TMA ระดมกูรูชี้เทรนด์เพิ่มขีดแข่งขัน ชูนวัตกรรม-เปลี่ยนจำนวนเป็นคุณภาพ
สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ระดมความคิด มุมมองด้านบริหารจัดการ THAILAND COMPETITIVENESS CONFERENCE 2022 : “Thailand: Fit For The Future?” ชี้เทรนด์เพิ่มขีดแข่งขัน มุ่งเทคโนโลยี นวัตกรรม เปลี่ยนจำนวนเป็นคุณภาพ แนะรัฐขจัดจุดอ่อนกฎหมาย-บุคลากร หนุนแข่งขันตลาดโลก
ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกส่งผลกระทบในหลายมิติกับหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย หนึ่งในตัวชี้วัดมาจากขีดความสามารถในการแข่งขันที่ปรับตัวลดลงถึง 5 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 33 จาก 63 โดยมีอันดับลดลงในทุกปัจจัยชี้วัด โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
จากเวทีระดมความคิดและมุมมองของ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชนสะท้อนแนวทางการบริหารจัดการธุรกิจ และการบริหารคน ในงาน THAILAND COMPETITIVENESS CONFERENCE 2022 : "Thailand : Fit For The Future?" วิทยากรจาก IMD เสนอถึงแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมของโลกที่มีต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศและข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอย่างเจาะลึก
นายนิธิ ภัทรโชค ประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การมุ่งสร้างความสามารถการสร้างนวัตกรรม บริหารบุคลากร ยกระดับการปรับตัวภาครัฐ การปรับตัวกฎหมายให้ทันสมัย รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เป็นแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย
"The New World Order and Challenges for ASEAN-ระเบียบโลกใหม่และความท้าทายสำหรับอาเซียน"
Professor Kishore Mahbubani Distinguished Fellow, Asia Research Institute, National University of Singapore กล่าวในหัวข้อ “The New World Order and Challenges for ASEAN” ไว้อย่างน่าสนใจว่า ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า เกือบ 99.9% ที่พลวัตของโลกจะถูกขับเคลื่อนโดยการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดจากการแข่งขันระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งอาเซียนจะได้รับผลกระทบจากปัญหานี้อย่างแน่นอน
การขับเคลื่อนในเชิงโครงสร้างที่ลึกล้ำระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนมาจากความคาดหวังของชาวตะวันตกในการเปลี่ยนแปลงจีนให้เป็นรัฐประชาธิปไตยเสรี การแข่งขันครั้งนี้จะเร่งขึ้นใน 10-20 ปี แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะเป็นประเทศที่น่าเกรงขาม และประสบความสำเร็จมากที่สุด แต่สหรัฐอเมริกาก็กำลังต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
เห็นได้จากรายได้เฉลี่ยของคนอเมริกันที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาเป็นเวลา 30 ปีแล้ว ในขณะที่จีนกำลังพัฒนารัฐที่มีคุณธรรมที่ยืดหยุ่นได้ และชาวจีนมีความมั่นใจอย่างมากในอนาคตของตัวเอง ในด้านของข่าวดีมองว่าทั้งสองฝ่ายจะเสนอผลประโยชน์ให้กับประเทศอื่นๆ เช่น กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก ซึ่งไทยเข้าร่วมด้วย
"ประเทศไทย : เอาชนะความท้าทายเพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า"
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความท้าทายสำหรับประเทศไทยที่ลดลงให้กลับไปอยู่ในจุดที่สูงขึ้นนั้น สามารถทำได้ด้วยการปรับวิธีคิดและการทำงานใหม่ สร้างขีดความสามารถให้กับประเทศไทยอย่างแท้จริง ตัวอย่างเช่น สร้างโอกาสในวิกฤติด้วยการดึง คนเก่งจากทั่วโลก เข้ามาในไทยได้ด้วยการปลดกฎระเบียบต่าง ๆ
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช กรรมการ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า เอกชนต้องเตรียมตัวรับดิสรัปชั่นที่เข้ามา พร้อมกันนี้ก็พยายามสร้างโอกาสจากสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นใหม่ ยกตัวอย่าง Aging Society และอุตสาหกรรมด้านเกษตรและอาหาร เป็นสิ่งที่ไทยมีความพร้อม และสามารถเติบโตไปพร้อมกับแนวโน้มของธุรกิจในอนาคตได้
ประเทศไทยจะเดินในเส้นทางไหน?
นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) และกรรมการอำนวยการ TMA กล่าวว่า สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำคือ การเปลี่ยนจำนวนให้เป็นคุณภาพ และทำอย่างไรจะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่ทำอยู่นี้ให้สามารถรับนักท่องเที่ยวในจำนวนที่ไม่มากเท่าเดิม แต่พักอยู่นานขึ้น และ ใช้จ่ายมากขึ้น
"เป็นสิ่งที่พูดง่าย แต่ทำยาก และเราไม่สามารถทำคนเดียวได้ อย่างเช่น ที่พักอาศัยของผู้สูงวัย ซึ่งต้องแก้เรื่องกฎระเบียบ ทางกายภาพของอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับเปลี่ยนรองรับ ซึ่งต้องจับมือกับหลายหน่วยงานร่วมกันทำ"
ประเด็นต่อมาเป็นเรื่องของ "ทักษะ" และ "การศึกษา" ที่ต้องทำงานร่วมกันระหว่างธุรกิจกับหน่วยงานต่างๆ และ สุดท้าย หากเราจะทำให้ธุรกิจเดินไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน ต้องรู้ให้ได้ก่อนว่า ทำธุรกิจเพื่ออะไร อยากจะไปในทิศทางไหน เพื่อสร้างตัวตนที่ชัดเจนขึ้นมา จากนั้นสร้างคนและทัศนคติของคนที่มีต่อการทำงาน และต่อมาเป็นเรื่องของผลกำไรในการดำเนินธุรกิจ
"โลกยุคนี้เปลี่ยนแปลงเร็ว มีโมเดลธุรกิจเกิดใหม่เยอะมาก เช่น Airbnb ดังนั้นการทำธุรกิจจากนี้ควรสร้างสมดุลของงานและโครงการที่บริหารอยู่ให้ดี ตัวไหนซื้อควรซื้อ ตัวไหนควรขายก็ต้องขาย รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งแค่ต่างอุตสาหกรรมไม่พอ ต้องต่างประเทศด้วย"
ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โลกเปลี่ยนเร็วกว่าที่คิด! ดังนั้นควรเริ่มกลับมามองว่าประเทศไทยมีจุดเด่นเรื่องใด ในทางภูมิศาสตร์ไทยอยู่ตรงกลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแง่ประชากรเทียบทางยุโรปมี 400 ล้านคน อเมริกา 300 กว่าล้านคน ขณะที่อาเซียนมีราว 600 กว่าล้านคน แต่หากกลับมามองที่การเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี กลับพบว่ามีตัวเลขที่ต่ำกว่าหลายเท่า
"The World is Changing : What about Competitiveness-“โลกกำลังเปลี่ยนไป : อะไรคือขีดความสามารถในการแข่งขัน"
Professor Arturo Bris Director World Competitiveness Center, IMD กล่าวถึง ความสามารถในการแข่งขัน คือความสามารถในการสร้างมูลค่า การจ้างงาน และอนาคตสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศในอีก 3-5 ปีข้างหน้า โดยผู้บริหารหรือผู้นำควรให้ความสนใจในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ความล้มเหลวของการบรรเทาและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เหตุการณ์ร้ายแรงของการฉ้อโกง ขโมยข้อมูล การโจมตีทางไซเบอร์ ความเสียหายและภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น
จากการวิจัยล่าสุดของ IMD World Competitiveness Center ผู้บริหารส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้น ผู้บริหารจำเป็นต้องสามารถจัดการวิกฤติ และตอบสนองต่อวิกฤตได้อย่างทันท่วงที
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจำเป็นต้องมุ่งความสนใจไปที่เป้าหมายของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการผลิต การปรับปรุงระบบการศึกษาของประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการทั่วโลก พัฒนาบุคลากรที่มีทักษะมากขึ้น และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิต
ขีดความสามารถในการสร้างนวัตกรรม
ฯพณฯ นางกาญจนา ภัทรโชค เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงสตอกโฮล์ม ราชอาณาจักรสวีเดน กล่าวถึง Thailand & Nordic Countries Innovation พร้อมยกกรณีศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับการสร้างระบบนิเวศ ที่ภาคชุมชน ภาครัฐ เอกชน และด้านวิชาการ เดินไปสู่สังคมนวัตกรรมโดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าในปี 2030 นอร์ดิคจะเป็นภูมิภาคที่เชื่อมโยงกันมากที่สุด ขีดความสามารถที่สุด และยั่งยืนที่สุด
ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวคิดและการทำงานของ ปตท. เริ่มตั้งแต่วิธีคิดที่สามารถดิสรัปชันในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงได้
ด้าน นพ.ศุภชัย ปาจริยานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและ ผู้ร่วมก่อตั้ง RISE กล่าวว่า RISE ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นตัวเร่งสปีดนวัตกรรมให้กับองค์กรธุรกิจ และมีหน้าที่หลักในการช่วยประเทศไทยเพิ่มหนึ่งเปอร์เซ็นต์ จีดีพี
ดร. อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีในไทยต้องการหลายเรื่อง เช่น เทคโนโลยี เพราะส่วนใหญ่มาจากธุรกิจครอบครัว ทำให้ต้องกลับมามองถึงการเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีให้กับธุรกิจกลุ่มนี้ให้มากขึ้น
บริหารคนเก่งเพื่ออนาคต
ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และอนุกรรมการกลุ่ม Technology Innovation Management Group - TMA กล่าวว่า ประเทศไทยชัดเจนว่ามีเป้าหมายที่จะออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ในอีก 15 ปีข้างหน้า ซึ่งการอยู่ในอุตสาหกรรมเดิม ๆ หรือ เศรษฐกิจในยุคเดิม คงไปไม่ถึงแน่ ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของประเทศ ต้องสร้าง เศรษฐกิจยุคใหม่ให้เกิดขึ้น
ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด และกรรมการอำนวยการ TMA กล่าวว่า ความท้าทายที่เทคคัมปะนีต้องเจอ คือทำอย่างไรให้คนของเรามีทักษะที่ทันสมัยเสมอ เรียนรู้ของใหม่ๆ ในทุกเดือน คนที่สามารถประยุกต์ความรู้ ต่าง ๆ ทั้ง ข้อมูลและอุปกรณ์ มาประยุกต์ใช้ให้ตรงกับความต้องการของตลาด
นายยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารกลาง เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจี มีภารกิจหลักสองเรื่อง คือ นวัตกรรม และความยั่งยืน ดังนั้นการสร้างคนเราให้ความสำคัญกับสองประเด็นนี้เป็น
"Enhancing Public Sector Resiliency-บทบาทภาครัฐสามารถพลิกฟื้นไปแข่งขันกับตลาดโลกได้"
นการบรรยายพิเศษ "Supporting Environment" และ "Enhancing Public Sector Resiliency" วิทยากรและผู้อภิปรายได้แบ่งปันความคิดเห็นและประสบการณ์เกี่ยวกับพันธกิจสำคัญและบทบาทภาครัฐสามารถพลิกฟื้นไปแข่งขันกับตลาดโลกได้ โดยมี
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า บทบาทสำคัญของกระทรวงการคลัง คือ ต้องปรับตัวให้ไว และรวดเร็ว สามารถเข้าถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปของโลกทุกวันนี้ สรุปได้ว่าภาครัฐต้อง 1.มีความรวดเร็ว ยืดหยุ่น รวดเร็วในการทำงาน 2.เปลี่ยนระบบที่จะทำให้บุคลากรภาครัฐมั่นใจที่จะทำงาน และ 3.ระบบราชการต้องดีทำให้คนดีมั่นใจที่จะเข้ามาทำงาน
นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ กล่าวว่า ภาครัฐจะพลิกฟื้นได้ภาครัฐต้องปรับมุมมองความคิดตัวเองก่อนถ้าคิดจะไปแข่งขันในต่างประเทศต้องฟังเสียงจากข้างนอกมากที่สุด สรุปคือ ภาครัฐต้องเปิดกว้างรับข้อมูลฟังเสียงให้ได้มากที่สุด และให้ประชาชน ภาคเอกชน ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนและก้าวไปด้วยกัน
ดร.เพ็ชร ชินบุตร รองเลขาธิการสายงานการลงทุนและการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า ภาครัฐต้องเปิดกว้างให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนอย่างมั่นใจ ประเทศไทยยังมีเขตพื้นที่เศรษฐกิจที่น่าลงทุนอีกมากมายนอกเหนือจาก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และที่สำคัญ ลดขั้นตอนต่างๆให้น้อยลง การปรับเงื่อนไข ขอบเขตของงาน (Terms of Reference) ให้สอดคล้องกันทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ที่สำคัญกระบวนการการลงทุนต้องมีความรวดเร็วและชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นใจของนักลงทุน
จุดอ่อนกฎหมายไทยในการแข่งขันตลาดโลก
ในการบรรยายพิเศษ "Supporting Environment" และการสัมมนาในหัวข้อ "Effective Legal Environment" วิทยากรและผู้อภิปรายได้แบ่งปันความคิดเห็นและประสบการณ์เกี่ยวกับความท้าทายประเทศไทยกับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ อดีตประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด กล่าวว่า กระบวนการของกฎหมายในประเทศไทยเรามีขั้นตอนมุ่งกำกับควบคุมสูงมาก และเป็นกฎหมายที่ไม่เคยเปลี่ยนมา 80 ปีแล้ว ขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่นักลงทุนต่างชาติต้องการเข้ามาลงทุนจำนวนมาก ดังนั้นต้องมีองค์กรที่จะเสนอร่างกฎหมายเอากฎหมายต่างประเทศเข้ามาปรับใช้ เอาเทคโนโลยีทางไอทีเข้ามาสนับสนุนปรับใช้กับหน่วยงานภาครัฐ บุคลากร ซึ่งเทคโนโลยีกับกฎหมายจะต้องไปด้วยกัน
นายชยธวัช อติแพทย์ นายกสมาคมส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญาแห่งประเทศไทย (IPPAT) และอนุกรรมการกลุ่ม Technology Innovation Management Group – TMA กล่าวว่า กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ที่เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร ไม่สามารถบริหารจัดการให้กับคนไทยได้ โดยปัญหาที่พบคือคนไทยไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับการขอจดสิทธิบัตร รวมทั้งกระบวนการยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรที่มีหลายขั้นตอน ทำให้คนไทยยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรน้อยมาก ดังนั้นกฎหมายควรเปลี่ยนบริบทส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้รับทุนวิจัยสามารถขอสิทธิ์ความเป็นเจ้าของได้
นายอริยะ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท Transformational จำกัด และกรรมการอำนวยการ TMA กล่าวว่า ภาครัฐจำเป็นต้องพร้อมด้านเทคโนโลยี และความสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วด้วยประเด็นสำคัญข้าราชการต้องเข้าใจทั้ง 2 ด้าน ดังนี้
1.เรื่องของกฎหมายและเทคโนโลยี เพื่อที่จะแก้ปัญหาได้ตรงจุด และต้องมีความรู้ทางด้าน สินทรัพย์ดิจิทัล ถ้าไม่เข้าใจระบบปัญหามันก็ไม่เดินเหมือนย่ำอยู่กับที่
2.เราควรจะสนับสนุนให้มีการเปิดให้บริษัทต่างชาติทางด้านเทคโนโลยีเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพื่อที่คนไทยจะได้รับความรู้ ประสบการณ์ ทางด้านซอฟต์แวร์มากขึ้น ขณะนี้เรามีคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่พร้อมเข้ามาปรับเปลี่ยน
กล่าวสรุปคือ ปัญหาของกฎหมายไทยคือขาดกระบวนการทำงาน และขาดบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับกฎหมายด้านเทคโนโลยี