่าคาดการณ์ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ได้อานิสงส์จากมาตรการยกเว้นวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวจาก 93 ประเทศที่ผ่อนคลายมากขึ้น และโครงการขอวีซ่าที่ผู้ถือพาสปอร์ตสามารถขอได้ ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมืองในประเทศ (Visa on Arrival หรือ VOA)
สำหรับ “การขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์” คาดว่าจะมีมูลค่าสินค้ารวมกันกว่า 4 พันล้านดอลลาร์ โตขึ้น 6% จากปีที่ผ่านมา การขนส่งกลับมาฟื้นตัว และอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดใหญ่ บริการส่งอาหารออนไลน์ยังคงเป็นภาคส่วนที่มีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะในเรื่องของการทำกำไร เนื่องจากในประเทศไทยมีผู้ให้บริการด้านอาหาร และเครื่องดื่มจำนวนมาก
นอกจากนี้ “การลงทุนในศูนย์ข้อมูล” (Data Center) ของไทยพุ่งสูงถึง 6 พันล้านดอลลาร์ในครึ่งแรกของปี 2567 ส่งผลให้ความสามารถในการรองรับข้อมูลเพิ่มขึ้นถึง 550% สูงสุดในภูมิภาค สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลที่มีความสนใจ และความต้องการด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) สูงที่สุด
อย่างไรก็ตาม “บริการด้านการเงินดิจิทัล” (Digital Financial Services) เติบโตขึ้น 5% ในปี 2567 และคาดว่าจะมีมูลค่าธุรกรรมรวม (GTV) สูงถึง 1.41 แสนล้านดอลลาร์ ในขณะที่บริการสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลคาดว่าจะมียอดคงค้างสินเชื่อ (Loan Book Balance) สูงถึง 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2567 คิดเป็นอัตราการเติบโต 28% ซึ่งเติบโตเร็วเป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บริการสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล และความมั่งคั่งทางดิจิทัลจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2573 นอกจากนี้ยังคาดว่าจะมีการชำระเงินดิจิทัลมากขึ้นผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society)
การใช้งานเอไอในประเทศไทย พบว่า อุตสาหกรรมการศึกษา เกม และการตลาดเป็นผู้นำในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้ ขณะที่ผู้บริโภคมีความต้องการแอปพลิเคชันที่มีฟีเจอร์เอไอสำหรับการสร้างคอนเทนต์ ตกแต่งภาพ และตัดต่อวิดีโอ ภาคธุรกิจเองก็นำเอไอมาใช้ในการโฆษณาแบบกำหนดเป้าหมาย และสร้างประสบการณ์ลูกค้าเฉพาะบุคคล
แจ็คกี้ หวาง Country Director ของ Google ประเทศไทย กล่าวว่า การสนับสนุนจากภาครัฐผ่านโครงการต่างๆ ตั้งแต่ดิจิทัลวอลเล็ตไปจนถึงกลยุทธ์ 4 ปีที่มุ่งผลักดันไทยสู่การเป็นดิจิทัลฮับชั้นนำในภูมิภาค รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัทเทคโนโลยีระดับโลก ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย
ด้าน Willy Chang, Partner, Bain & Company กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงเป็นผู้นำในแง่ของพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน เช่น การปรับเปลี่ยนมาใช้บริการชำระเงินดิจิทัลอย่างรวดเร็ว เป็นแหล่งบ่มเพาะด้านเอไอ และโครงสร้างพื้นฐานด้านเอไอ
การลงทุนจากภาคเอกชนในประเทศไทย
การลงทุนจากภาคเอกชนในประเทศไทยกลับมาฟื้นตัว โดยในครึ่งแรกของปี 2567 มีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 200 ล้านดอลลาร์ ซึ่ง 92% ของจำนวนนี้เป็นการลงทุนในบริการด้านการเงินดิจิทัล สำหรับปีที่ผ่านมา
รายงานได้ระบุปัจจัย 4 ประการเพื่อช่วยดึงดูดการลงทุน ได้แก่ การประเมินมูลค่าในการเข้าลงทุนที่สมจริง โมเดลการสร้างรายได้ที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลจริง แนวทางในการทำกำไรที่ชัดเจน และทางออกสำหรับธุรกิจที่ทำได้จริง โดย 3 ปัจจัยแรกประสบความสำเร็จแล้ว แต่ธุรกิจยังต้องพิสูจน์ให้นักลงทุนเห็นว่ามีแผนทางออกสำหรับธุรกิจ เนื่องจากตลาดทุนยังคงมีความท้าทาย
สภาพแวดล้อมดิจิทัลที่ปลอดภัย
“การพัฒนาในด้านการรักษาความปลอดภัยทางดิจิทัลเป็นอีกเรื่องที่ควรให้ความสำคัญเนื่องจากภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทยมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้กันอย่างรวดเร็ว การนำเอไอมาใช้ก็สามารถช่วยเสริมสร้างเกราะป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ และกลโกงออนไลน์ได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมก็มีส่วนสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่ปลอดภัย ครอบคลุม และมีความยืดหยุ่น Google ภูมิใจที่ได้ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เพื่อช่วยปกป้องคนไทยจากกลโกงออนไลน์ด้วยฟีเจอร์ป้องกันกลโกงใหม่ใน Google Play Protect ที่เราได้เปิดตัวไปในช่วงต้นปีนี้ที่งาน Safer Songkran” แจ็คกี้ กล่าวทิ้งท้าย
ท่ามกลางการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ความท้าทายด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์กำลังทวีความสำคัญ ผู้บริโภคไทยให้ความสำคัญกับระบบรักษาความปลอดภัยอย่างการเข้ารหัส และการยืนยันตัวตนสองชั้น
ขณะที่แพลตฟอร์มต่างๆ เริ่มนำระบบเอไอมาใช้ในการตรวจจับการฉ้อโกง สะท้อนให้เห็นว่าการสร้างความเชื่อมั่นในระบบดิจิทัลเป็นรากฐานสำคัญของการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
เศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนยังคงมีโอกาสเติบโต
รายงานระบุว่า ตลาดดิจิทัลในอาเซียนมีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา และมีประชากรที่ปรับตัวเข้าหาดิจิทัลได้เร็ว แม้ว่าการลงทุนในภาคดิจิทัลอาจเผชิญความท้าทายจากสภาพเศรษฐกิจโลก แต่ประเทศในอาเซียนยังคงดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาสนับสนุนการเติบโตในระยะยาว โดยเฉพาะการลงทุนในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์