นับถอยหลังตัดสินใจ CPTPP ไทยหยุดหรือไปต่อ
กนศ.ทอดเวลารวบรวมข้อมูลอีก 2 เดือน ก่อนเตรียมเคาะ CPTPP เข้าร่วมวงหรือไม่ ด้านภาคประชาสังคมยืนกรานค้านหัวชนฝา ไทยไม่พร้อม
ความเคลื่อนไหวของรัฐบาล ที่จะนำประเทศไทยแสดงเจตจำนงเข้าเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าภาคพื้นแปซิฟิก CPTPP (ซีพีทีพีพี) ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 11 ประเทศ ประกอบด้วย ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม
ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ได้ประชุมคณะกรรมการกนศ.เพื่อพิจารณาความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมของไทยในการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP โดยเฉพาะประเด็นการจัดทำกรอบการเจรจาความตกลง รวมถึงข้อสงวน และข้อยืดหยุ่นของไทยในการเจรจาต่อรอง และ ข้อผูกพันของความตกลง
โดยที่ประชุมมีมติให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลับไปทบทวนรายการข้อเสนอ ข้อยึดหยุ่น ระยะเวลาการปรับตัว ข้อผูกพันต่างๆ โดยกำหนดให้แต่ละหน่วยงาน ต้องหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียจากทุกภาคส่วนให้ครอบคลุมและสมบูรณ์ก่อน
จากนั้นจึงให้ทำข้อสรุปและเสนอกลับมาให้ กนศ. พิจารณาภายใน 2 เดือน หรือในเดือนต.ค.นี้ หลังจากที่ล่าช้ามานานนับปี ก่อนที่ กนศ. จะรายงานความคืบหน้าการดำเนินการต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนรองรับผลกระทบจากเปิดเสรีทางการค้า (เอฟทีเอ) ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากครม. แล้ว ขณะนี้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ อยู่ระหว่างการยกร่างพ.ร.บ.กองทุนเอฟทีเอ และจะเปิดให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้แสดงความเห็นในเดือนส.ค.นี้ จากนั้นจึงจะเข้าสู่กระบวนการตรากฎหมายต่อไป
พร้อมกันนั้น ยังได้รับทราบความคืบหน้าการจัดตั้งคณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ เพื่อสื่อสารทำความเข้าใจในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ CPTPP ให้สาธารณะชนได้รับทราบข้อเท็จจริง ซึ่งล่าสุด ได้มีการยกร่างคำสั่งแต่งตั้ง และเสนอให้ประธานกนศ.พิจารณาแล้ว ส่วนเรื่องการชี้แจงข้อกังวล ประเด็นห่วงใยต่างๆ ของภาคประชาสังคม (เอ็นจีโอ) นั้น ได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข ไปหารือสร้างการรับรู้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน พร้อมกับทบทวนเรื่องข้อสงวน ข้อยืดหยุ่นต่างๆ ด้วย
ทั้งนี้กนศ. และรัฐบาลมองว่า จะเป็นประโยชน์กับไทยมาก เพราะจะช่วยขยายโอกาสให้สินค้า และบริการของไทยจะเข้าสู่ตลาดของประเทศสมาชิก 11 ประเทศได้ง่ายขึ้น มีการอำนวยความสะดวก และลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน อีกทั้งความตกลงนี้ มีมาตรฐานการเปิดเสรีในระดับสูง ซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทยให้สูงขึ้นได้ ฯลฯ แต่หากไทยไม่เข้าร่วม จะสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ
ทางด้านภาคประชาสังคมก็มีความเคลื่อนไหวเช่นกัน โดยยังคงเดินหน้าคัดค้านการที่ไทยจะเข้าเป็นสมาชิก CPTPP หลังทราบว่า กนศ.มีการประชุม ซึ่งทางกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ที่เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวคัดค้านเรื่องดังกล่าวตั้งแต่ต้นได้ใช้โซเซียลโดยเฉพาะเฟสบุ๊ก เป็นกระบอกเสียงในการย้ำถึงเหตุผลในการคัดค้านการเข้าร่วม CPTPP พร้อมนำท่าทีและความเคลื่อนไหวของรัฐบาลมาเผยแพร่ให้สาธารณะได้รับรู้
เหตุผลสำคัญที่กลุ่ม FTA Watch ตอกย้ำการค้านไทยเข้าร่วม CPTPP คือ ตั้งข้อสังเกตว่าไทยจำเป็นต้องเข้าร่วม CPTPP จริงหรือไม่ และประโยชน์ที่จะได้รับ จะคุ้มค่ากับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับภาคเกษตร อุตสาหกรรม บริการ รวมถึงประชาชน และประเทศหรือไม่
พร้อมย้ำว่าไทยยังไม่มีความพร้อมโดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหวที่ไทยยังไม่พร้อมแข่งขัน เช่น การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร, ภาคบริการ จะเสียเปรียบมาก เพราะสมาชิกจะเข้ามาประกอบธุรกิจบริการในไทยมากกว่าที่ธุรกิจไทยจะไปลงทุนในประเทศสมาชิก, จัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ จะทำให้ธุรกิจของสมาชิก เข้ามาประมูลงานภาครัฐของไทยได้ ทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ถูกต่างชาติแย่งงาน ส่วนภาคเกษตรยิ่งเสียเปรียบ เพราะขาดเทคโนโลยี นวัตกรรม และจะทำให้สินค้าเกษตรจากทั้งแคนาดา และเม็กซิโก เข้ามาตีตลาดได้ และเกษตรกรไทยเสียหาย
ก่อนหน้านี้ปลายปี 2564 ดอน ปรมัตถ์วินัย เข้าพบตัวแทนภาคประชาสังคมเพื่อเปิดทางให้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าว แต่สุดท้ายทั้ง 2 ฝ่ายก็ยังไม่มีจุดร่วมที่ตรงกัน จนกระทั่งล่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านกนศ.ได้นัดประชุมอีกครั้ง ซึ่งกนศ.ได้ขีดเส้นอีก 2 เดือนต้องได้ข้อสรุปก่อนที่กนศ.จะเสนอเรื่องต่อครม. ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวประเทศอื่นเช่น จีน ไต้หวัน สหราชอาณาจักร ได้แสดงเจตจำนงที่จะขอเข้าร่วม” CPTPP ”ไปแล้ว
จากนี้ไปอีก 2 เดือนถือเป็นไทม์ไลน์สำคัญของไทย ที่จะได้บทสรุป” CPTPP ”หลังหลังล่าช้ามากว่า 2 ปี ซึ่ง”คำตอบ”ที่ได้ไม่ว่าจะไปในทางไหน รัฐบาลต้องมีเหตุผลที่ชัดเจนเพื่อสร้างความกระจ่างให้กับผู้ที่สนับสนุนและผู้ที่คัดค้าน โดยคาดว่ารัฐบาลจะประกาศจุดยืนในเรื่องนี้ราวเดือนต.ค.หรือพ.ย.นี้ ก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะหมดวาระในเดือน มี.ค.2566