‘เวทีนางงาม’Soft Powerทรงพลัง...ที่ไม่ควรมองข้าม!!
เวทีประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ไม่เคยเสื่อมความนิยมจากคนผู้ขณะเดียวกันสินค้าหลายรายโดดเข้ามาเป็นสปอนเซอร์หนึ่งในนั้น คือ “แอสเซทไวส์” ที่ต้องการขยายฐานลูกค้าในวงกว้าง และเวทีประกวดนางงามนับเป็นช่องทางการสื่อสารที่ดีในการสร้างแบรนด์ที่ไม่ควรมองข้าม
“วิทวัส รุ่งเรืองผล” อาจารย์ประจำโครงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ว่า แม้บริษัทอสังหาริมทรัพย์จะมีสินค้าที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับความงาม เหมือนสบู่ แชมพู อาหารเสริม แต่การเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ในเวทีนางงาม ตอบโจทย์ในเรื่อง “Corporate Image” รูปแบบการทำในลักษณะนี้ มักจะเป็นบริษัทที่กำลังเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือกำลังขึ้นโครงการใหม่ กรณีนี้ถือว่าตอบโจทย์แอสเซทไวส์ เพราะช่วง 2-3 ปีนี้บริษัทเพิ่งเข้าตลาดฯ และมีโครงการออกมาอย่างต่อเนื่อง ต้องการสร้างแบรนด์ในวงกว้าง
“บริษัทก็ต้องสร้างสตอรี่ของตนเอง เพราะรายได้ส่วนหนึ่งมาจากการขายอสังหาฯ อีกส่วนหนึ่งมาจากการที่แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้นซึ่งส่งผลดีต่อราคาหุ้น หากนักลงทุนรู้จักมากขึ้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการใช้สื่อ เพื่อขยายการรับรู้ของแบรนด์ไปยังกลุ่มลูกค้าที่ซื้ออสังหาฯ และกลุ่มนักลงทุนที่รู้จักแบรนด์มากขึ้น”
ดังนั้น “เวทีประกวดนางงาม” เป็นช่องทางหนึ่งในการสื่อสารแบรนด์ไปยังกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี เพราะเวทีประกวดนางงาม ถือเป็นอีเวนต์รูปแบบหนึ่ง ที่มีสื่อทั้งออฟไลน์และออนไลน์เข้ามาเป็นองค์ประกอบ ฉะนั้น คอนเทนต์ที่เกี่ยวกับนางงามค่อนข้างซอฟต์! หรือจะมองว่า เป็น “Soft Power” อย่างหนึ่งก็ได้ ไม่แตกต่างจาก Soft Power ประเภทอื่นๆ
ยกตัวอย่าง Soft Power จาก “เพลง” ที่ค่าย “แสนสิริ” เคยให้ บอย โกสิยพงษ์ โปรดิวส์เซอร์มือหนึ่งเขียนและแต่งเพลงให้แสนสิริ เพื่อส่งเสริมการรับรู้ตราสินค้าผ่าน "Entertainment Marketing" หรือถ่าย MV ในโครงการ Soft Power จากละคร ต่างๆ และ Soft Power จากเวทีประกวด ซึ่งแล้วแต่ว่าจะประกวดอะไร
“เวทีประกวดที่เป็น MASS หนีไม่พ้นเรื่องกีฬา เพลง และ เวทีนางงาม ซึ่งเป็นอีเวนต์ใหญ่ที่เข้าถึงคนส่วนใหญ่ได้ง่าย ตอบโจทย์กลุ่มสินค้าและบริการที่ต้องการสื่อสารแบรนด์ไปในวงกว้างทั้งผู้หญิงและผู้ชาย”
ประกอบกับฝั่งผู้จัดประกวดเองต้องหารายได้จากสปอนเซอร์ จึงหาลูกค้าจากบริษัทต่างๆ ที่น่าสนใจ หรือเป็นบริษัทที่มีศักยภาพ ต้องการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น หรือมีคอนเนคชั่นส่วนตัว ลักษณะคล้ายการจัดถ่ายทอดสด ศึกแดงเดือด แมนยูฯ vs ลิเวอร์พูล ของวินิจ เลิศรัตนชัย ที่ บิทคับ (Bitkub) เป็นสปอนเซอร์ เพราะต้องการสร้างแบรนด์และมีงบในการประชาสัมพันธ์
วิทวัส ระบุว่า โดยหลักต้องดูว่าสินค้าและบริการประเภทนั้นเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเวทีการประกวดหรือไม่ ถือเชื่อมโยงกันได้เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้า “ไม่” ก็ต้องกลับมาดูเช่นกัน อย่าง ความงามกับคอนโด อาจไม่เกี่ยวกันโดยตรง
แต่ธุรกิจนี้ก็มีโอกาสเติบโตและอยู่ระหว่างการสร้างแบรนด์ ภายใต้คอนเซปต์ “Barter” อย่าง การเป็น Sponsorship คอนโดที่ให้กับนางงาม โดยไม่เสียเงิน ทั้งสามารถนำนางงามมา “ต่อยอด” เช่น แทนที่จะจ้างคนมารีวิวให้คนทั่วไปเห็นบรรยากาศในห้องตัวอย่างถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ใครๆ ก็ทำ
แต่หากมีนางงามพาชมห้องจากการใช้ชีวิตจริง ตั้งแต่ตื่นมาตอนเช้าในห้องนอน นั่งรับประทานอาหารในพื้นที่ส่วนกลางของโครงการย่อมตอกย้ำแบรนด์ได้ดีกว่าแน่นอน เรียกได้ว่า เป็น “ซอฟท์คอนเทนต์” ที่ดึงดูดคนได้ค่อนข้างมาก
ไม่ต่างจากสมัยก่อนผลิตภัณฑ์สบู่ยี่ห้อดังผูกภาพลักษณ์อยู่กับเวทีนางงามมาแต่ไหนแต่ไร เพื่อทำให้คนรู้สึกว่าใช้สบู่ยี่ห้อนี้แล้วสวยเหมือนผู้เข้าประกวด จนกระทั่งปัจจุบันสปอร์นเซอร์สินค้าที่เข้ามาเปลี่ยนไป
แต่ยังคงเป็น “Soft Power” ทรงพลังที่ไม่ควรมองข้าม !!