กฟผ. ชูต้นแบบ Bang Kruai Green Community สู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน
กฟผ. พร้อมขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน – เศรษฐกิจสีเขียว (Bio – Circular - Green Economy: BCG) ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า ชูโครงการต้นแบบ Bang Kruai Green Community มุ่งสร้างสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมงานเสวนา “ภาคธุรกิจไทย TBCSD นำงานวิจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG สู่สังคมคาร์บอนต่ำ และยั่งยืน” โดยร่วมเสวนาในหัวข้อ “ภาคธุรกิจไทยกับการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน – เศรษฐกิจสีเขียว (Bio – Circular - Green Economy: BCG)” ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565” (Thailand Research Expo 2022) ระหว่างวันที่ 1-5 สิงหาคม 2565 ณ ชั้น 22-23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
นายบุญญนิตย์ เปิดเผยว่า กฟผ. เป็นหน่วยงานด้านพลังงาน ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมาโดยตลอด โดยมีการปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น สนับสนุนการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าสอดรับกับทิศทาง พลังงานโลกในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ด้วยเป้าหมาย EGAT Carbon Neutrality ในปี ค.ศ.2050 ซึ่งช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ BCG ในทุกมิติของประเทศ ภายใต้หลักการสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ
โดยที่ผ่านมา กฟผ. ปรับแผนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าโดยลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล เพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียนและบูรณาการนวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียนให้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ ผ่านโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (Hydro Floating Solar Hybrid) การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) อาทิ Digital Substation, Demand-Response, RE Forecast และเดินหน้าศึกษาวิจัยการผลิตไฟฟ้ารูปแบบใหม่ Future Technology และพลังงานสะอาด เช่น Plasma Fusion, การใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในการผลิตไฟฟ้า การใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตไฟฟ้า (SCO2)
นอกจากนี้ กฟผ. ยังมุ่งมั่นในการผลักดันประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยเพิ่มปริมาณการดูดซับกักเก็บคาร์บอนร่วมกับภาคีเครือข่าย ผ่านโครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม ในระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ.2565-2574) และวางแผนเพิ่มกลไกการสนับสนุน โครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อย CO2 ที่เป็นรูปธรรม ภายในปี พ.ศ.2573 คาดว่าสามารถลดการปล่อย CO2 5,627 กิโลตัน CO2 ต่อปี และช่วยลดพลังงานไฟฟ้าลง 17,406 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ภายใต้โครงการสนับสนุน 3 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงาน อาทิ โครงการฉลากเบอร์ 5 โครงการ Energy Solution Service Platform 2. ด้านการปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิง ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และ EV Ecosystem 3. ด้านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนโดยเร่งดำเนินการโครงการต้นแบบ Bang Kruai Green Community ด้วยหลักคิด Smarter, Greener และ Together พัฒนาพื้นที่ชุมชนสีเขียว นำเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านพลังงานไฟฟ้ามาประยุกต์ใช้นำร่อง
ในชุมชน อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนอย่างยั่งยืน
“กฟผ. ตั้งมั่นว่าจะร่วมผลักดันงานวิจัยต่าง ๆ มาสนับสนุนการดำเนินงานต่างๆ ของ กฟผ. เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG สู่สังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมนำหลักการ BCG มาปรับใช้บริหารจัดการการใช้ทรัพยากรและพลังงานภายในองค์การอย่างคุ้มค่า เพื่อก้าวสู่การเป็นองค์การเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy Organization ในอนาคต อันจะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่จะกลับมาสมบูรณ์อย่างยั่งยืนต่อไป”