ลุ้น BBL-SCB-KKP-BAY แจก’ปันผล’ครึ่งปีแรกพุ่ง
โบรกส่อง ปันผลแบงก์ครึ่งปีอู่ฟู้ คาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปีก่อน หลังแบงก์ชาติปลดล็อค เลิกจำกัดจ่ายปันผลแบงก์ สอดคล้องกำไรแบงก์ครึ่งแรกโตแกร่ง
ผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก 2565 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (กลุ่มแบงก์)ออกมาดี อยู่ที่ 105,795 ล้านบาท (10 แบงก์) เพิ่มขึ้น 8.1% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 97,898 ล้านบาท ขณะที่สำรองปรับตัวลดลง 13% มาอยู่ที่ 90,851 ล้านบาท ประกอบกับเมื่อต้นปีนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้ปลดล็อก นโยบายการ “จ่ายเงินปันผล”ของแบงก์
โดยการยกเลิกการจำกัดอัตราจ่ายเงินปันผล จากเดิมที่จำกัดอัตราการจ่ายไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิประจำปี หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย รวมถึงการทำผลทดสอบภาวะวิกฤติ (stress test)ของกลุ่มแบงก์ที่ออกมาถือว่ามีความแข็งแกร่งค่อนข้างมาก ซึ่งถือเป็นผลดี กับกลุ่มธนาคาร ให้สามารถกลับมาจ่ายเงินปันผลงวดครึ่งปีแรกได้ “อิสระ”มากขึ้น
“กรกช เสวตครุตมัส” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)กสิกรไทย กล่าวว่า การปลดล็อก ของแบงก์ชาติ โดยเลิกจำกัดการจ่ายเงินปันผล ถือว่าเป็นผลบวกต่อกลุ่มแบงก์โดยตรง ให้แบงก์มีความสามารถในการจ่ายเงินปันผลที่สะท้อนผลประกอบการมากขึ้น ซึ่งหากดูแนวโน้มผลประกอบการของแบงก์ที่ผ่านมา ถือว่าทำได้ดี โดยกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น จากสำรองที่ลดลง
รวมถึงความเสี่ยงจากโควิด-19 มีผลกระทบต่อแบงก์ในวงจำกัดมากขึ้น เหล่านี้อาจนำไปสู่ ความสามารถ กลับมา “จ่ายเงินปันผล”ของแบงก์ที่เพิ่มขึ้นได้
สำหรับคาดการณ์ การจ่ายปันผลของแบงก์ปีนี้ คาดว่าจะดูดี ทั้งอัตราส่วนทางการเงินระหว่างเงินปันผลต่อหุ้น กับกำไรสุทธิต่อหุ้น (Payout Ratio)ที่คาดจะเพิ่มขึ้นทุกแบงก์ บวกกับปันผลรอบครึ่งปีและทั้งปีของแบงก์ที่จะเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
เริ่มที่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ที่คาดว่าจะเห็นการจ่ายเงินปันผลในงวดครึ่งปีแรก2565สูงขึ้น ที่ระดับ 1.50-2.0 บาท กลับมาใกล้เคียงกับระดับปกติก่อนที่จะเกิดโควิด ที่จ่าย 2 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้นเท่าตัว หากเทียบกับปีก่อนหน้าที่จ่ายปันผลครึ่งปีเพียง 1 บาทเท่านั้น
ส่วนทั้งปี2565คาดว่าBBLจะจ่ายปันผลสูงถึง 6.90 บาท เพิ่มขึ้นจากระดับ 3.50 บาทต่อหุ้น เมื่อปีก่อนหน้า สะท้อนผลกำไรของแบงก์ที่คาดว่าจะเติบโตสู่ระดับ 3.2 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 24% จากปีที่ผ่านมา
ถัดมาคือ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) ที่คาดจ่ายปันผลอยู่ที่1-1.50 บาท จากปีก่อนที่ครึ่งปีจ่ายที่ 1.40 บาทต่อหุ้น ส่วนทั้งปี คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกินเท่าตัว เป็น 5.40 บาท จาก 4.06บาทในปี 2564 ภายใต้กำไรสุทธิที่คาดว่าจะทำได้ 4.08 หมื่นล้านบาท เติบโต 14.7%
ด้านธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) คาดจ่ายปันผลครึ่งปีแรกจะอยู่ที่ 0.50-0.60 บาท จากปีก่อน จ่ายอยู่ที่ 0.40บาท ส่วนทั้งปี คาดจ่ายปันผลสูงขึ้นที่ 1.20 บาท จากปีก่อนหน้าที่จ่ายเพียง 0.85 บาท แม้กำไรโดยรวมของแบงก์จะลดลง 11% หรือมาอยู่ที่ 2.9 หมื่นล้านบาท เป็นเพราะ ปีก่อนหน้ามีการบันทึกกำไรพิเศษจากเงินติดล้อ แต่หากหักกำไรพิเศษส่วนนี้ออกไปผลประกอบการปกติ ยังโตได้ถึง 19% สอดคล้องกับภาพรวมของแบงก์ที่กำไรเพิ่มขึ้นถ้วนหน้า
ธนาคารเกียรตินาคินภัทร(KKP) ถือว่าโดดเด่นไม่แพ้กัน คาดครึ่งปีจ่ายเงินปันผลที่ 1-1.50 บาท จากปีก่อนที่จ่าย 0.75 บาท ส่วนทั้งปี คาดว่าจ่ายปันผลอยู่ที่ 4.50 บาท เพิ่มขึ้นจากระดับ 2.95 บาท สอดคล้องกำไรที่เติบโตขึ้นเป็น 7.7 พันล้านบาทปีนี้ หรือเติบโตขึ้น 22%
ส่วนแบงก์อื่น แม้ไม่มีการจ่ายปันผลรอบครึ่งปี เช่น ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) แต่คาดทั้งปีนี้ปันผลจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน มาอยู่ที่ 0.040บาท จากปีก่อนหน้าที่จ่ายอยู่ที่ 0.038 บาท ภายใต้การคาดการณ์กำไรปีนี้ที่โตโดดเด่นที่ 1.3 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 25%
ขณะที่ ธนาคารกรุงไทย(KTB) คาดจ่ายปันผลทั้งปีจะอยู่ที่ 0.90 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่จ่ายอยู่ที่ 0.418 บาท ส่วนกำไรทั้งปีคาดอยู่ที่ 3.3 หมื่นล้านบาท เติบโต 57%
ซึ่งเติบโตก้าวกระโดด เทียบกับบรรดาแบงก์อื่นๆ เพราะสำรองลดลงค่อนข้างมาก จากการคุมหนี้เสียได้ระดับดี อีกทั้ง ค่าใช้จ่ายของแบงก์ปีนี้ยังลดลงต่อเนื่อง จากการปรับลดสาขา การปรับลดพนักงาน ซึ่งเป็นผลดีให้ค่าใช้จ่ายในภาพรวมของแบงก์ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง
สุดท้ายคือ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) ที่แม้จะไม่มีการจ่ายปันผลครึ่งปี แต่คาดเป็นตัวที่โดดเด่นที่สุดในบรรดาแบงก์ทั้งหมด เพราะTISCO เป็นแบงก์เดียวที่ มีอิสระ ในการจ่ายปันผลเพราะการเป็น “โฮลดิ้งคอมพะนี” ที่สามารถจ่ายปันผลได้ให้ผู้ถือหุ้นระดับสูงต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าปันผลปีนี้จะสูงถึง 7.15บาท ซึ่งเป็นระดับสูง ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า โดยเป็นการจ่ายเงินปันผลสูงถึง 80% เทียบกับอัตรากำไรของแบงก์ที่ทำได้ สอดคล้องจากผลกำไรปีนี้ ที่คาดว่าจะเติบโตได้ต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 7.1 พันล้านบาท หรือโต 5%
ดังนั้น ด้วยภาพรวมทั้งการจ่ายเงินปันผล และกำไรของแบงก์ที่ดีต่อเนื่อง จึงให้ “น้ำหนัก”ลงทุนในกลุ่มแบงก์ มากกว่าตลาด โดยเฉพาะแบงก์ใหญ่ ที่จะได้อานิสงส์ จากการขึ้นดอกเบี้ยของธปท. และได้รับผลบวกจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง สวนทางกับแวลูเอชันกลุ่มแบงก์ ที่วันนี้อยู่ระดับต่ำเพียง 0.6-0.7 เท่า ดังนั้นยังมองว่ามี “โอกาส”อีกมากในการเข้ามาลงทุน ส่วนหุ้นที่ชอบ คือ BBL โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 153 บาท และ SCB ที่ 152 บาท
“ธนเดช รังษีธนานนท์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) พาย จำกัด (มหาชน) คาดกำไรกลุ่มแบงก์รอบครึ่งปีจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน แม้จะเพิ่มขึ้นไม่มากนัก หากเทียบกับช่วงก่อนหน้า เพราะแบงก์ส่วนใหญ่ เน้นจ่ายปันผล”รอบครึ่งปีหลัง" หรือจากผลประกอบการทั้งปีมากกว่า แต่ก็ถือว่า อยู่ในทิศทางที่ดีต่อเนื่อง
โดยคาดว่า BBL จะจ่ายปันผลทั้งปีได้ถึง 4.80 บาท จากเดิม 3.50 บาท ซึ่งคิดจากปันผลต่อหุ้น กับกำไรสุทธิต่อหุ้น จากงบรวมของแบงก์ หรือ Payout Ratio อยู่ที่ 30% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 25%
ขณะที่ KBANK คาดจ่ายอยู่ที่ 5.50 บาท จาก 3.25 บาท ในปีก่อนหน้า ซึ่งคิดเป็น Payout Ratio อยู่ที่ 30% ปีก่อน 20%
ส่วน KKP คาดปันผลทั้งปีอยู่ที่ 4.20 บาท จาก 2.95 บาท โดย Payout Ratio อยู่ที่ 45% จาก 39%
ด้าน KTB คาดจ่ายปันผลที่ 0.55 บาท จาก 0.42 บาท โดยคิดเป็น 30% จากปีก่อน 27%
ส่วนSCB คาดจ่ายอยู่ที่ 4.70 บาท จาก ปีก่อน 4.06 บาท โดยมี Payout Ratio อยู่ที่ 40% จาก 38%
ขณะที่ TISCO คาดจ่ายปันผลเฉียด 8บาท หรือ มาอยู่ที่ 7.55บาท จาก 7.15บาท โดยคิดเป็น Payout Ratio เท่าเดิมที่ 84% ซึ่งถือว่าโดดเด่นที่สุดในกลุ่มแบงก์ ขณะที่ TTB คาดจ่ายปันผลทั้งปีที่ 0.05 บาท จาก 0.038 บาท โดยคิดเป็น Payout Ratio ที่ 40% จาก 35%
“ภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ” ผู้จัดการฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส คาดปันผลของ BBL ปีนี้จะอยู่ที่ 4.25 บาท ขณะที่ KBANK 4.0 บาท และ KKP ที่ 4.25บาท ขณะที่ KTB ที่ 0.73บาท และSCB 4.50 บาท และTISCO ที่ 7.50 บาท
จากภาพรวม “ปันผล”เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากเทียบกับปีที่ผ่านมา สะท้อนผลประกอบการ และกำไรที่เติบโตมากขึ้น ดังนั้นให้น้ำหนักลงทุนสำหรับกลุ่มแบงก์ โดยเฉพาะแบงก์ใหญ่ ที่น่าสนใจมากขึ้น