KKP เตรียมขอไลเซนส์ตั้ง ‘Virtual Bank’รุกให้บริการบนดิจิทัล

KKP เตรียมขอไลเซนส์ตั้ง ‘Virtual Bank’รุกให้บริการบนดิจิทัล

“กลุ่มเกียรตินาคินภัทร” เร่งเจาะฐานลูกค้าขนาดเล็กรายย่อยเพิ่ม ส่ง “เคเคพีเอดจ์” รุกเวลธ์ระดับ 1 ล้านบาทลงมา หวังเจาะกลุ่มลูกค้ากว้างขึ้น พร้อมดึง “เคเคพีไดม์” เสริฟรายย่อย เตรียมเปิดให้บริการลงทุน เงินฝากปลายเดือนนี้ ก่อนลุยธุรกิจประกัน-ปล่อยกู้

     นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า การที่ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่ดิจิทัลที่รวดเร็วขึ้น ถือเป็นโอกาสของธนาคารในการเข้าไปจับกลุ่มลูกค้าขนาดเล็กลง ที่คุ้นชินกับดิจิทัลมากขึ้น  

     ทั้งผ่านธุรกิจของ KKP Edge ที่ให้บริการ Wealth Management ที่เตรียมจะเข้าไปให้บริการลูกค้าขนาดเล็กลง หรือมีสินทรัพย์ระดับ 1 ล้านบาทได้ จากเดิมเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีสินทรัพย์เกิน 2 ล้านบาทขึ้นไป ดังนั้น การใช้ดิจิทัลอินฟราซักเจอร์มาช่วยจะทำให้แบงก์สามารถเข้าถึงนักลงทุนกลุ่มเล็กลงได้

       นอกจากนี้ ธนาคารยังมีการเซ็ทอัพธุรกิจใหม่ ซึ่งเป็น Virtual Bank หรือ ธนาคารไม่มีสาขา เพื่อให้บริการกับลูกค้าขนาดเล็กของธนาคารมากขึ้น  โดยเบื้องต้นเตรียมเปิดให้บริการ KKP "Dime” ที่จะเปิดตัวในปลายเดือนนี้  

       ซึ่งจะเริ่มต้นให้บริการด้านเงินฝากและการลงทุนสำหรับนักลงทุนรายย่อย ที่สามารถลงทุนได้โดยไม่จำกัดขั้นต่ำ และอนาคตคาดว่าจะขยายขอบเขตการให้บริการไปสู่ธุรกิจประกัน และสินเชื่อดิจิทัลต่อไป 

 

      อย่างไรก็ตาม การให้บริการผ่าน “Dime” อยู่ภายใต้ใบอนุญาตหรือไลเซ่นส์ บล.ทรัพย์เกียรตินาคินภัทร และไลเซ่นส์ของแบงก์ แต่อนาคตเตรียมจะขอไลเซ่นส์จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการเปิด Virtual Bank เพื่อให้บริการบนดิจิทัลต่อไป

      ส่วนผลการดำเนินงานปีนี้ ธนาคารได้ปรับเป้าสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็น 16% ปีนี้ จากครึ่งปีแรกที่สินเชื่อโตค่อนข้างมากที่ 10% จากการรุกในพอร์ตรายย่อย ที่มีหลักประกันมากขึ้น 

      “แม้สินเชื่อเราโตได้ดี แต่ภายใต้ความเสี่ยงจากสงคราม , เงินเฟ้อ ทำให้ต้องระมัดระวัง และเน้นโตแบบมีคุณภาพมากขึ้น ดังนั้น การเติบโตสินเชื่อจะไม่ได้ก้าวกระโดด แต่ไม่ถึงกับแตะเบรก แต่เป็นการผ่อนคันเร่งลง ดังนั้น มองในครึ่งปีหลังการเติบโตระดับ 6% มีโอกาสเป็นไปได้ หนุนให้ทั้งปีโตไปสู่เป้าหมายระดับ 16%”

      ส่วนภาพรวมหนี้เสียปีนี้มองว่าอาจปรับเพิ่มขึ้นได้ จากการหันไปรุกสินเชื่อที่มีความเสี่ยงมากขึ้น แต่ธนาคารจะพยายามคุมหนี้เสียไม่ให้เกิน 3.1% ปีนี้ ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่บริหารจัดการได้