สรุป 5 ประเด็นเร่งด่วน สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค แนะฟื้นเศรษฐกิจภูมิภาค
จากการประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองฮาลอง ประเทศเวียดนาม ยก 5 ข้อเสนอเร่งด่วน รับมือเงินเฟ้อ ความมั่นคงพลังงานและอาหาร ไปจนถึงภัยธรรมชาติ
การรวมตัวของผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคครั้งที่ 3 เป็นการติดตามความคืบหน้าจากการประชุม 2 ครั้งที่ผ่านมา เพื่อเตรียมนำข้อสรุปส่งมอบต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่จะจัดขึ้นในประเทศไทยในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยคณะทำงานมีความเห็นตรงกันว่า จะเรียกร้องให้สมาชิกเอเปค มาร่วมบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อเรียกร้องให้สมาชิกร่วมกระชับการบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 กล่าวว่า สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ได้ยกวาระเร่งด่วน 5 ประการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ 5 กลยุทธ์หลักของคณะทำงาน เพื่อส่งมอบต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รับมือสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งปัญหาเงินเฟ้อ ความไม่มั่นคงทางพลังงานและความขาดแคลนอาหาร รวมถึงภัยธรรมชาติที่ส่งสัญญาณเตือนชัดเจนขึ้น ได้แก่
1.การสร้าง Regional Economic Integration กำหนดเส้นทางสู่เขตการค้าเสรีของเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตของการค้าภาคบริการ โดยเฉพาะการส่งเสริมนวัตกรรมให้เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก เกี่ยวกับบริการดิจิทัลที่สนับสนุนอีคอมเมิร์ซ, บริการทางโลจิสติกส์, บริการด้านสุขภาพ และบริการด้านสิ่งแวดล้อม
2.การเปลี่ยนผ่านสู่ Digital Economy โดยร่วมกันสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล และความปลอดภัยทางไซเบอร์ ด้วยการประสานการดำเนินการและการลงทุนด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์
3.MSME and Inclusiveness ให้ความสำคัญกับการออกมาตรการสนับสนุน MSMEs รวมทั้งการสร้างความมีส่วนร่วมของผู้หญิงและคนพื้นเมือง อาทิ การสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง การบูรณาการเข้ากับห่วงโซ่คุณค่า และการสนับสนุนในมาตรการนี้ให้เป็นสากล
4.Sustainability เป็นก้าวสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันสู่เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานและความมั่งคงทางอาหาร คณะทำงานจึงเร่งดำเนินการ ‘แผนงานความมั่นคงด้านอาหารของ APEC สู่ปี 2030’ และให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนา
และการดำเนินการตามแผนดิจิทัลความมั่นคงด้านอาหาร ในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิต การจำหน่ายและการค้า ตลอดจนการนำ Bio-Circular-Green (BCG) มาปรับใช้เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
5.Finance and Economics การการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง และการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปโครงสร้างในการพัฒนาสู่ระบบดิจิทัลและความยั่งยืนอย่างครอบคลุม
“เสียงสะท้อนจากภาคธุรกิจซึ่งมาจากความต้องการที่แท้จริงของผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดแนวทางความร่วมมือในระดับภูมิภาค รวมทั้งเป็นแนวทางในการช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกภาคส่วนต่อไป” นายเกรียงไกร กล่าว
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ของไทย และประธาน APEC CEO Summit 2022 กล่าวว่า ข้อเสนอแนะในครั้งนี้ สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคยังเรียกร้องให้เพิ่มความพยายามขึ้นเป็นสองเท่าเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า และยับยั้งข้อห้ามและข้อจำกัดต่างๆ ในการส่งออกและการร่วมมือข้ามพรมแดนที่เกี่ยวกับระบบนิเวศอาหาร เพื่อให้มั่นใจว่า 21 ประเทศสมาชิกเอเปกจะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการสร้างความมั่นคงทางอาหารและเป็นผู้ผลิตอาหารที่สำคัญของโลก
นายกอบศักดิ์ ดวงดี สมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ของไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีจะเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนการเติบโตให้กับภูมิภาค ดังนั้นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการค้าจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน อาทิการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรักษาความปลอดภัยของระบบดิจิทัล (Cybersecurity) เสริมโครงสร้างข้อมูลพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการค้าดิจิทัล (Data Infrastructure for Digital Trade) การสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย (MSMEs) ในการใช้เทคโนโลยี และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการชำระเงินในตลาดดิจิทัล (Digital Market Infrastructure) ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องสนับสนุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและยกระดับมาตรฐานบริการของภาคเอกชนในภูมิภาค