วัดฝีมือรัฐบาล "เศรษฐกิจ" โลกถดถอย

วัดฝีมือรัฐบาล "เศรษฐกิจ" โลกถดถอย

หากเกิด "ภาวะเศรษฐกิจถดถอย" ในหลายประเทศพร้อมกัน จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก รวมประเทศไทยด้วย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องเตรียมแผนรับมือกับวิกฤติ "เศรษฐกิจโลกถดถอย" ไว้ทุกระดับ ไม่ว่าจะกระทบไทยมากหรือน้อยก็ตาม

รัฐบาลยังมีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 ยังขยายตัวได้ดีหลังจากรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 (เม.ย. - มิ.ย.) และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า โดยกระทรวงการคลังประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัว 3.3% และปี 2566 ขยายตัว 4.2% ซึ่งประเทศไทยเทียบกับหลายประเทศยังไปได้ดี แต่มีประเด็นที่ต้องเตรียมการ โดยต้องติดตามทั้งเรื่องสถานการณ์ภายนอก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ภายในต่างๆ อย่างใกล้ชิด

สิ่งที่รัฐบาลพยายามชี้แจงมาตลอด คือ การที่รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในการรับมือกับวิกฤติที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย นับตั้งแต่วิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มรายได้น้อย ค่าครองชีพของประชาชน โดยรัฐบาลต้องออก พ.ร.ก. รวม 2 ฉบับ เพื่อให้กระทรวงการคลังมากู้เงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท และเงินจำนวนดังกล่าวต้องเร่งอนุมัติให้หมดภายในเดือน ก.ย. 2565 และให้มีการเบิกจ่ายภายในเดือน ธ.ค. 2565 ซึ่งถือเป็นวงเงินกู้จำนวนมากของรัฐบาล

 

ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐได้เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2 ปี 2565 ของสหรัฐ หดตัว 0.9% ถือเป็นการหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 ที่จีดีพีหดตัว 1.6% การที่เศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน และสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอยกำลังลุกลามจากสหรัฐไปที่สหภาพยุโรป (อียู) ที่ถือเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย และอนาคตอาจเข้าสู่ Global Recessions ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศพร้อมกัน 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องที่นิ่งนอนใจได้ เพราะถ้าเกิด "ภาวะเศรษฐกิจถดถอย" ในหลายประเทศพร้อมกัน จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการค้าโลกที่ประเทศไทยคาดหวังให้เป็นพระเอกของเศรษฐกิจปี 2565

 

รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวที่ประเทศไทยกำลังคาดหวังว่าจะช่วยฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องเตรียมแผนรับมือกับวิกฤติ "เศรษฐกิจโลกถดถอย" ไว้ทุกระดับ ไม่ว่าจะกระทบไทยมากหรือน้อย

การบริหารเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจึงเป็นเรื่องท้าทายของรัฐบาล และหน่วยงานด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งน่ากังวลว่าแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ยังเห็นภาพไม่ชัดเจน

ถึงแม้ว่าที่ผ่านมา รัฐบาลจะทำแผนดึงการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ แต่รัฐบาลยังไม่สามารถสร้างผลงานส่วนนี้ให้ชัดเจนได้ ดังนั้นนับจากนี้จึงเป็นการวัดฝีมือรัฐบาลครั้งสุดท้าย สำหรับโจทย์ใหญ่ระดับโลกในการรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจ