ผู้บริโภคล่าหมื่นชื่อค้านดีล ‘ทรู-ดีแทค’
เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค และผู้แทนผู้บริโภค ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นหนังสือต่อ ศาสตราจารย์คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค และผู้แทนผู้บริโภค ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นหนังสือต่อ ศาสตราจารย์คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) เพื่อคัดค้านการควบรวม บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ ทรูและ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค พร้อมรวบรายชื่อผู้ไม่เห็นด้วย กับ การควบรวมทรู-ดีแทค จำนวน 1 หมื่นราย ผ่านเว็บไซต์ change.org ยื่นต่อคณะกรรมการ กสทช.
รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนฤมล เมฆบริสุทธิ์ ระบุ การยื่นหนังสือคัดค้านวันนี้เนื่องจาก ทั้งสองบริษัท ไม่ได้ขออนุญาต ต่อ กสทช. ซึ่งเป็นกระทำที่ขัดต่อพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม มาตรา 21 อันอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่ถูกปิดกั้นทางเลือกการใช้บริการและลดโอกาสของผู้ประกอบการรายใหม่ จึงได้ส่งหนังสือขอให้ กสทช.ดำเนินการตรวจสอบการควบรวมดังกล่าว
ต่อมากสทช. ได้เรียกทั้ง 2 บริษัทชี้แจงและนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการฯ จึงมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์ฯ จำนวน 4 คณะ เพื่อศึกษาผลกระทบในด้านต่างๆ พร้อมทั้งจัดรับฟังความคิดเห็นกลุ่มภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง กลุ่มนักวิชาการ และกลุ่มผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป
รวมทั้งคณะกรรมการฯ ยังมีมติสั่งการ ให้สำนักงาน กสทช. มีหนังสือขอหารือ กับ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในประเด็นข้อกฎหมายและประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เรื่องอำนาจหน้าที่ของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ในกรณีการรวมธุรกิจระหว่าง ทรู-ดีแทค โดยสำนักงาน กสทช. ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
โอกาสนี้จึงขอยื่นหนังสือเพื่อขอคัดค้านการควบรวมธุรกิจและขอให้คณะกรรมการฯ เปิดเผยข้อมูลผลการศึกษาวิเคราะห์และความเห็นของอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ ตลอดจนผลการศึกษาที่เกี่ยวข้อง พร้อมรายละเอียดต่างๆ ให้ประชาชนรับรู้
นอกจากนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เรียกร้องขอให้ กสทช. ไม่อุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครอง ที่ให้ กสทช.ต้องทำหน้าที่พิจารณาการควบรวมกิจการ ทรู-ดีแทค อย่างรอบคอบ ไม่ใช่แค่มีหน้าที่รับเรื่องเท่านั้น