ส่องเกม ‘เอ็มเค-อาฟเตอร์ยู-โอ้กะจู๋’ ผนึกพันธมิตร-ดึงเทคโนฯ ฟื้นธุรกิจ
ทิศทางธุรกิจร้านอาหารครึ่งปีหลัง ผู้ประกอบการมองการ “ฟื้นตัว” รับโควิดคลี่คลาย นโยบายเปิดประเทศ แม้นักท่องเที่ยว “จีน” ยังไม่กลับมา แต่ประเทศอื่นๆพร้อมใจเที่ยวไทย ในงาน Inclusive Growth Days จัดโดย "โออาร์" มีแม่ทัพธุรกิจอาหารให้มุมมองมากมาย
ก่อนมองภาพใหญ่ในอนาคต ผ่ามุมมองผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารในห้วงวิกฤติมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ตลาดเปลี่ยนแปลงอย่างไร ต้องให้ The Last Samurai เจ้าของเครือข่ายหรือเชนธุรกิจร้านอาหารเล่า
ร้านอาหารเปิดใหม่มหาศาล
“ฤทธิ์ ธีระโกเมน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ฉายภาพว่ามีผู้ประกอบการรายใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นกิจการที่ทำได้ง่าย เพียงประกอบ ปรุงอาหารเป็นเท่านั้น ทว่าการทำให้ธุรกิจมีความยั่งยืน ขยายสเกล เปิดสาขาให้มากขึ้นเป็นเรื่องค่อนข้างยาก เนื่องจากโจทย์ของร้านอาหารมีมากมาย โดยเฉพาะปัญหายิบย่อยที่ไม่ควรมองข้าม
ทั้งนี้ การทำธุรกิจอาหาร เปิดร้านเอ็มเค สุกี้ มีแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอเพิ่ม เช่น ยาโยอิ ณ สยาม แหลมเจริญซีฟู้ด ฯ บางแบรนด์มีร้านในต่างประเทศ สิ่งที่บริษัทยึดถือมาตลอดในการเคลื่อนธุรกิจ มี 9 องค์ประกอบ ได้แก่ 1.ความปลอดภัย เริ่มจากใช้หม้อต้มสุกี้ไฟฟ้าที่มีมาตรฐานป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับผู้บริโภค 2.ความสะอาดทั้งภายในร้าน ครัว จนถึงการทำความสะอาดวัตถุดิบ ผักสดต่างๆ 3.บริการที่ดี
4.ราคาตอบโจทย์ความคุ้มค่าแก่ผู้บริโภค 5.โภชนาการที่เอื้อต่อสุขภาพ เช่น เอ็มเคฯ มีชุดผักเพื่อสุขภาพ เป็นต้น 6.ความสะดวก 7.ความเร็ว โดยเฉพาะเสิร์ฟอาหารต้องรวดเร็วแข่งกับฟาสต์ฟู้ดได้ 8.เสิร์ฟประสบการณ์ให้ผู้บริโภคมีความสุข สนุก และ9.อาหารมีความหลากหลาย
สำหรับแนวทางการทำธุรกิจร้านอาหารครึ่งปีหลัง บริษัทจะนำ “หุ่นยนต์” มาให้บริการในร้านมากขึ้นให้ครบ 1,000 ตัว จาก 800 ตัว เพื่อรองรับปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งจะช่วยลดพนักงานใหม่ได้ราว 1,500 คน
“38 ปี ธุรกิจอาหารไม่เปลี่ยนแปลง ความปลอดภัยสำคัญ แต่รูปแบบเปลี่ยนให้ทันสมัย มีประสิทธิภาพมากขึ้น”
ตลาดฟื้นตัว 80% แม้ไร้กำลังซื้อจีน
ปีนี้ร้านขนมหวาน “อาฟเตอร์ ยู” เดินทางมาครบ 15 ปี มีการเติบโตต่อเนื่อง แต่วิกฤติโควิดเล่นงานบริษัทพอสมควร ยิ่งช่วงล็อกดาวน์ ปิดร้านอาหารระยะใหญ่เมื่อปี 2564 เป็นห้วงเวลาหนักสุดที่บริษัทเผชิญ ทว่า เข้าสู่ครึ่งปีหลัง 2565 “กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด(มหาชน) มองร้านขนมหวานฟื้นตัวแล้ว 80%
แม้ภาพรวมตลาดที่เคยพึ่งนักท่องเที่ยวจีน แต่เวลานี้ยังไม่สามารถเดินทางมาเที่ยวไทยได้ แต่นักท่องเที่ยวประเทศอื่นพร้อมใจมาเยือนไทยจำนวนมาก เมื่อความต้องการบริโภคเพิ่ม ทำให้บริษัทต้องเปิดรับทีมงานร่วมร้อยชีวิตรองรับบริการลูกค้า
“ตอนนี้ร้านขนมหวานยอดขายกลับมาเกือบปกติแล้ว ภาพรวมฟื้นตัว 80% ซึ่งถือว่าเร็ว เพราะเราดูยอดขายทุกวัน ปัจจัยหนุนเพราะเปิดประเทศ ซึ่งนักท่องเที่ยวประเทศอื่นที่ไม่ใช่จีนกลับมาทั้งหมด การไม่มีนักท่องเที่ยวจีนดีมานด์จึงไม่แตกต่างนัก”
ส่วนแนวทางขยายธุรกิจ จะเห็นการเปิดร้านโมเดลใหม่ต่อเนื่อง หนึ่งไอเดียที่จะเห็นคือร้านคอนเซปต์ใหม่ “มัลติแบรนด์” นำร้านที่มีมาอยู่รวมกัน เช่น อาฟเตอร์ยู ลูกก๊อ ฯ จากปัจจุบันมีทั้งมาร์เก็ตเพลส ร้านในปั๊มน้ำมัน เป็นต้น
“กำลังมองหาพื้นที่ใจกลางเมือง เช่น สาทร ซึ่งอาฟเตอร์ ยู ยังไม่มีสาขาเลย แต่ร้านที่อยากเปิดจะเป็นคอนเซปต์ใหม่นำหลายแบรนด์มาอยู่รวมกัน เป็นไอเดียที่เราอยากทำ แต่รอจังหวะและมีโลเกชั่นที่เหมาะสม ซึ่งพื้นที่อยากได้ต้องมีขนาด 200 ตารางเมตร(ตร.ม.) เพื่อเปิดร้านสแตนอะโลน”
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาเมนูขนมหวานใหมๆต่อเนื่องทุกเดือน เปลี่ยนรูปแบบสินค้า เช่น คากิโกริ ช่วงโควิดระบาดได้ปรับเพื่อจำหน่ายเดลิเวอรี ต้องกลับสู่รูปแบบเดิมเสิร์ฟให้นั่งทานในร้านหรือได-อิน ฯ นำเสนอสินค้าเป็นแพ็ค มีการเก็บรักษานานขึ้น(เชลฟ์ไลฟ์) เพื่อตอบสนองการซื้อกลับบ้าน เป็นต้น
สำหรับครึ่งปีหลัง แรงกดดันธุรกิจยังเป็นภาวะต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น เนย เพราะนอกจากต้นทุนพุ่ง ยังเผชิญค่าเงินบาทอ่อนค่าด้วย
“ต้นทุนขนมหวานปรับตัวสูงมาก แต่การปรับราคาเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 ซึ่งตลอดระยะ 15 ปีที่ผ่านมา อาฟเตอร์ ยูขึ้นราคาสินค้าเพียง 3 ครั้ง การขยายสาขาเพิ่มจนได้อีโคโนมีออฟสเกล ทำให้บริหารจัดการต้นทุนมีประสิทธิภาพ ดังนั้นอะไรที่แบกภาระได้เราแบกมาตลอด”
'โอ้กะจู๋' พึ่ง ‘คาเฟ่ อเมซอน’ โต เล็งเปิดไดรฟ์ทรู
ชลากร เอกชัยพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด และผู้ร่วมก่อตั้งร้านโอ้กะจู๋ กล่าวว่า ช่วงปลายปีบริษัทจะขยายร้านเพิ่ม 1 สาขา ที่ปั๊มปตท.ย่านวิภาวดี หลังเปิดร้านแรกในปั๊มที่ ปตท.แอคทีฟ พาร์ค เมืองทอง
นอกจากนี้ บริษัทจะนำอาหารไปจำหน่ายในร้าน “คาเฟ่ อเมซอน” เพิ่มเติมให้แตะ 60-80 สาขา เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปัจจุบันมี 30 สาขา ซึ่งเพิ่มจากปีก่อนที่มีเพียง 5 สาขาเท่านั้น และยังมองโอกาสการเปิดร้านรูปแบบ “ไดรฟ์ทรู” ด้วย
“โอ้กะจู๋เพิ่งเติบโตระดับหนึ่ง เราหารือกับทีมงานตลอด ทำอย่างไรจะรักษาคุณภาพอาหาร พัฒนาเมนูใหม่ ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป พฤติกรรมจากนั่งทานที่ร้าน พอเกิดโควิดระบาดต้องมุ่งสู่เดลิเวอรี มีโมเดลใหม่ๆ ไปกับคาเฟ่ อเมซอน และเปิดไดรฟ์ทรู”