"กฟน." ชูนวัตกรรมพัฒนาระบบไฟฟ้ารับพลังงานหมุนเวียน - อีวี สู่องค์กรยั่งยืน

"กฟน." ชูนวัตกรรมพัฒนาระบบไฟฟ้ารับพลังงานหมุนเวียน - อีวี สู่องค์กรยั่งยืน

“กฟน.” ชูยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนองค์กรพัฒนาระบบไฟฟ้ารับ “พลังงานหมุนเวียน - อีวี” สู่การเป็น “กรีน ออร์แกไนเซชั่น” ตั้งเป้าสิ้นปีมีหัวชาร์จอีวีครบ 100 หัวชาร์จ ชูระบบ Smart Metro Grid ควบคุมพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ ก้าวสู่ Fully Digital Service ดันนวัตกรรมพาองค์กรโตยั่งยืน

นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือ MEA เปิดเผยว่า วันที่ 1 ส.ค. 2565 เป็นวันคล้ายวันสถาปนา MEA ครบรอบ 64 ปี ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบให้บริการจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ มีภารกิจที่สำคัญภายใต้วิสัยทัศน์ Energy for city life, Energize smart living ขับเคลื่อนพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในทุกด้านเพื่อจะก้าวสู่ความท้าทายครั้งใหม่ตามแนวทาง “64th MEA CHALLENGING THE FUTURE” สร้างสรรค์นวัตกรรม ขับเคลื่อนระบบพลังงานอัจฉริยะ ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าสูงสุดทุกมิติ

\"กฟน.\" ชูนวัตกรรมพัฒนาระบบไฟฟ้ารับพลังงานหมุนเวียน - อีวี สู่องค์กรยั่งยืน ทั้งนี้ กำหนดทิศทางเป้าหมายขององค์กร แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย

1. ระยะสั้น ปี 2566 - 2568 Strengthen Smart Energy มุ่งเน้นการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อรองรับการเริ่มเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เพื่อตอบสนองการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้ารองรับ Renewable Energy และ EV ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ยกระดับการให้บริการที่เป็น Digital service พร้อมสร้างความยั่งยืนขององค์กรตามแนวทาง Global Reporting Initiative (GRI) ที่สอดคล้องกับองค์การสหประชาชาติ

2. ระยะกลาง ปี 2569 - 2570 Smart Utility นั้น MEA จะมุ่งสู่การให้บริการแบบ Convergence : เชื่อมต่อบริการกับหน่วยงานภายนอก ทั้งภาครัฐและเอกชน รองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกิจการไฟฟ้า จัดตั้ง Trader Unit และพัฒนา Virtual Utility เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้า เสริมสร้างพนักงานให้มีขีดความสามารถหลากหลาย รองรับยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่จะให้บริการประชาชนต่อไปในอนาคต พร้อมทั้งมุ่งสู่การเป็น Green Organization

3. ระยะยาว ปี 2571 - 2580 Sustainable Energy Utility มุ่งสู่การให้บริการในรูปแบบ Co-Creation Service เพื่อให้ลูกค้าสามารถดีไซน์รูปแบบบริการของตนเอง เป็นองค์กรต้นแบบด้านนวัตกรรม สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนจากการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการจัดตั้งบริษัทในเครือ และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็น International Cooperation on Energy Business

ทั้งนี้ สถิติความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดประจำปี 2565 (Maximum Demand) เกิดขึ้นวันที่ 28 เม.ย. จำนวน 9,442.22 เมกะวัตต์ มีจำนวนครั้งที่ไฟฟ้าขัดข้องเฉลี่ย (SAIFI) เท่ากับ 0.363 ครั้ง/ผู้ใช้ไฟฟ้า 1 ราย/6 เดือน และระยะเวลาที่ไฟฟ้าขัดข้องเฉลี่ย (SAIDI) เท่ากับ 10.336 นาที/ผู้ใช้ไฟฟ้า 1 ราย/6 เดือน (ข้อมูลสะสมถึงเดือนมิ.ย.2565)

\"กฟน.\" ชูนวัตกรรมพัฒนาระบบไฟฟ้ารับพลังงานหมุนเวียน - อีวี สู่องค์กรยั่งยืน ส่วนสถิติการจำหน่ายไฟฟ้าปี 2565 ประกอบด้วย กลุ่มบ้านอยู่อาศัย กลุ่มธุรกิจ กลุ่มอุตสาหกรรม และกลุ่มราชการ-องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร รวมจำนวน 4,165,131 ราย พบว่า MEA มีหน่วยพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสะสม จำนวน 50,280 ล้านหน่วย เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 (จำนวน 49,050 ล้านหน่วย) จะคิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.51 โดยจากสถิตินี้ พบว่าผู้ใช้ไฟฟ้าในกลุ่มธุรกิจ มีอัตราการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน คือ จำนวน 19,174 ล้านหน่วย เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 (จำนวน 18,347 ล้านหน่วย) จะคิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.51 ส่วนหนึ่งมาจากการเริ่มฟื้นตัวของผู้ใช้ไฟฟ้าในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19

“ปัจจุบัน MEA ดำเนินโครงการ Smart Metro Grid ในพื้นที่นำร่อง 9 ตารางกิโลเมตร บริเวณถนนพระราม 4 พญาไท เพชรบุรี และรัชดาภิเษก มีการติดตั้ง Smart Meter จำนวน 33,265 ชุด ทำให้สามารถเชื่อมโยงการบริหารจัดการด้านต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งการตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าได้ผ่านออนไลน์ สามารถประมวลผลวิเคราะห์ เพื่อการวางแผนขยายหรือปรับปรุงโครงข่ายไฟฟ้าได้ สามารถติดตั้งระบบบริหารจัดการที่มีการรับส่งข้อมูลได้แบบสองทาง)แสดงผลได้ Real-Time คาดจะแล้วเสร็จภายในปีนี้”

นอกจากนี้ MEA ยังมีโครงการติดตั้งระบบ Micro Grid ภายในพื้นที่อาคารสำนักงานของ MEA เพื่อควบคุมและบริหารจัดการพลังงาน รวมถึงการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานชนิดแบตเตอรี่ (BESS) ร่วมกับระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Solar PV จะนำไปสู่การต่อยอดในด้านการวางแผนระบบไฟฟ้าในรูปแบบ Grid Modernization ที่มีความทันสมัยให้กับประชาชน พร้อมกับการช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 ตามกรอบนโยบายของประเทศ

ขณะเดียวกัน ยังสนับสนุนให้ผู้ใช้ไฟฟ้าติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ให้กับกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ในโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ตามประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน โดยในเดือนมิ.ย. 2565 มีผู้จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วมีจำนวน 1,168 ราย คิดเป็นผลรวม Installed Capacity 6.63 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 185 โดยตั้งเป้าปีนี้ที่จำนวน 5 เมกะวัตต์

\"กฟน.\" ชูนวัตกรรมพัฒนาระบบไฟฟ้ารับพลังงานหมุนเวียน - อีวี สู่องค์กรยั่งยืน ด้านการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle (EV) โดยปีนี้ตั้งเป้าติดตั้งหัวชาร์จ MEA EV จำนวน 100 หัวชาร์จ ในพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ รองรับความต้องการของผู้ใช้ EV ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และจะขยายปีต่อไปปีละ 100 หัวชาร์จ อีก 5 ปี รวมเป็น 600 หัวชาร์จ โดยสถิติการชาร์จรถอีวีในพื้นที่ MEA เดือนม.ค. - มิ.ย. 2565 ที่ 5.95 ล้านหน่วย เติบโตขึ้นกว่า 20 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่วนจำนวนผู้ใช้อยู่ที่ 283 ราย เพิ่มขึ้น 38% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขณะนี้ MEA อยู่ระหว่างพัฒนาแอปพลิเคชันร่วมกันกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) คาดพร้อมใช้งานปีนี้

\"กฟน.\" ชูนวัตกรรมพัฒนาระบบไฟฟ้ารับพลังงานหมุนเวียน - อีวี สู่องค์กรยั่งยืน สำหรับโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน กำหนดแล้วเสร็จปี 2570 ระยะทางรวม 236.1 กิโลเมตร ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 62 กิโลเมตร ส่วนการจัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าปีนี้มีแผนดำเนินการที่ 450 กิโลเมตร ดำเนินการแล้ว 72 กิโลเมตร และจะดำเนินการทั้งสิ้นรวม1,500 กิโลเมตร ภายในปี 2567

“MEA มีแผนที่จะดำเนินโครงการในการพัฒนาระบบบริการทั้งหมดให้เป็น Fully Digital Service ภายในปี 2568 และเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายNet Zero Carbon ล่าสุด MEA ได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำร่องพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและ Carbon Credit ขยายผลการศึกษาและการพัฒนาไปสู่โครงการอื่นๆ เพิ่มทางเลือกและช่องทางการเข้าถึงบริการด้านพลังงาน เพื่อให้ประชาชนและกลุ่มอุตสาหกรรมได้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดของประเทศอย่างยั่งยืน”

สำหรับการแพร่ระบาดCOVID-19 MEA ได้ดำเนินนโยบายการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ใช้ไฟฟ้า โดยล่าสุด จากข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.ค. 2565 มีผู้ได้รับเงินแล้วทั้งสิ้น 2,363,893 รายการ คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นประมาณ 6,442 ล้านบาท

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์